เปิดเนื้อหา ร่างพ.ร.บ.ป้องกันทรมานและอุ้มหาย คุ้มครองบุคคลจากการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีโทษหนักสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต-ปรับ 1 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ….. มีดังนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการทรมาน และการกระทำให้สูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายและจิตใจ หรือลงโทษประการใดที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และหากเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำดังกล่าว หรือปกปิด ส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้บุคคลสูญหาย
ทั้งนี้ หากทำให้บุคคลสูญหายนอกราชอาณาจักร ต้องได้รับโทษในราชอาณาจักร โดยมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และการกระทำดังกล่าวให้ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง ว่าด้วยเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ว่าด้วยความร่วมมือระดับประเทศในเรื่องทางอาญา และไม่สามารถนำภาวะสงครามหรือภัยคุกคามที่เกิดจากสงคราม ความไม่มั่นคงในการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด ไม่อาจนำมาอ้างการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยผู้กระทำความผิดฐานกระทำทรมาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 3 แสนบาท หากกระทำความผิดเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 3 แสนบาท และถ้ากระทำความผิดเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 25-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท ส่วนผู้ที่กระทำความผิดฐานกระทำการโหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากเป็นการกระทำกับบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายและจิตใจ หรือผู้ซึ่งพึ่งพาตนเองมิได้ ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง ส่วนผู้ที่สมคบกระทำความผิดต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นกึ่งหนึ่ง ส่วนผู้ใดที่สนับสนุนให้การทำความผิดต้องระวังโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
นอกจากนั้น ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำการสูญหาย โดยมี รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน และปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายกสภาทนายความ และประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนงานป้องกันและปราบปรามการทรมาน การกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งกำหนดมาตรการปกป้องการกระทำผิดซ้ำ และการปกปิดการควบคุมตัวบุคคล รวมทั้งคุ้มครองผู้แจ้งข้อมูลการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ฉบับนี้