ชวนดู เปิดสถิติการครอบครองปืน และอาชญากรรมจากปืนในไทย ติดอันดับสูงของโลก ตั้งคำถามการจัดการและควบคุมผู้ใช้ปืน ทำดีแล้วหรือ?
เมื่อวาน (6 ต.ค.) เกิดเหตุการณ์ที่น่าสลดมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย สำหรับการกราดยิง ภายในศูนย์เด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 36 ราย โดยเป็นเด็กจำนวนมาก ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่นับจากเหตุการณ์กราดยิงโคราช เมื่อปี 2563 ที่มีผู้เสียชีวิต 31 รายและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก
ทำให้เกิดการตั้งคำถามตามมาอีกครั้งว่าประเทศไทยมีการควบคุมและดูแลผู้ที่ครอบครองอาวุธปืนรัดกุมขนาดไหน โดยวันนี้ข่าวสดจะพามาย้อนดูสถิติการครอบครองปืน การใช้อาวุธปืนก่อคดี และจำนวนผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนในประเทศไทย
องค์กรวิจัยในสวิตเซอร์แลนด์ Small Arms Survey ปี 2560 ระบุว่า ประชาชนไทยครอบครองปืนอยู่ 10,342,000 กระบอก เฉลี่ย 15.1 กระบอก ต่อ 100 คน นั่นทำให้ไทยครองครองอาวุธปืนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และอยู่ที่อันดับ 13 ของโลก ในรายละเอียดยังพบอีกว่า เป็นปืนที่มีทะเบียน 7 ล้านกระบอก และไม่มีทะเบียน 6 ล้านกระบอก สัดส่วนการครอบครองปืน คือ 100 ต่อ 15 หมายความว่า ประชาชน 100 คน มีปืน 15 คน ถือเป็นตัวเลขที่เยอะพอสมควร
ขณะที่การใช้อาวุธปืนก่อเหตุในไทย ข้อมูลจากกองสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2562 ระบุว่า รวมทั้งหมด 31,419 ครั้ง แบ่งเป็นปืนสั้นมีทะเบียน 6,410 ครั้ง ไม่มีทะเบียน 24,348 ครั้ง และเป็นปืนยาว 661 ครั้ง
เว็บไซต์ World Population Review เผยแพร่ข้อมูลผลสำรวจประเทศที่มีกรณีการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ประจำปี 2022 พบว่าไทย ติดอันดับที่ 15 โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืนจำนวน 2,804 คน และมีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน เฉลี่ย 3.91 คน ต่อประชากร 1 แสนคน
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง gunpolicy.org เคยกล่าวว่า ไทยมีอัตราการเป็นเจ้าของปืนและการฆาตกรรมด้วยปืนสูงที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้ยังเป็นตลาดใต้ดินที่สำคัญสำหรับอาวุธปืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่มา: Small Arms Survey,World Population Review,gunpolicy.org