เปิดรายชื่อ “งู 14 ชนิด” ติด พ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามล่า ห้ามฆ่า ห้ามกิน ห้ามเลี้ยง เหตุผลที่จับได้แล้วต้องปล่อยสู่ธรรมชาติ
กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 โดยสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทงู มีจำนวน 14 ชนิด ได้แก่
- งูจงอาง (Ophiophagus hannah) มีพิษร้ายแรง
- งูสิงธรรมดา หรือ งูสิงตาโต (Ptyas korros) ไม่มีพิษ
- งูสิงหางลาย (Ptyas mucosa) ไม่มีพิษ
- งูสิงหางดำ (Ptyas carinata) ไม่มีพิษ
- งูเหลือม (Malayopython reticulatus) ไม่มีพิษ
- งูหลาม (Python bivittatus) ไม่มีพิษ
- งูหลามปากเป็ด (Python brongersmai) ไม่มีพิษ
- งูแสงอาทิตย์ (Xenopeltis unicolor) ไม่มีพิษ
- งูทางมะพร้าว (Coelognathus radiatus) ไม่มีพิษ
- งูทางมะพร้าวแดง (Oreocryptophis porphyraceus) ไม่มีพิษ
- งูทางมะพร้าวดำ (Coelognathus flavolineatus) ไม่มีพิษ
- งูทางมะพร้าวเขียว (Gonyosoma coeruleum) ไม่มีพิษ
- งูเขียวกาบหมาก (Gonyosoma oxycephalum) ไม่มีพิษ
- งูกาบหมากหางนิล (Elaphe taeniura) ไม่มีพิษ
โดยงูทั้ง 14 ชนิดนี้ ห้ามล่า ห้ามทำอันตราย ห้ามเลี้ยงดูหรือครอบครอง หรือ กระทำการค้าซึ่งสัตว์ป่าฯ และซากของสัตว์ป่าฯ ดังกล่าว หากฝ่าฝืนจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
งูเหลือม กับ งูหลาม ต่างกันยังไง? เพิ่งรู้มีวิธีสังเกตง่ายมาก ดูแค่ส่วนหัวก็รู้เลย
ไขข้อสงสัย งูเห่า-งูจงอาง ต่างกันยังไง ชนิดไหนพิษรุนแรงกว่า ถ้าต่อสู้กันใครชนะ?
ทำไมต้องคุ้มครองสัตว์ป่า?
ในอดีตประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ผืนป่าอันกว้างใหญ่ไพศาลยังไม่ถูกรกราน จึงชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ต่อมาเมื่อมีการค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ สัตว์ป่าจึงเป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับความนิยม ดังหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีการส่งนอแรด งาช้าง และของป่าไปขายยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ชีวิตสัตว์ป่าเริ่มถูกรุกรานทำให้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนถึงกับต้องออกกฎหมายมาควบคุม โดยกฎหมายฉบับแรกเกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อบังคับใช้ในการล่าช้างป่า
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ราษฎรยังมีการคล้องช้างป่า เพื่อนำช้างมาใช้งานเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาที่ตามมา จึงได้ทรงตราพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า รศ. 119 (พ.ศ. 2443) ขึ้น เพื่อให้ช้างป่าไม่ถูกทอดทิ้งให้อดอยากหรือได้รับการทรมาน
จนถึงยุคมืดของสัตว์ป่า เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยที่ใช้ในสงคราม ได้ถูกแปรเปลี่ยนมาเป็นอาวุธของผู้ชื่นชอบการล่าสัตว์ป่า ขณะที่การพัฒนาประเทศและการเพิ่มจำนวนประชากร ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้จำนวนของสัตว์ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว จนถึงขั้นที่สัตว์ป่าบางชนิด เช่น สมัน ต้องสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างน่าเสียดาย
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ พระยศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในขณะนั้น และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ลงนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ขึ้น เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2503 เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการปกป้องทรัพยากรสัตว์ป่าของประเทศฉบับแรกของไทย ซึ่งภายหลังได้มีการปรับปรุงเป็นพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 และอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ทันต่อสมัยและเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงถือเอาวันที่ตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ซึ่งตรงกับวันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ” เพื่อตระหนักถึงคุณค่าและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าให้คงอยู่ในป่า อันจะช่วยให้ทรัพยากรธรรมชาติของชาติกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นในอดีตสืบไป
สำหรับความสำคัญของ “งู” แม้เป็นสัตว์ที่ดูน่ากลัว บางตัวมีพิษรุนแรง แต่การพบเจองูในธรรมชาตินั้นมีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากงูจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และงูบางชนิดเป็นงูที่กินงูด้วยกันเอง ทำให้ช่วยควบคุมจำนวนประชากรงู ทั้งงูมีพิษและไม่มีพิษได้อีกด้วย
หากพบเจองูเข้าบ้าน โทร. แจ้งหมายเลข 199 ซึ่งเป็นเบอร์ติดต่อสำหรับแจ้งอัคคีภัยและสัตว์เข้าบ้าน หรือแจ้งกู้ภัยในพื้นที่ อย่าจับงูเองหากไม่ชำนาญ
เรื่องที่ทุกคนควรรู้เกี่ยวกับ “สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง”