เปิดภาพล่าสุด ป้ามะลิ ทายาทท้าวทองกีบม้า ยังมีชีวิตอยู่ สืบทอดตำรับขนมไทยจนถึงปัจจุบัน
ถ้าพูดถึงตำรับขนมไทยตระกูลทอง หลายคนคงต้องนึกถึงชื่อของ ท้าวทองกีบม้า ซึ่งล่าสุดกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งหลังละคร พรหมลิขิต ภาคต่อของ บุพเพสันนิวาส ออกอากาศ
ท้าวทองกีบม้า มีชื่อจริงว่า มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา (Maria Guyomar de Pinha) แต่มักเป็นที่รู้จักในชื่อ มารี กีมาร์ (Marie Guimar) เธอเป็นสุภาพสตรีช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภรรยาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่ทำราชการในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติขึ้นในปี พ.ศ. 2231 เป็นปีที่สิ้นสุดรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเริ่มต้นรัชกาลพระเพทราชา ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของ มารี กีมาร์ ดับวูบลงเมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์ผู้เป็นสามี ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตร หลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน มารี กีมาร์ สิ้นเนื้อประดาตัว และถูกคุมขังในคุกหลวง ภายหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ชีวิตของ มารี กีมาร์ ได้กลับมาดีขึ้นโดยลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าให้มาดามฟอลคอนเข้ามารับราชการฝ่ายใน
มารี กีมาร์ มีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก ตำแหน่ง “ท้าวทองกีบม้า” ว่ากันว่านางได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส อาทิ ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, ทองม้วน และหม้อแกง จนได้สมญาว่าเป็น “ราชินีแห่งขนมไทย”
ซึ่งในปัจจุบัน หนึ่งในบรรดาต้นตำรับขนมท้าวทองกีบม้า คือ ขนมไทยของ นางมะลิ ภาคาภร อายุ 80 ปี ที่ ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา ห่างจากหมู่บ้านญี่ปุ่นและโปรตุเกส ประมาณ 1 กิโลเมตร
โดยคุณป้ามะลิ ถือเป็นหนึ่งในผู้สืบทอดชุมชนเครือญาติท้าวทองกีบม้า ปัจจุบันได้ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขนมไทย ต้นตำรับท้าวทองกีบม้า มีสมาชิกที่เป็นเครือญาติช่วยกันทำขนมทั้งหมด 12 คน ซึ่งการผลิตขนมยังยึดแบบเดิม ทองหยอดต้องหยอดด้วยมือ ที่จะสามารถกำหนดขนาดของทองหยอดได้อย่างสม่ำเสมอ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ส่วนฝอยทอง เดิมใช้ใบตองเป็นกรวยโรยก็เปลี่ยนเป็นโลหะ แต่ขั้นตอนการผลิตทุกกระบวนการยังยึดแบบโบราณ รสชาติไม่หวานมากจนเกินไป ขนมทำจากไข่เป็ดสด ไม่มีกลิ่นคาว เก็บไว้รับประทานได้นาน
นางมะลิ ภาคาพร ได้รับมอบปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2563-2564 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา นับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงการขนมไทยและเป็นปูชนียบุคคลทรงคุณค่าของชาวพระนครศรีอยุธยา