ใกล้ถึงวันที่จะได้รู้กันแล้วว่า “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)” คนที่ 14 ของไทยจะเป็นใคร หลังจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. คนที่ 13 กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้ และรายชื่อนายตำรวจ 4 นายที่ติดโผชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. ก็ถูกเปิดเผยออกมาแล้ว แต่ก่อนที่สำนักงานตำรวจจะได้ “ผู้นำ” คนใหม่ Sanook เปิดทำเบียบ 13 บิ๊กตำรวจมากฝีมือ ผู้นั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
- เผย 4 ชื่อ แคนดิเดตตัวเต็ง ลุ้นตำแหน่ง ผบ.ตร.คนที่ 14 แต่งตั้ง 27 ก.ย.นี้
- ประวัติ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ อาวุโสเบอร์ 1 ตัวเต็งเก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 14
- ประวัติ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล นายตำรวจที่เคยถูกแขวน แต่หวนคืนวงการได้สมศักดิ์ศรี
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก (16 ตุลาคม 2541 – 30 กันยายน 2543)
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก คืออดีตตำรวจราชองครักษ์พิเศษ เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายความมั่งคง) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในอีกหลายกระทรวง นอกจากนี้ ยังเป็นอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินอีกด้วย
พล.ต.อ.ประชา เป็นชาวโคราช เป็นนายตำรวจมือปราบ ที่ได้ฉายาว่า “อินทรีอีสาน” ทั้งเป็น “อธิบดีกรมตำรวจ” คนสุดท้าย และได้รับตำแหน่ง ผบ.ตร. “คนแรก” ของประเทศไทย เนื่องจากมีตำแหน่งสูงสุดในช่วงการปรับเปลี่ยนสถานะของกรมตำรวจ ให้เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ (1 ตุลาคม 2543 – 30 กันยายน 2544)
พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ เข้ารับตำแหน่ง ผบ.ตร. ต่อจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 2 และนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 18 เหมือนกัน และดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ได้ 1 ปี ก็เกษียณอายุราชการ
พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ (1 ตุลาคม 2544 – 30 กันยายน 2547)
พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ตำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ตั้งแต่ปี 2544 – 2547 แต่หลังจากนั้นเกิดการเลือกตั้ง และการเมืองเปลี่ยนขั้วอำนาจ พล.ต.อ.สันต์ จึงถูกทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ย้ายไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตนรจนเกษียณอายุราชการ
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวคมชัดลึกระบุว่า พล.ต.อ.สันต์ ถูกเด้งกลางอากาศขณะเดินทางกลับจากประเทศออสเตรเลีย จากข้อกล่าวหาไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ และคดีสำคัญการอุ้มตัวทนายสมชาย นีละไพจิตร จึงโดนอดีตนายกฯ ลงดาบทันที
พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ (1 ตุลาคม 2547 – 22 เมษายน 2550)
พล.ต.อ.โกวิท นั่งเก้าอี้รักษาการจนกระทั่ง พล.ต.อ.สันต์ เกษียณอายุราชการในปี 2547 และได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ตร. คนที่ 4 ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547 พล.ต.อ.โกวิท เคยรับราชการเป็นตำรวจตระเวณชายแดน เป็นเวลานานกว่า 27 ปี และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจตระเวณชายแดน
หลังเกิดรัฐประการประเทศไทย ปี 2549 พล.ต.อ.โกวิท ได้รับคำสั่งไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี หลังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ ต่อมาศาลปกครองพิจารณว่าให้ พล.ต.อ.โกวิท อยู่ในตำแหน่ง ผบ.ตร. จนเกษียณอายุราชการ วันที่ 30 กันยายน 2550 ปี 2551 พล.ต.อ.โกวิท ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 5 ปี ทำให้ พล.ต.อ.โกวิท ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ต่อมาในปี 2554 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (1 ตุลาคม 2550 – 8 เมษายน 2551)
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้รับฉายา “วีรบุรุษนาแก” และ “มือปราบตงฉิน” เพราะมีภาพลักษณ์เป็นนายตำรวจมือปราบที่ซื่อตรง ผู้มีอำนาจในหลายรัฐบาลมักเลือกให้เขาเข้ามาสืบสวนสอบสวนคดีสำคัญ มีผลงานจับกุมนักการเมือง รัฐมนตรี และเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลหลายคน จนได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ และได้รับแต่งตั้งให้รักษาการตำแหน่ง ผบ.ตร. แทน พล.ต.อ.โกวิท
ต่อมารัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนมีคำสั่งให้เขาออกจากราชการไว้ก่อน หลังจากนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ได้แถลงข่าวว่าถูกปล้นตำแหน่ง และไม่ได้รับความเป็นธรรม
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (8 เมษายน 2551 – 30 กันยายน 2552)
พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นน้องชายของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามารักษาการ ผบ.ตร. แทน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ตร. คนที่ 6 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนจะได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติงานสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กระทั่งมีคำสั่งให้กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม ถือเป็น ผบ.ตร. คนแรกที่ถูกสั่งย้ายแล้วได้กลับคืนตำแหน่งเดิม
ปี 2552 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาคดีสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และมีมติชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีความผิดวินัยร้ายแรง จึงสั่งให้พล.ต.อ.พัชรวาท หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยทันที ต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาทได้ลาออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร. และถือเป็น ผบ.ตร. คนแรกที่ทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน
พล.ต.อ.วิเชียร พนจ์โพธิ์ศรี (2 กันยายน 2553 – 14 ตุลาคม 2554)
พล.ต.อ.วิเชียร ได้รับคำสั่งจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการ ผบ.ตร. แทน พล.ต.อ.พัชรวาท 2 ครั้ง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองที่รุมเร้า หลังจากนั้นก็มีมติเห็นชอบให้เสนอชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. คนใหม่ ด้วยมติเอกฉันท์ หลังจากตำแหน่งดังกล่าวเว้นว่างมานานเกือบ 1 ปี ก่อนจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.อ.วิเชียร ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. คนที่ 7 อย่างเป็นทางการ มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2553
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ (26 ตุลาคม 2554 – 30 กันยายน 2555)
หลังอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิเชียร ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ทำให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ออกมาเคลื่อนไหว ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากตนเป็นรอง ผบ.ตร. ที่อาวุโสสูงสุด จึงควรได้ตำแหน่ง ผบ.ตร. มากกว่า กระทั่งในปี 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ นั่งเก้าอี้รักษาการ ผบ.ตร. ขณะที่ย้าย พล.ต.อ.วิเชียร ไปเป็นเลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ ก่อนที่พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จะได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. ในวันที่ 26 ตุลาคม 2554
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ มีผลงานโดดเด่นด้านการปราบปรามยาเสพติด ตามนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และเติบโตก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างมาก โดยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ครองยศ พล.ต.อ. ตั้งแต่ปี 2547
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว (1 ตุลาคม 2555 – 24 พฤษภาคม 2557)
พล.ต.อ.อดุลย์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ต่อจาก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ที่เกษียณอายุราชการไป โดยมีชื่อเสียงมาจากการเป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติงานสำนักงานตำรวจส่วนหน้า เนื่องจากดูแลความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
พล.ต.อ.อดุลย์ เป็นหนึ่งในผู้ทำการรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปี 2557 ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่หลังจากนั้น 2 วัน พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. ในขณะนั้น มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.อดุลย์ พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ตร. และเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.ต.อ.อดุลย์ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถือเป็นข้าราชการตำรวจคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ในปี 2560
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง (1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2558)
พล.ต.อ.สมยศ รับไม้ต่อนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 10 ของไทย เคยปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อมาได้ยื่นขอลาออกจากการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ต่อมาในวันที่ 11 กันยายน 2557 พล.ต.อ.สมยศ ได้นำแถลงข่าวจับกุมกลุ่ม “ชายชุดดำ” ที่ก่อเหตุใช้อาวุธสงครามระหว่างการชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 และมีส่วนเกี่ยวข้องการเสียชีวิตของพลเอกร่มเหล้า ธุวธรรม
พล.ต.อ.สมยศ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก คสช. ในปี 2557 และได้รับแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. ในปีเดียวกัน ถือเป็น ผบ.ตร. คนแรกที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก นอกจากนี้ พล.ต.อ.สมยศ ยังได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คนที่ 17 ของไทยอีกด้วย
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา (1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2563)
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ถือเป็นนายตำรวจมือปราบที่มีผลงานสำคัญมากมาย เช่น เจรจาให้ปล่อยตัวประกันในเรือนจำสมุทรสาคร ถอดเสื้อของตนเองเพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา ปี 2561 จนได้ฉายา “สุภาพบุรุษแก๊สน้ำตา” ด้วยผลงานที่ดีเยี่ยม ทำให้หลายคนคาดว่าอาจจะได้รับตำแหน่ง ผบ.ตร. เพราะมีอายุราชการนานถึง 10 ปี
หลังจากรัฐปรหารปี 2557 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ต่อมาพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มีมติเอกฉันท์เลือก พล.ต.อ.จักทิพย์ เป็น ผบ.ตร. คนที่ 11 ต่อจาก พล.ต.อ.สมยศ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ คือนายตำรวจราชองครักษ์พิเศษ
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข (1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2565)
พล.ต.อ.สุวัฒน์ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 20 รุ่นเดียวกับพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ ผู้บัญชาการทหารบก และนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผบ.ตร. คนที่ 11 เริ่มรับราชการในตำแหน่งรองสารวัตร สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก
พล.ต.อ.สุวัฒน์ ทำงานด้านการสืบสวนมานาน และมีผลงานคดีสำคัญมากมาย เช่น ระเบิดวินาศกรรมในกรุงเทพฯ หรือเหตุกราดยิงที่โคราช ซึ่ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ ได้ทำหน้าที่บัญชาการเหตุการณ์ร่วมกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ รวมถึงคดีน้องชมพู่ ที่ลงไปบัญชาการด้วยตนเองเช่นกัน ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ยังได้รับฉายา “หมอปั๊ด ตัดเนื้อร้าย” หลังจากวงการตำรวจมีแต่เรื่องอื้อฉาว ทั้งกรณีผู้กำกับโจ้ และคดีบอสกระทิงแดง ที่พล.ต.อ.สุวัฒน์ให้สัมภาษณ์ว่า นิ้วไหนไม่ดีก็ต้องตัดทิ้งไป
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ (1 ตุลาคม 2565 – ปัจจุบัน)
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ มีบุคลิกสุขุม นุ่มลึก และมีความสามารถโดดเด่นจนเป็นที่ไว้วางใจให้ทำงานสำคัญ เช่น การปราบปรามแก๊งซิ่งป่วนเมือง เป็นหัวหน้าศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมต่างๆ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน จนกระทั่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. คนที่ 13 ต่อจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ ที่เกษียณอายุราชการไป