เขาคิชฌกูฏ หนึ่งในภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยจากทั่วภูมิภาคให้ความเคารพนับถือและเดินทางมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้านบนกันอย่างมากมายในทุกๆ ปี ซึ่งในหนึ่งปีนั้นเขาคิชฌกูฏจะเปิดให้ขึ้นเที่ยวชมแค่เพียงช่วงเดียวเท่านั้น ในปีนี้เปิดตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม – 22 มีนาคม 2566
- เขาคิชฌกูฏ กำหนดการเปิดเขาคิชฌกูฏปี 2566
ด้านบนเขาคิชฌกูฏ นั้นจะเป็นที่ประดิษฐานของ รอยพระพุทธบาทพลวง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นดั่งศูนย์กลางของความศรัทธาของประชาชน ซึ่งหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้มาก่อนว่า เขาคิชฌกูฏ และ รอยพระพุทธบาทพลวงนั้น มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ใครเป็นผู้ค้นพบ และเกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้ Sanook Travel จะพาทุกคนไปหาคำตอบกันครับ
บนความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,050 เมตร ด้านบนยอดเขาคิชฌกูฏ ได้ปรากฏร่องรอยบนแผ่นหินใหญ่ที่มีความลึกประมาณ 2 เมตร กว้าง 1 เมตร และยาว 2 เมตร ซึ่งถูกค้นพบโดยกลุ่มคนหาของป่าของนายติ่ง คาดว่าถูกค้นพบขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2397 ตามคำบอกเล่าของพระครูธรรมสรคุณ เจ้าอาวาสวัดกระทิง โดยท่านได้เล่าว่ากลุ่มของนายติ่งได้ทำการออกสำรวจพื้นป่าเพื่อหาไม้มาขาย และระหว่างทางได้แวะพักเหนื่อยที่ลานหินกว้างด้านบนเขา หนึ่งในกลุ่มของนายติ่งระหว่างที่กำลังพักผ่อนก็ได้ถอนหญ้าเพื่อถางที่จะทำที่นอน ได้ก็บังเอิญได้พบกับแหวนขนาดใหญ่ และเมื่อค้นดูอีกก็ได้พบกับแผ่นหินขนาดใหญ่ที่มีรอยรูปก้นหอยอยู่บนพื้นด้วย
ซึ่งหลังจากนั้นนายติ่งได้มีโอกาสไปพบกับรอยพระพุทธบาทจำลองเข้าที่วัดพลับ ในเมืองจันทบุรี ระหว่างที่จะพาลูกชายไปบวช ซึ่งพอนายติ่งเห็นดังนั้นก็พูดขึ้นมาว่ารอยพระพุทธบาทเช่นนี้ที่บ้านผมก็มี ซึ่งพอพูดจบพระลูกวัดเกิดได้ยินเข้าจึงไปแจ้งให้ทางหลวงพ่อเพชร เจ้าอาวาสวัดพลับทราบ ซึ่งคณะนั้นหลวงพ่อเพชรดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี จึงเรียกนายติ่งมาเพื่อสอบถาม และให้นำทางไปดูรอยพระพุทธบาทที่ถูกค้นพบบนภูเขา ซึ่งจากการตรวจสอบตามหลักพระพุทธศาสนาก็พบว่าตรงตามคุณลักษณะของรอยพระพุทธบาททุกประการ จึงลงมติเห็นพ้องต้องกันว่ารอยขนาดใหญ่บนพื้นหินนี้คือรอยพระพุทธบาทนับแต่นั้นสืบต่อมา
หลังจากนั้น รอยพระพุทธบาทพลวง บนเขาคิชฌกูฏ ก็ได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดจันทบุรีมาโดยตลอด โดยมีการบูรณะและพัฒนาเส้นทางการขึ้นเขาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาแสวงบุญในทุกๆ ปี จนมีความเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง