รู้จัก “หลวงปู่ทวด วัดช้างให้” ตำนานเหยียบน้ำทะเลจืด สุดยอดพระเครื่องตลอดกาล เลื่องลือพุทธคุณแคล้วคลาด
เรื่องราวของ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เป็นที่รู้จักของชาวไทยทั้งชาวพุทธ ชาวมุสลิม ไม่น้อย โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณภาคใต้ของไทยตั้งแต่พัทลุง สงขลา ปัตตานี เลยไปถึงไทรบุรีในประเทศมาเลเซีย หลวงปู่ทวดถือว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ในตำนานที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมากรูปสำคัญหนึ่งในสองรูปของเมืองไทยคู่กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือ หลวงปู่โต ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์
เรื่องของหลวงพ่อทวดสามารถแยกได้เป็นสองเรื่องราว คือ เรื่องราวตามประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏนามว่า “สมเด็จเจ้าพะโคะ” จากเอกสารท้องถิ่น และเรื่องราวตามตำนานซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด”
สมเด็จเจ้าพะโคะ
เรื่องสมเด็จเจ้าพะโคะนั้น ปรากฏอยู่ในคำบอกเล่าสืบต่อกันมาของท้องถิ่นต่างๆ แล้วบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร รวบรวมไว้ใน “พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา” ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชูทิศพระราชทานที่ดินไร่นาอันเป็นของหลวงให้แก่พระสงฆ์แห่งพุทธศาสนา ใช้บำรุงรักษาวัดวาอาราม รวมทั้งผู้คนชายหญิงซึ่งเรียกว่าถวายข้าพระโยมสงฆ์ให้แก่วัด(ตำราประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยอยุธยาภาค1 จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2510)
เขาพะโคะเดิมชื่อ “เขาภีพัชสิง” หรือ “พิเพชรสิง”คำว่า “เขาพะโคะ” สันนิษฐานว่าเป็นเสียงเพี้ยนมาจากพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่เรียกว่า “พระโคตมะ” บริเวณโดยรอบเป็นแหล่งชุมชนโบราณมาตั้งแต่อดีต เป็นบริเวณที่มีความเจริญรุ่งเรืองจากการทำการค้า ทำให้บ้านเมืองแถบนี้ถูกโจมตีจากโจรสลัดมลายูบ่อยครั้ง วัดพะโคะกลายเป็นเมืองถูกปล้นและเผาบ้านเมืองครั้งใหญ่ โดยบันทึกไว้ว่า ราวปลายสมัยสมเด็จพระนเรศวรบ้านเมืองระส่ำระสายไม่สามารถฟื้นตัวได้ โดยเจ้าอาวาสวัดพะโคะซึ่งเคยอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาและน่าจะเป็นพระสงฆ์ผู้มีบารมีพอสมควรในฐานะพระผู้ใหญ่ จึงขอพระราชทานการบูรณะวัดครั้งสำคัญในสมัยของพระเอกาทศรถ เมื่อ พ.ศ. 2153
พระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยาโดยพระราชทานพระบรมราชูทิศกัลปนาวัดต่างๆ ตั้งแต่บริเวณปากทะเลสาบสงขลาที่หัวเขาแดงจนถึงเขาพังไกร ทั้งหมดราว 63 วัด ขึ้นกับวัด หลังจากนั้นอีกราวสิบกว่าปีต่อมา โจรสลัดจากปลายแหลมมลายูก็เข้าปล้นบ้านเมืองอีกครั้ง ต่อจากนั้นก็ไม่ปรากฏเรื่องสมเด็จเจ้าพะโคะในเอกสารอื่นใดอีกเลย
หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด
ในอีกแง่มุมหนึ่งตามตำนานของหลวงพ่อทวดที่สืบทอดกันมาในท้องถิ่นแถบสทิงพระ ชีวประวัติที่เต็มไปด้วยอภินิหาร เล่ากันว่า “หลวงพ่อทวด” เกิดในราว พ.ศ. ๒๑๒๕ ณ บ้านสวนจันทร์ เมืองสทิงพระ มีชื่อว่า “ปู่” หรือ “ปู” บิดาคือ ตาหู มารดาคือ นางจันทร์ ปลูกบ้านอาศัยที่ดินเศรษฐีผู้หนึ่งไว้ชื่อ ปาน ตาหูและนางจันทร์เป็นคนในอุปภัมถ์ของเศรษฐีปาน ระหว่างที่พ่อแม่กำลังเกี่ยวข้าวอยู่ได้ผูกเปลให้ลูกนอน นางจันทร์ก็เห็น “งูใหญ่” มาพันที่เปลลูกแล้วชูคอแผ่แม่เบี้ย นายหูและนางจันทร์พนมมือบอกเจ้าที่เจ้าทาง ขออย่าให้ลูกน้อยได้รับอันตราย ด้วยอำนาจบารมีของเด็กน้อย งูใหญ่จึงคลายลำตัวออกจากเปลเลื้อยหายไป ปรากฏว่าเด็กชายปู่ยังคงนอนหลับสบายเป็นปกติ และมีลูกแก้วกลมส่องเป็นประกายอยู่ข้างตัว ตาหูนางจันทร์มีความเชื่อว่า เทวดาแปลงกายเป็นงูใหญ่นำดวงแก้ววิเศษมามอบให้กับลูกของตน นับแต่นั้นมาฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวก็ดีขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเด็กชายปู่เติบโตได้ไปศึกษาวิชาความรู้กับสมภารจวง และไปอุปสมบทที่สำนักพระครูกาเดิม วันหนึ่งในขณะที่เดินทางไปกรุงศรีอยุธยาโดยเรือสำเภา ท้องทะเลฟ้าวิปริตเกิดพายุ ทอดสมออยู่หลายวันจนน้ำจืดหมด เจ้าของเรือจึงไล่พระภิกษุปู่ลงเรือเล็กส่งฝั่ง ระหว่างที่ภิกษุปู่นั่งในเรือเล็กได้หย่อนเท้าลงในน้ำทะเลและบอกให้ตักชิมดู ปรากฏเป็นน้ำจืดอย่างน่าอัศจรรย์
ภิกษุปู่ได้เดินทางออกธุดงค์ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จนมาถึงวัดพะโคะที่มีความทรุดโทรมมาก จึงได้เดินทางไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอพระราชทานพระกัลปนา นายช่างหลวงจึงบรรทุกศิลาแลงลงเรือสำเภามาบูรณะซ่อมแซมวัดพะโคะ และได้รับพระราชทานที่ดินนาถวายเป็นกัลปนาขึ้นแก่วัดพัทสิงห์บรรพตพะโคะ ในตำนานกล่าวว่าท่านหายไปจากวัดพะโคะ
ส่วนอีกตำนานหนึ่งซึ่งชาวพุทธในจังหวัดปัตตานีเชื่อว่าหลวงปู่ทวดคือพระรูปเดียวกับตำนานพระสงฆ์ที่เดินทางจาริกแสวงบุญเผยแผ่ศาสนาแถบอำเภอหนองจิกไปจนถึงไทรบุรี คนทั่วไปเรียกว่า ท่านลังกา จนเมื่อมรณภาพที่เมืองไทรบุรี เส้นทางที่นำศพท่านกลับมาที่วัดช้างให้ ชาวบ้านยังจดจำระลึกถึงสถานที่ต่างๆ ที่ท่านลังกาเดินทางผ่าน และต่อมาในราว พ.ศ.2497 ทางวัดช้างให้จัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดเป็นวัตถุมงคลจนมีชื่อเสียง โดยเขียนตำนานท่านลังกาองค์ดำ คือ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดองค์เดียวกับสมเด็จเจ้าพะโคะที่วัดพะโคะ จึงกลายเป็นที่รู้จักว่าในนาม “หลวงปู่ทวด วัดช้างให้” และผู้คนก็ลืมเลือนหรือไม่รู้จักสมเด็จเจ้าพะโคะในตำนานท้องถิ่นของชาวสทิงพระคาบสมุทรสงขลาไป
การผนวกกันระหว่างบันทึกทางประวัติศาสตร์กับตำนาน ทำให้เรื่องของหลวงพ่อทวดยังเป็นที่เล่าต่อมาจนปัจจุบัน สถานที่ที่ปรากฏในตำนานและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อทวดถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี เช่น ต้นเลียบขนาดใหญ่ที่เชื่อกันว่าฝังรกของหลวงปู่ทวดไว้ ที่ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ถือเป็นตัวแทนของหลวงปู่ทวด มีการสร้างศาลาตาหู-ยายจันทร์ โยมบิดามารดาของหลวงปู่ทวดไว้ในบริเวณใกล้เคียงกัน สถูปสมภารจวง พระอาจารย์องค์แรกของหลวงปู่ทวดที่วัดดีหลวง เป็นต้นสถานที่เหล่านี้ทำให้ตำนานของหลวงพ่อทวดยังคงโลดแล่นในความทรงจำ
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2225 ท่านได้มรณภาพลงเมื่ออายุกาลครบ 100 ปี ที่ “เมืองไทรบุรี” ซึ่งเดิมเคยเป็นหัวเมืองทางใต้ของไทย แต่ตกเป็นของอังกฤษตามสนธิสัญญาที่ทำกันเมื่อปี พ.ศ. 2451 พร้อม ๆ กับอีก 3 หัวเมือง รวมเป็น 4 หัวเมือง คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ต่อมาคือหัวเมืองและรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย
หลวงปู่ทิม วัดช้างให้ ผู้บุกเบิกพระหลวงปู่ทวด
การสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อทวดเริ่มในสมัย พระครูวิสัยโสภณ หรือ หลวงพ่อทิม ธัมมธโร วัดช้างให้ หรือ วัดราษฎร์บูรณะ จ.ปัตตานี
เมื่อครั้งที่พระอาจารย์ทิมไปอยู่ที่วัดช้างให้ใหม่ ๆ นั้น วัดช้างให้อยู่ในสภาพที่ถูกทิ้งร้าง ทรุดโทรม ท่านจึงได้ริเริ่มตกแต่งสถูปที่บรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด ให้เป็นที่น่าเคารพบูชา พระอาจารย์ทิม ท่านได้มีดำริที่จะสร้างอุโบสถ จึงได้จัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด โดยมีนายอนันต์ คณานุรักษ์ ร่วมจัดสร้างด้วยเพื่อหาทุนสร้างอุโบสถ
พระหลวงพ่อทวด รุ่นแรก ได้จัดสร้างแล้วเสร็จในปี 2497 จัดสร้างด้วยเนื้อว่าน ได้ทำพิธีปลุกเสกโดย พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เป็นประธานการอธิษฐานจิตปลุกเสก และมีพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสกหลายรูป ได้เงินทำบุญจากผู้มีจิตศรัทธาที่เช่าพระเครื่องหลวงพ่อทวด จำนวนหนึ่งได้นำมาสร้างอุโบสถ และและอีกส่วนหนึ่งได้ใช้ปรับปรุงบริเวณวัดช้างให้ที่รกร้างให้ดีขึ้น จนถึงปัจจุบัน วัตถุมงคลที่ พระอาจารย์ทิมมีส่วนร่วมสร้างทั้งในนามวัดช้างให้และวัดอื่น ๆ นับจากปี พ.ศ. 2497 ตราบจนกระทั่งมรณภาพมีหลายต่อหลายรุ่น ล้วนแต่เป็นที่นิยมสะสมกันอย่างกว้างขวาง
สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย
ปาฏิหาริย์หลวงปู่ทวด
พระเครื่องหลวงปู่ทวด พุทธคุณเป็นที่เลื่องลือด้านแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตราย หลายต่อหลายครั้งที่เราจะได้ยินคำบอกเล่าหรือข่าวผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุหรือเหตุเสี่ยงตาย ที่ต่างรอดมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ต่างเชื่อว่าเป็นเพราะบารมีของพระเครื่องและเครื่องรางหลวงปู่ทวดที่ตนบูชา ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ คมกระสุน หรือแม้แต่รอดตายจากระเบิด ก็มีผู้ศรัทธามาบอกเล่าปาฏิหาริย์ที่พบเจอมากมาย
นอกจากนี้หลายคนเชื่อว่าพระหลวงปู่ทวดมีพุทธคุณครอบจักรวาล คือ ครบเครื่องทุกด้าน ทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ป้องกันภัย มหาเสน่ห์ มหาอุด รวมทั้งไล่ภูตผีและป้องกันความอัปมงคล เสนียดจัญไร สิ่งชั่วร้ายทั้งหลายได้อีกด้วย
“ผมมีความเคารพนับถือพระหลวงพ่อทวดมาก ผมรอดตายมาได้นับเป็นปาฏิหาริย์จริงๆ เป็นปาฏิหาริย์ที่เกิดจากพระหลวงพ่อทวดที่ผมแขวนติดตัวระหว่างเกิดเหตุ” สุเทพ วงษ์คำแหง นักร้องชื่อดัง/ศิลปินแห่งชาติ
“เชื่อไหมว่าใครๆ เห็นสภาพอุบัติเหตุในค่ำคืนนั้น หลายคนก็มองว่าแม่แดงคอขาดกันทั้งนั้นแหละ เราอยู่ในรถก็ได้ยินเสียงคนที่มาดูก็บอกกันว่าคอขาดแล้ว ตายแน่ๆ เลย ชีวิตที่รอดตายมาได้ เพราะมีพระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ และเชื่อว่าองค์นี้ทำให้เกิดปาฏิหาริย์กับอุบัติเหตุครั้งนั้น” ฉันทนา กิติยาพันธุ์ นักร้องชื่อดัง
“มีอยู่รายหนึ่ง ผมเคยเห็นกับตารถพังทั้งคันคนขับนั่งอยู่ข้างรถ เขาแขวนหลวงปู่ทวดหลังเตารีด ผมล่ะขนลุกเลยตรงนี้ มันน่าแปลกรถก็ไม่มีอะไรป้องกัน ถุงลมไม่มี เข็มขัดนิรภัยไม่ใส่ รอดมาได้ยังไงผมยอมรับจริงๆ ตั้งแต่ผมทำงานมาแทบจะไม่เจอพระหลวงพ่อทวดในคอคนตายและคนเจ็บเลย” คุณเสน่ห์ รหัสกู้ภัย 402 หัวหน้าพนักงานป่อเต็กตึ๊ง