เสร็จสมบูรณ์และเตรียมเปิดให้บริการแล้วสำหรับ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่ดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2559 โดยพร้อมเปิดให้บริการแก่นักศึกษา นักวิจัย และประชาชน เพื่อเข้าศึกษาโบราณวัตถุได้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2566 ซึ่งตรงกับวันพิพิธภัณฑ์ไทย
ด้วยจุดมุ่งหมายที่ไม่ใช่แค่เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเป็น “คลังเพื่อการศึกษา” หรือ Study Collection การบริการจึงมีด้วยกัน 2 รูปแบบ แบบแรกคือการให้บริการศึกษาค้นคว้าในห้องฐานข้อมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ห้องสมุด และแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าใช้บริการได้ในพื้นที่บริการทั่วไป ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือการศึกษาโบราณวัตถุแบบเฉพาะซึ่งต้องแจ้งขออนุญาตเข้าศึกษาในพื้นที่ชั้นในโดยการดูแลของเจ้าหน้าที่
คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ยังมีภาพถ่ายโบราณวัตถุและศิลปวัตถุจัดเก็บไว้มากกว่าหนึ่งแสนรูปและพร้อมให้บริการสำเนาไฟล์ภาพถ่ายเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าได้โดยผู้ศึกษาไม่ต้องถ่ายภาพโบราณวัตถุด้วยตนเอง
รูปแบบของอาคาร คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้นในรูปทรงไทยประยุกต์และมีพื้นที่ใช้สอยรวม 30,000 ตารางเมตร การออกแบบห้องคลังต่างๆเป็นแบบคลังเปิด หรือ Visible Storage ที่ผู้ชมสามารถมองเห็นได้จากภายนอกผ่านผนังกระจก ปัจจุบันจัดเก็บโบราณวัตถุรวมจำนวน 113,849 รายการโดยจัดวางตามประเภทวัสดุในห้องคลังต่างๆ จำนวน 10 ห้อง ได้แก่ ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทหินและปูนปั้นซึ่งมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากจัดอยู่บริเวณชั้น 1, ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาและแก้วจำนวน 2 ห้อง บริเวณชั้น 2 ฝั่งตะวันออก, ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทโลหะจำนวน 3 ห้อง ที่ชั้น 2 ฝั่งตะวันตก ส่วนบริเวณชั้น 3 ประกอบด้วยห้องคลังโบราณวัตถุประเภทไม้จำนวน 2 ห้อง และห้องคลังโบราณวัตถุประเภทหนังสัตว์ ผ้า กระดาษ กระดูก งา เขาสัตว์ อีก 2 ห้อง
คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงเป็นศูนย์กลางในการรวบรวม จัดเก็บ ให้บริการการศึกษาและดูแลรักษาโบราณวัตถุให้อยู่ในสภาพปลอดภัย พร้อมให้บริการหมุนเวียนไปจัดแสดงในนิทรรศการถาวร หรือนิทรรศการพิเศษในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ
โบราณวัตถุจำนวนกว่า 1 แสนรายการมาจากหลายแหล่งประกอบด้วย จากคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเดิม ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และการนำส่งมาเก็บรักษาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่าง ๆ , จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถานของกรมศิลปากร, จากการรับมอบ รับบริจาค และจัดซื้อจากหน่วยงานและภาคประชาชน, จากคดีลักลอบค้าโดยผิดกฎหมาย และ จากการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย
นอกจากนี้กรมศิลปากรยังได้ออกแบบช่องทางเข้าชมบรรยากาศห้องคลังโบราณวัตถุและโบราณวัตถุชิ้นสำคัญในมุมมอง 360 องศา แบบเสมือนจริงผ่านทางแอพพลิเคชั่น Virtual Smart Museum อีกทั้งยังได้พัฒนาระบบนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผ่านแอพพลิเคชั่น FADiscovery ซึ่งจะจัดเก็บข้อมูลความสนใจของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติผ่านกำไลข้อมืออัจฉริยะ (Wristband) หรือแอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยระบบจะจดจำเส้นทาง บันทึกความสนใจในการเข้าชมของแต่ละคนและประมวลผล จากนั้นระบบจะส่งชุดข้อมูลความรู้ที่แต่ละคนสนใจกลับไปยังผู้เข้าชมทันทีแบบรายบุคคล (Individual Experience)
Fact File
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าชม www.facebook.com/nationalmuseumstorage หรืออีเมล์ [email protected]