ตรัง แผนกวิชาเทคโนโลยียาง และ พอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง คิดค้นชุดเครื่องนอนยางพารา หวังตอบโจทย์ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ประสบปัญหานอนติดเตียง โดยเฉพาะช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับ
19 ส.ค. 65 – นายสุรศักดิ์ เทพทอง วิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ ในฐานะหัวหน้าแผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ทำให้มีผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่ดีจำนวนมาก และบางท่านไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
กลายเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการนอนติดเตียง เกิดแผลกดทับจากการใช้ที่นอนที่มีพื้นผิวแข็ง หรือไม่สามารถรองรับสรีระการนอน ซึ่งวิธีการหนึ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับก็คือ การหาอุปกรณ์ลดแรงกดทับที่ไม่แข็ง
ดังนั้น แผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ จึงได้คิดค้นนำน้ำยางพารา อันเป็นวัตถุดิบหลักที่มีในภาคใต้ มาแปรรูปเป็นชุดเครื่องนอนยางพาราแบบสลับลอนสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความนุ่ม ยืดหยุ่น และคืนรูปได้ดี
ทั้งนี้ ชุดเครื่องนอนแบบสลับลอนจากยางพาราสำหรับผู้สูงอายุ สามารถนำไปปูบนเตียงผู้ป่วย หรือใช้งานในลักษณะเดียวกับที่นอนทั่วไป เนื่องจากประกอบไปด้วยฟองยางที่มีความหนาแน่นต่างกัน 3 ระดับ คือ ความหนาแน่นสูง ความหนาแน่นปานกลาง และความหนาแน่นต่ำ
โดยมีการออกแบบให้ชุดนอนมีลักษณะเป็นลอน และรับน้ำหนักแต่ละส่วนของร่างกายตามสรีระการนอนได้อย่างเหมาะสม ทั้งศีรษะ ลำคอ ไหล่ กระดูกสันหลัง ข้อศอก ก้นกบ สะโพก หัวเข่า น่อง ข้อเท้า และส้นเท้า จึงสามารถลดแรงกดทับ ลดโอกาสการเกิดแผลกดทับ และทำให้ขณะนอนสรีระของร่างกายมีความสมดุล รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ไม่ปวดเมื่อยขณะนอน
นอกจากนั้น ชุดเครื่องนอนแบบสลับลอนจากยางพาราสำหรับผู้สูงอายุ ยังผลิตด้วยฟองยางที่พื้นผิวมีความนิ่ม และมีความเป็นรูพรุน จึงช่วยระบายอากาศ ป้องกันไม่ให้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งได้รับแรงกดเป็นเวลานาน อันส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ไม่เพียงพอ
ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เนื้อเยื่อของอวัยวะถูกทำลายและเริ่มตาย นอกจากนั้น ยังช่วยแก้ไขภาวะพร่องออกซิเจน ลดการบวมของเนื้อเยื่อ ส่งเสริมการซ่อมแซมบาดแผล และการสร้างเส้นเลือดใหม่ รวมทั้งช่วยเม็ดเลือดขาวในการกำจัด และทำลายเชื้อโรค
แผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง ได้ทดลองนำชุดเครื่องนอนดังกล่าวไปให้ผู้ป่วยทดลองใช้ที่ รพ.ควนขนุน จังหวัดพัทลุง และผู้สูงอายุใช้ที่บ้านในพื้นที่จังหวัดตรัง ปรากฏว่า มีผลตอบรับดีมาก เนื่องจากนอนสบาย นอนแล้วไม่ปวด
อีกทั้งยังไม่มีผู้ใดทำการผลิตขายในท้องตลาด ส่วนใหญ่จะเป็นที่นอนลม หรือที่นอนฟูก จึงเตรียมทำ MOU กับสำนักงานสาธารณสุข หรือ รพ. ให้จัดหางบมาจัดซื้อวัสดุ เพื่อให้นักศึกษาช่วยทำการผลิต โดยมีค่าวัสดุเตียงละไม่เกิน 5 พันบาท แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดตรัง ซึ่งประสบปัญหาการนอนติดเตียงต่อไป
สำหรับกระบวนการผลิตชุดเครื่องนอนแบบสลับลอนจากยางพาราสำหรับผู้สูงอายุ จะเริ่มจากการเตรียมน้ำยางและสารเคมีตามสูตรที่กำหนด แล้วตีฟองยางให้ได้ความหนาแน่นตามต้องการ ก่อนเติมสารเคมีชนิดต่างๆ ลงในเครื่องตีฟอง
จากนั้นนำฟองยางใส่ในแม่พิมพ์อลูเนียมตามรูปแบบและขนาดที่ต้องการ รอให้ฟองยางเจลสมบูรณ์ แล้วนำเข้าตู้อบไอน้ำที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เพื่อวัลคาไนซ์ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำฟองยางออกจากแม่พิมพ์ เพื่อล้างและทำความสะอาด ก่อนนำเข้าเครื่องปั่นแห้ง เพื่อสลัดน้ำที่แทรกอยู่ระหว่างรูพรุนของฟองยางออก
จากนั้นนำฟองยางไปอบแห้งด้วยตู้อบลมร้อน ที่อุณภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้ฟองยางแห้งสนิท แล้วนำไปเย็บผ้าหุ้มปลอกใช้งาน