เตือนภัย เด็กเล็กเล่น “มือถือ” นาน อาจเสี่ยง “ตาเหล่”

Home » เตือนภัย เด็กเล็กเล่น “มือถือ” นาน อาจเสี่ยง “ตาเหล่”
เตือนภัย เด็กเล็กเล่น “มือถือ” นาน อาจเสี่ยง “ตาเหล่”

หลายคนอาจเคยอ่านข่าวแล้วพบว่าเด็กเล็กไม่ควรจ้องจอมือถือมากเกินไป เสี่ยงเสียสายตาได้ นอกจากจะเสี่ยงสายตาสั้น หรืออาจเสี่ยงสมาธิสั้นแล้ว ยังเสี่ยง “ตาเหล่” หรือ “ตาเข” ได้อีกด้วย โดยเราเรียกภาวะผิดปกตินี้ว่า ตาเขเข้าในการจากการเพ่ง (accommodative esotropia)

ตาเขเข้าในการจากการเพ่ง คืออะไร?

ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก โรงพยาบาลตา หู คอ จมูก อธิบายว่า ตาเขเข้าในการจากการเพ่ง (accommodative esotropia) คือ ภาวะที่อาการตาเขถูกกระตุ้นจากการใช้สายตามองใกล้มาก ตลอดจนการเล่นเกมมากเกินไป แต่ต้องมีภาวะผิดปกติที่มีสายตายาวปานกลางนำมาก่อน

โดยในคนปกติ เมื่อเราเหลือบตามามองวัตถุที่อยู่ใกล้ เช่น อ่านหนังสือ จะเกิดกระบวนการที่เรียกว่า near reflex โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้เพื่อช่วยมองวัตถุระยะใกล้ให้ชัด โดยจะเกิดปรากฏการ 3 อย่าง ได้แก่

  • แก้วตา เพิ่มกำลังหักเหของแสงโดยการพองตัวออก (ขบวนการนี้จะเสื่อมหรือทำได้น้อยลง จนทำไม่ได้เมื่อายุมากขึ้น จึงทำให้ผู้สูงอายุมองใกล้ไม่ชัด)
  • ลูกตากลอกเข้าในทั้ง 2 ข้าง (convergence) ร่วมกับ
  • ม่านตาหดเล็กลง

เมื่อเกิดทั้ง 3 อย่างได้ดี ทำให้วัตถุระยะใกล้มาโฟกัสที่จอตาพอดี มีเด็กบางคนที่มีสายตาผิดปกติ ชนิดที่เรียกว่าสายตายาว (hyperope) คือกำลังการหักเหของตา (เกิดจากกระจกตาและแก้วตา) น้อยกว่าคนปกติ ทำให้โฟกัสไม่พอ มองวัตถุทั่วไปไม่ชัด เพื่อให้เห็นชัด แก้วตาต้องเพิ่มกำลังหักเหขึ้นมาตลอดเวลา จึงเสมือนเด็กเพ่งเพื่อมองใกล้ตลอดเวลา ลูกตาจึงมารวมกันที่หัวตา เกิดภาวะตาเขเข้าใน

กลุ่มเสี่ยงภาวะตาเขเข้าในการจากการเพ่ง

เด็กที่เกิดภาวะนี้มักจะมีอายุประมาณ 2 ½ ปี (ประมาณกว่า 6 เดือน ถึง 7 ปี) ถ้าเป็นตั้งแต่แรกเกิด หรือมากกว่าอายุ 7 ปี มักจะไม่ใช่ภาวะนี้

ระยะแรก จะมีตาเขเข้าในเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเวลามองใกล้ นานเข้าจะเขทั้งมองไกลและมองใกล้

ส่วนมากเด็กจะมีสายตายาวประมาณ 400 (300 ถึง 1,000) ถ้ายาวน้อยกว่า 300 มักไม่เกิดเพราะไม่ได้เพิ่มมากนัก หรือถ้ายาวมากๆ เด็กจะไม่เพ่งเลย เพราะเพ่งอย่างไรก็ยังมองไม่ชัด จึงไม่เกิดตาเข แต่จะเกิดภาวะตาขี้เกียจแทน

เด็กบางรายอาจมีอาการหลังมีการเจ็บป่วย หรือได้รับอุบัติเหตุ ผู้ปกครองจึงมักเข้าใจว่าเกิดจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุนั้นๆ บางรายอาจมีภาวะตาขี้เกียจร่วมด้วย

วิธีสังเกตว่าเด็กกำลังเสี่ยงภาวะตาเขเข้าในการจากการเพ่งหรือไม่

ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี จักษุแพทย์ ศูนย์การรักษา โรงพยาบาลพญาไท 2 ระบุว่า สามารถสังเกตอาการของเด็กกว่าเสี่ยงภาวะตาเขหรือไม่ได้ตั้งแต่เด็กอายุ 5 เดือนขึ้นไป หากลูกมองหน้าแม่แล้วทำตาแปลกๆ ตาดูเข ให้สงสัยไว้ก่อนและพามาพบแพทย์ เพราะช่วงวัยนี้สามารถตรวจได้แล้วว่ามีภาวะตาเขจริงหรือไม่

เล่นมือถือ ไม่ใช่ปัจจัยหลักของภาวะตาเขเข้าในการจากการเพ่ง

นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เด็กตาเขมาจาก 2 สาเหตุหลักคือ

  1. กล้ามเนื้อในการกลอกลูกตาไม่สมดุล
  2. มีค่าสายตาผิดปกติ สั้น หรือยาวเกินไปมากๆ

โดยพื้นฐานเวลาคนเรามองใกล้ๆ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือหรือเล่นโทรศัพท์มือถือ จะเกิดการเปลี่ยนแปลง 3 อย่างในลูกตาคือ 

  1. เกิดการเพ่งสายตา เพื่อให้โฟกัสภาพได้ชัด
  2. รูม่านตาหดเล็กลง 
  3. เวลามองใกล้ตาสองข้างจะเข้ามาชิดกัน

ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตตัวเอง หรือลูกๆ จะพบว่า ตาเลยเหมือนเขเข้าตลอดตอนที่มองใกล้ๆ ซึ่งเป็นกลไกปกติของตาที่ทำให้เรามองใกล้ได้ชัด เพราะฉะนั้นจริงๆ การที่เด็กใช้สายตามองใกล้เป็นเวลานานก็จะเกิดภาวะที่ตาเข้ามาใกล้กันมาก จนบางคนเหมือนเป็นตาเขค้างแบบนั้น บางทีหยุดใช้หน้าจอแล้วต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะหาย เราเรียกภาวะแบบนี้ว่า “การเพ่งค้าง”

การเพ่งค้างเกิดได้ แต่โดยทั่วไปจะเป็นชั่วคราว และกลับมาเป็นปกติเมื่อหยุดใช้ หรือไปพบจักษุแพทย์หยอดยาลดการเพ่ง

จริงๆ ไม่อยากให้แตกตื่นว่าการเล่นมือถือ จะทำทำลายกล้ามเนื้อตา หรือเกิดความผิดปกติแบบถาวรขึ้น ที่ผ่านมาเด็กที่ได้รับการผ่าตัดรักษาตาเข ส่วนมากเพราะมีปัญหามาจากค่าสายตาเป็นหลัก 

หรือกล้ามเนื้อตาไม่สมดุลแต่เกิด แต่ก็มีประวัติเล่นโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่เกี่ยวกัน

สำหรับแสงในโทรศัพท์มือถือ เป็นแสงสีฟ้าที่มีความยาวคลื่นที่สูงกว่าแสงแดดทั่วไป การที่เด็กเล่นโทรศัพท์มือถือ ได้รับแสงดังกล่าวก็จะมีผลในระยาว โดยอาจจะทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าอายุอันควร จากเดิมที่โรคจอประสาทตาเสื่อมจะเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ

การรักษาภาวะตาเขเข้าในการจากการเพ่ง

ภาวะตาเข/ตาเหล่ชนิดนี้ เป็นภาวะตาเขที่เกิดจากสายตาผิดปกติชัดเจน การแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยการใช้แว่นสายตาแต่เนิ่นๆ อาจรักษาให้หายตาเขโดยการใส่แว่นสายตาเท่านั้น การรักษาภาวะนี้จึงควรทำโดย

  1. วัดขนาดสายตายาวที่ถูกต้องภายใต้การหยอดยา ลดการเพ่ง ซึ่งทำหน้าที่บังคับให้แก้วตาพองขึ้น เพื่อให้วัดได้ค่าสายตาที่ถูกต้องที่สุด
  2. ให้เด็กใส่แว่นสายตาตามค่าที่วัดได้ โดยต้องบังคับให้ใส่แว่นตลอดเวลา โดยทั่วไปถ้าใส่แว่น ค่าที่วัดได้ เด็กจะตาตรง ในระยะแรกๆ เด็กอาจไม่ยอมใส่เพราะรู้สึกว่าใส่แล้วตามองไม่ชัด เพราะเด็กจะเคยชินกับการเพ่งตลอด ซึ่งอาจช่วยได้ด้วยการใช้ยาลดการเพ่ง
  3. เมื่อใช้แว่นแก้ไขสายตาแล้ว หากพบว่ายังเหลือตาเขเวลามองใกล้ ในขณะที่มองไกลเริ่มจะตรง อาจจะต้องปรับเลนส์แว่นตาเป็นเลนส์ 2 ชั้น เพิ่มกำลังเลนส์มองใกล้จะทำให้ตาตรงทั้งมองไกลและใกล้
  4. บางรายแม้ใช้แว่น 2 ชั้นแล้วสักระยะ ยังเหลือตาเขอยู่บ้าง อาจพิจารณาผ่าตัดแก้ไขเพิ่ม หากพบว่ามีภาวะตาขี้เกียจร่วมด้วยให้แก้ไขไปพร้อมๆ กัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ