ภาพของเด็กหญิงสองคนนั่งจับมือกันแน่นในวันที่โควิด-19 ได้พรากชีวิตแม่ของพวกเธอไป ทิ้งไว้เพียงคำสั่งเสียที่บอกให้ลูกไปอยู่บ้านเด็กกำพร้า และข่าวเด็กหญิงวัย 7 ขวบ ที่ปลุกแม่เท่าไรก็ไม่ยอมตื่นขึ้นมาต้มบะหมี่ให้เธอ เพราะแม่ได้เสียชีวิตไปแล้วด้วยโรคโควิด-19 สร้างความหดหู่และเจ็บปวดหัวใจให้กับคนในสังคมเป็นอย่างมาก นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวเรื่องราวการสูญเสียของประชาชนในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกล่าสุด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีเด็กอีกมากมายที่ต้องเผชิญหน้ากับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ขณะที่เด็กหลายคนอาจจะยังมีสมาชิกครอบครัวคนอื่นคอยดูแล แต่ก็มีอีกหลายคนที่กลายเป็นเด็กกำพร้า ถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง โดยไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง
- เปิดใจเด็กหญิง 2 พี่น้อง แม่ตายเพราะโควิด ยังไม่รู้ชะตากรรมแต่อยากเรียนให้สูงที่สุด
- สลดไม่เว้นวัน..เด็กหญิงวัย 7 ขวบ ร้องไห้อยู่หน้าห้อง เฝ้าร่างแม่ นอนเสียชีวิตในห้องจากโควิด
แม้ปัญหาเด็กกำพร้าจะยังไม่ได้รับความสนใจในวงกว้างมากนัก เมื่อเทียบกับปัญหาการล้มตายของคนจำนวนมากจากเชื้อไวรัสร้าย แต่นี่ก็ไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยที่ “ผู้ใหญ่” ควรมองข้าม เพราะเด็กจำนวนมากกำลังเผชิญกับความยากลำบากทั้งทางร่างกายและจิตใจ แล้วภาครัฐควรเตรียมตัวรับมือและให้การเยียวยาเด็ก ๆ เหล่านี้อย่างไร Sanook ร่วมหาทางออกเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ในวันที่พวกเขาอาจไร้เรี่ยวแรงที่จะยิ้มสู้ต่อไป เมื่อต้องบอกลาผู้ใหญ่ในชีวิตไปตลอดกาล
เตรียมรับมือปัญหา “เด็กกำพร้า”
สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ “เด็ก” กลายเป็นประชากรกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตนี้ เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองติดเชื้อและต้องไปรักษาตัว ทำให้เด็กหลายคนถูกละเลย หรือไม่ได้รับการดูแลอย่างที่พวกเขาควรได้รับ เลวร้ายกว่านั้นคือพ่อแม่หรือผู้ดูแลพวกเขาต้องเสียชีวิตลง ส่งผลให้เด็กเหล่านี้ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าในที่สุด
“พ่อแม่ที่เสียชีวิตพร้อมกันมีไม่เยอะ แต่ว่าก็เกิดขึ้นจริง แล้วเด็กในสถานการณ์ทุกวันนี้ มีทั้งที่เป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวไม่ได้พร้อมหน้า หรือบางส่วนไปอยู่กับปู่กับย่า หรือตากับยายก็มี เพราะฉะนั้น สถานการณ์แบบนี้ เราจะเห็นว่าความสูญเสียที่มาจากโควิดได้กระทบทั้งปู่ย่าตายาย แล้วก็พ่อหรือแม่ และจะนำไปสู่ เด็กกำพร้าอย่างชัดเจน แต่บางส่วนที่ไม่ถึงกับกำพร้า ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากมาก” สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดประเด็น
ในบทความเรื่อง “ทุก 12 วินาที มีเด็กหนึ่งคนต้องกำพร้าอันเนื่องมาจากโควิด: การจัดการหลังสูญเสีย” ของกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือครูจุ๊ย กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ได้ระบุข้อมูลเด็กกำพร้าในประเทศไทย จากการประเมินของ Imperial College London ว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 350 คน และยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนกรกฎาคมปีนี้
“ตอนนี้เรายังมองไม่เห็นความชัดเจนว่าเด็ก ๆ ไม่ว่าจะสูญเสียผู้ดูแลหลักหรือกลุ่มผู้ดูแลรอง หรือสูญเสียทั้งสองกลุ่ม เขาจะไปไหนอย่างไรต่อ โดยอุดมคติแล้วเราก็อยากให้เขาอยู่กับญาติสนิทของเขาได้ โดยที่ไม่ต้องรับเข้าระบบสถานสงเคราะห์ แต่แน่นอนว่ามันเป็นไปไม่ได้กับทุก ๆ เคส” กุลธิดาชี้
เช่นเดียวกับเคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อธิบายว่า หากเด็กไม่มีคนดูแล ญาติจะต้องเป็นคนดูแลเด็กขั้นแรก หรืออาจจะเป็นชุมชนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็กคนนั้น ๆ ทั้งนี้ หากไม่มีทั้งญาติและชุมชนที่จะรองรับเด็ก เมื่อนั้นระบบการดูแลก็จะเข้าสู่รัฐมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการหาที่พักเบื้องต้น และการเข้ามาดูแลของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เด็กสามารถมีชีวิตรอดได้
“หากเด็กได้รับผลกระทบจากการไม่มีผู้ดูแลหรือสูญเสียผู้ดูแลไป สิ่งที่ต้องทำคือการส่งเสริมสวัสดิภาพของเด็ก และการคุ้มครองเด็ก ซึ่งหลักการในการทำงานก็คือ ยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก ซึ่งเป็นหลักการสากลมาก คือว่าเด็กสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ เด็กสามารถเข้าถึงปัจจัยสี่ การเจริญเติบโตไปตามพัฒนาการได้ เขาก็ควรจะได้รับการดูแล” เคทกล่าว
ทุกภาคส่วนต้องขยับตัวให้เร็ว
“ตอนนี้เรายังไม่เห็นกระแสที่บอกว่า มีหน่วยงานสั่งการอย่างเอาจริงเอาจัง เขาสั่งอยู่หรอก สั่งลอย ๆ ว่าให้ไปดูเด็ก แต่ถามว่ามีกระบวนการอะไรที่ชัดเจน เพื่อจะให้เด็กได้ข้าวได้น้ำ ถูกกักตัวอยู่ที่ไหน แล้วมีคนดูแลจริงจังขนาดไหน ป่วยแล้วกลไกเหล่านี้ใครจะทำอะไร มันต้องไหลไปให้เห็นภาพรวม ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็น” สุนีสะท้อน “เด็กไม่ติด แต่เด็กสูญเสียก็สะเทือนจิตใจ ตอนนี้จึงต้องอาศัยว่าชุมชนรอบตัว ญาติพี่น้องของเด็กก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะเขาคุ้นเคย พูดไปแล้วเขาคุ้นเคยกว่าการเอาเขาไปสถานสงเคราะห์ด้วยซ้ำ ดังนั้น ชุมชนจึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยากัน คุณครูในชุมชนต้องคอยดูแล คอยปกป้อง คอยให้กำลังใจ”
ขณะที่กุลธิดาก็แสดงความคิดเห็นว่า ทุกภาคส่วนต้องมีความชัดเจนในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอาสาสมัครหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ถึงแม้จะมีระบบการทำงานอยู่แล้วก็ตาม เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในตอนนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ดังนั้น ขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือกับเหตุการณ์ในตอนนี้
“การทำงานกับโควิด-19 รอบนี้ ทำไมนักวิชาชีพจึงสำคัญ คือเราเห็นแล้วแหละว่าหนึ่ง เพราะคุณเป็นคนที่สามารถใช้อำนาจที่มีอยู่ประเมินเด็กได้ เพราะฉะนั้น การสื่อสารระหว่างวิชาชีพจึงต้องเร็วมาก มันจะไปรอทำบันทึกข้อความ กำลังส่งไป เดี๋ยวรอทางผู้ว่าฯ อนุมัติ จึงจะมีการย้ายตัวเด็กออกจากบ้านพักเด็ก สถานการณ์ฉุกเฉินต้องมีการทำให้แคบกว่านั้น หรือสั้นกว่านั้น ที่จะบอกว่า ดูแลเด็กคนนี้เป็นยังไง ต่อไปเด็กต้องไปอยู่กับคนนี้ หรือเด็กได้ประเมินสุขภาพจิตแล้ว หมอบอกว่าไม่มีอะไร หรือว่าอยู่ในภาวะที่ต้องรับยา ต้องหาจิตแพทย์ก่อน ต้องประเมิน ต้องติดตาม คือในช่วงโควิด-19 ต้องเร็วมากกว่า ไม่อย่างนั้นเราก็จะทำอะไรไม่ทัน” เคทอธิบาย
ช่วยเหลือทั้งเด็กในทุกด้าน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยยังติดกับความเชื่อที่ว่า เมื่อเด็กไม่มีพ่อแม่หรือคนดูแลแล้ว ก็ต้องไปสถานสงเคราะห์หรือสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเท่านั้น แต่ในการทำงานช่วยเหลือเด็กในช่วงหลัง การส่งเด็กเข้าสู่สถานสงเคราะห์มักจะกลายเป็นขั้นตอนสุดท้าย และมุ่งไปหาญาติหรือคนดูแลใหม่ให้กับเด็กแทน อย่างไรก็ตาม กุลธิดาชี้ว่า หากเด็กเข้าไปอยู่ในบ้านที่ไม่พร้อม ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจต่อครอบครัวนั้น ๆ หรือเกิดความเสี่ยงที่เด็กกลุ่มนี้จะพบเจอกับความรุนแรงต่าง ๆ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ และการเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ เนื่องจากไม่มีคนที่จะปกป้องเขาอีกต่อไปแล้ว จึงนำไปสู่แนวคิดของการจัดตั้ง “ผู้จัดการดูแล” ที่จะเข้ามาดูแลเด็ก
นอกจากนี้ ยังต้องมีการจัดทีมนักจิตวิทยาเพื่อเข้าไปดูแลรักษาสภาพจิตใจของเด็กด้วยเช่นกัน เพราะบาดแผลในใจที่เกิดขึ้นในวัยเด็กจะส่งผลต่อชีวิตของพวกเขาในอนาคตอย่างแน่นอน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีการจัดการช่วยเหลือแบบสหวิชาชีพและในทุกแง่มุมของชีวิตเด็ก
“ในระยะต่อไป เด็กที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานสงเคราะห์หรือว่าอยู่ในบ้านที่รับเลี้ยง ณ ตอนนี้ ในสถานการณ์ที่เลี่ยงไม่ได้ เขาควรได้รับเงินอุดหนุน เพื่อที่จะให้บ้านที่ดูแลเขาสามารถดูแลเขาได้ อย่างที่มันโอเค ไม่อดมื้อกินมื้อ ไม่ลำบาก” กุลธิดาเสริม
ในส่วนของสุนีและเคทก็เห็นตรงกันว่า เด็กทุกคนควรได้รับเงินอุดหนุน เพื่อให้เป็นเงินทุนชีวิตของเด็กในอนาคต และหากทำได้จริง เด็กก็จะไม่ตกเป็นภาระของครอบครัวอุปถัมภ์ หรือเป็นภาระของสถานสงเคราะห์ที่ล้นอยู่ในขณะนี้
เด็กรอไม่ได้แล้ว
“การดูแลเด็กที่เกิดขึ้นมาในประเทศนี้ รัฐต้องเป็นคนดูแล แต่รัฐกลับไม่กล้าตัดสินใจที่จะช่วยเหลือเด็กอย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมาก เพราะแม้จะมีการช่วยเหลือเด็กทางการแพทย์ แต่ทางสังคมล่ะ เราเห็นว่าเด็กมีสภาวะยากลำบาก และเด็กอยู่ในสภาวะวิกฤตที่พ่อแม่หายไป จะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เช่น กรณีของข่าว เด็กต้องอาศัยอยู่ตามลำพัง เพราะแม่เขาดูแลอยู่คนเดียว แล้วให้ข่าวว่าบ้านพักเด็กและครอบครัวรับเด็กเข้ามาในความอุปการะแล้ว แล้วก็จะนำเข้าสู่กระบวนการสังคมสงเคราะห์ต่อไป ซึ่งเราว่าอันนี้เป็นเรื่องที่พูดแบบกว้างมาก” เคทอธิบาย
สอดคล้องกับกุลธิดาที่ชี้ว่า สิ่งที่สะท้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ คือรัฐไม่มีความจริงใจที่จะดูแลคนตัวเล็กตัวน้อย หรือคนที่อ่อนแอในสังคม ซึ่งเวลาที่จะวัดว่ารัฐดูแลคนในประเทศอย่างไรและมีประสิทธิภาพมากแค่ไหนนั้น ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่การดูแลคนแข็งแรงและจัดการตัวเองได้ แต่มันคือการดูแลคนที่อ่อนแอ กำลังลำบาก และต้องการความช่วยเหลือ ว่ารัฐสามารถเข้าถึงพวกเขาได้หรือไม่ และทำให้ชีวิตของประชาชนที่กำลังเดือดร้อนดีขึ้นได้จริงหรือเปล่า โดยเฉพาะในเวลานี้ ที่เด็กมากมายกำลังเคว้งคว้างกับการที่คนในครอบครัวติดเชื้อและหายไปจากชีวิต
“เราอยากให้ภาครัฐเคลื่อนไหวให้เร็วที่สุด ด้วยความเร็วแสง เพราะเด็กรอคุณไม่ได้ เด็กรอคุณไม่ไหว เขาเสี่ยงทุกวินาทีที่จะเข้าสู่ความอันตรายในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น หากเขาไม่ได้รับการปกป้องดูแลที่ดีพอ” กุลธิดาทิ้งท้าย