แม้จะออกกำลังกายเป็นประจำ แต่คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่เสี่ยงหัวใจหยุดเต้นขณะออกกำลังกายได้
อ. พญ.ทิมภ์พร วิทูรพงศ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นขณะเล่นกีฬา คือภาวะที่หัวใจหยุดเต้นกะทันหันขณะแข่งขันกีฬาหรือภายใน 1 ชั่วโมง ภายหลังจากการออกกำลังกาย ซ้อมกีฬา
สาเหตุของภาวะหัวใจหยุดเต้น
สำหรับกลุ่มนักกีฬาอายุน้อยกว่า 35 ปี
- มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจแต่กำเนิด ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว
- มีความผิดปกติของโครงสร้างหลอดเลือดหัวใจ
- มีความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
- ผนังหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัว
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
สำหรับกลุ่มนักกีฬาอายุมากกว่า 35 ปี ขึ้นไป
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผนังหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัว
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว
- ความผิดปกติของการเต้นของหัวใจโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น
- ผู้ที่มีประวัติญาติสายตรง ได้แก่ บิดา มารดา พี่หรือน้อง เสียชีวิตขณะที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีโรคหัวใจรุนแรงขณะที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
- มีประวัติหมดสติหรือเป็นลมขณะออกกำลังกาย
- มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกขณะออกกำลังกาย
- รู้สึกเหนื่อยง่ายผิดปกติในขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการออกกำลังกาย
วิธีป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นขณะออกกำลังกาย
ก่อนออกกำลังกายที่ใช้แรงมากๆ เช่น วิ่งมาราธอน และอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวหากมีโรคประจำตัว หรือควรตรวจสุขภาพเพื่อเช็กสมรรถภาพทางร่างกาย และตรวจสุขภาพหัวใจอย่างละเอียด เพื่อเป็นการเช็กและหาทางป้องกันก่อนเกิดอันตรายต่อร่างกายได้อย่างทันท่วงที