คณะทำงานและเครือข่ายสนับสนุนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วยสนับสนุนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า รวมทั้งมีมาตรการป้องกันและเยียวยาเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี จากสถานการณ์โควิด-19
สุนี ไชยรส ตัวแทนคณะทำงาน กล่าวว่า คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ซึ่งประกอบด้วย องค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานในประเด็นเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ เครือข่ายแรงงานทั้งใน/นอกระบบ และนักวิชาการ มากกว่า 336 องค์กรทั่วประเทศ มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่อง และมีความยินดีที่มติการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) เห็นชอบนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า แก่เด็กเล็กอายุ 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท/คน/ปี โดยเริ่มในปีงบประมาณ 2565 แต่รัฐบาลกลับเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ไว้เพียง 16,000 ล้านบาท โดยไม่ได้เสนองบประมาณแก่เด็กเล็ก 4.2 ล้านคนทั่วประเทศ ตามมติ กดยช. ซึ่งเพิ่มงบประมาณปี 2565 อีกเพียงประมาณ 15,000 ล้านบาทเท่านั้นก็จะสามารถอุดหนุนเด็กเล็กเพิ่มอีกถึง 2.2 ล้านคนแบบถ้วนหน้า
ขณะนี้ ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงมาก มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เกิดคนจนใหม่และภาวะคนว่างงานเพิ่มอย่างรวดเร็ว ครอบครัวที่มีเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก เช่น รายได้ลดมากกว่า 81% และมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 50% เป็นหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น เด็กเล็กเข้าไม่ถึงบริการด้านสวัสดิการสังคมและสาธารณสุข ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปิดส่งผลต่อการเกิดภาวะขาดสารอาหาร ทุโภชนาการ ปัญหาพัฒนาการทางร่างกายและสมอง เสี่ยงต่อปัญหาความรุนแรง และมีจำนวนเด็กเล็กที่ได้รับเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ในสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งรัดนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปีแบบถ้วนหน้า ซึ่งผ่านมติ กดยช.แล้ว ให้จัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าเดือนละ 600 บาทต่อคนต่อเดือน ดำเนินการในปีงบประมาณ 2565
ในการจัดเวทีประเมินสถานการณ์เด็กเล็กซึ่งยังมีการตกหล่นจากการเข้าถึงเงินอุดหนุนเด็กเล็กมาโดยตลอด ประมาณร้อยละ 30 ซึ่งหนทางแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คือต้องยกเลิกนโยบายคัดกรองแบบเจาะจงสงเคราะห์คนจน แต่ต้องให้เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้าเหมือนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การเรียนฟรี 12 ปี ซึ่งเป็นระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น คณะทำงานฯ จึงมีข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ดังนี้
- ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ผ่านมติและจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 ตามนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ที่เห็นชอบในหลักการและแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี จำนวน 600 บาท ต่อคนต่อเดือนแบบถ้วนหน้า
มาตรการป้องกันและช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19
- มาตรการเชิงรุก: ครอบครัว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและบุคลากรที่ต้องดูแลเด็กเล็ก ต้องได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว รวมทั้งมีมาตรการกระจายอุปกรณ์ป้องกันสำหรับเด็กเพื่อคุ้มครองเด็กเล็ก มาตรการส่งเสริมดูแลสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโควิด -19 น้อยที่สุด
- มาตรการลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเด็กเล็ก การดูแลด้านอาหารและส่งเสริมโภชนาการแก่เด็กเล็กให้เข้าถึงบริการได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งเสริมสร้างพัฒนาการให้แก่เด็กเล็กระหว่างรอศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ เปิดบริการ