หลายคนอาจจะเคยได้ยินอาการ “เครียดลงกระเพาะ” มาบ้าง โดยอาจจะคิดว่าเป็นอาการปวดท้อง แสบท้อง ที่เกิดจากความเครียดสะสม จริงๆ แล้วทางการแพทย์สามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ Sanook Health มีคำตอบจาก ผศ.(พิเศษ) พญ.ฐนิสา พัชรตระกูล แพทย์หน่วยโรคทางเดินอาหาร ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มาฝากกัน
เครียดลงกระเพาะเกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อร่างกายเกิดภาวะเครียดจะส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ รวมไปถึงกระเพาะอาหารที่หลั่งกรดออกมามากกว่าปกติ เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และการย่อยอาหารช้าลง
สัญญาณอันตราย อาการเครียดลงกระเพาะ
อาการเครียดลงกระเพาะ สามารถสังเกตได้โดย
- ปวดหรือจุก บริเวณลิ้น มักเป็นก่อนหรือหลังการรับประทานอาหาร
- แน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย อิ่มเร็ว
- มีลมในกระเพาะอาหารมาก เรอบ่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน
วิธีรักษาอาการเครียดลงกระเพาะ
ความเครียดส่งผลให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ในทางกลับกัน ความผิดปกติของทางเดินอาหารก็ส่งผลลบต่อจิตใจได้เช่นเดียวกัน วิธีรักษาจึงต้องตัดวงจรนี้ โดย
- เมื่อรู้สึกว่ามีภาวะเครียดให้ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นการผ่อนคลายตัวเอง เช่น ฟังเพลง วาดรูป ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรือนั่งสมาธิ
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบทั้ง 3 มื้อ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- งดการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
- ป้องกันความเครียดโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ปรับตารางทำงานให้สมดุล มีเวลาพักผ่อน และออกกำลังกายอย่างเพียงพอ
- ควรปรึกษาแพทย์หากมีอุจจาระปนเลือด น้ำหนักลด อาเจียนบ่อย มีอาการที่รุนแรง รบกวนคุณภาพชีวิต หรือจัดการความเครียดไม่ได้