เข่าลั่น หรือ สะบ้าเข่าตกร่อง มีเสียงเวลาเดิน ลุกนั่ง คืออะไร?

Home » เข่าลั่น หรือ สะบ้าเข่าตกร่อง มีเสียงเวลาเดิน ลุกนั่ง คืออะไร?
เข่าลั่น หรือ สะบ้าเข่าตกร่อง มีเสียงเวลาเดิน ลุกนั่ง คืออะไร?

อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับ เข่า มักจะเป็นผู้หญิงที่ประสบพบเจอกับปัญหานี้มากกว่าผู้ชาย ด้วยสรีระของผู้หญิงที่มีสะโพกผายมากกว่าผู้ชาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อขายาวไปถึงข้อเข่ามีลักษณะโค้งนิดๆ ไม่ตรงพอดีกับกระดูกด้านในเหมือนผู้ชาย และด้วยปัญหานี้ทำให้ผู้หญิงเกิดปัญหา เข่าลั่น หรือข้อเข่ามีเสียงดังเปรี๊ยะๆ เวลาเดิน หรือลุกนั่งจากพื้น หรือเก้าอี้ต่ำๆ ได้

อาการ “เข่าลั่น” เกิดจากอะไร?

นพ. จตุพล คงถาวรสกุล ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ อธิบายว่า อาการเข่ามีเสียงเวลาเดิน หรือลุกนั่ง เกิดจากการที่ลูกสะบ้าที่รับกับกระดูกเข่ามีการเคลื่อนตัวยามขยับ เกิดขึ้นได้กับคนที่อายุ 25-40 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ด้วยเหตุสรีระของผู้หญิงที่ทำให้ลักษณะของกล้ามเนื้อเข่างอเข่านิดๆ จนทำให้ลูกสะบ้าที่รับกับกระดูกที่เข่าเกิดการเคลื่อนตัวขึ้นได้

เข่าลั่น รักษาได้ด้วยการออกกำลังสะโพก

เมื่อต้นเหตุ มาจากสรีระของสะโพก ดังนั้นการออกกำลังสะโพก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อสะโพกยาวไปถึงเข่า จึงช่วยให้การขยับขาไม่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณเข่าพลิกออกจากลูกสะบ้าได้ง่าย ช่วยให้ลูกสะบ้าไม่เลื่อนตกร่องจนเกิดเสียงลั่น

ท่าออกกำลัง ที่ทำให้กล้ามเนื้อขาช่วงเข่าแข็งแรงขึ้น คือ การนั่งบนเก้าอี้ แล้วยกขาให้ตึงค้างเอาไว้ 10 วินาที และการยืนแล้วเหยียดขาข้างที่มีอาการไปทางด้านหลังให้ตึงแล้วค้างไว้ 10 วินาที อาจทำท่าละ 10 ครั้ง

สำหรับท่าออกกำลังสะโพกที่ทำให้กล้ามเนื้อสะโพกแข็งแรง รวมไปถึงกล้ามเนื้อข้างเข่าแข็งแรงด้วย คือการนอนตะแคง เหยียดขาตรง แล้วยกขึ้นกลางอากาศข้างไว้ 10 วินาที 10 ครั้ง และท่านอนตะแคง งอเข่าเล็กน้อย แล้วแหกขาให้ต้นขาด้านในเปิดออก ยกค้างไว้ 10 วินาที 10 ครั้ง ทุกวัน ราว 80-90% ของผู้ที่มีอาการเข่าลั่น เมื่อทำท่ากายบริการเหล่านี้ มักจะมีอาการที่ดีขึ้น หรือไม่มีอาการอีกเลยภายในระยะเวลา 8 เดือน

นอกจากนี้ การออกกำลังกายตามปกติ รักษาน้ำหนักของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ รวมไปถึงการทานอาหารที่ช่วยบำรุงกระดูกอย่าง นม ไข่ ปลาเล็กปลาน้อย ที่มีแคลเซียมมาก และการได้รับวิตามินดีจากแสงแดดอ่อนๆ ในตอนเช้า ก็ช่วยบำรุงกระดูกจากภายในให้แข็งแรงขึ้นได้เช่นเดียวกัน

  • เสียง “กร๊อบแกร๊บ” ในเข่า มาจากไหน อันตรายหรือไม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ