บาเยิร์น มิวนิค คือสโมสรที่มีวัฒนธรรมองค์กรเข้มแข็งมาก ๆ กุนซือหลายคนเอาชื่อมาทิ้งที่นี่เพียงเพราะว่าพวกเขาไม่สามารถปกครองห้องแต่งตัวจากเหล่านักเตะซีเนียร์ได้
ตอนนี้ บาเยิร์น นำทัพโดยกุนซือหนุ่มอายุแค่ 34 ปีเท่านั้น ในทีมที่เต็มไปด้วยข่าวการเลื่อยขาเก้าอี้ของนักเตะตัวเก๋า ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ ข้ามผ่านเรื่องนี้ได้อย่างไร และใช้วิธีไหนชนะใจลูกน้องที่อายุมากกว่า
ติดตามเรื่องราวได้ที่ Main Stand
วัยรุ่น IQ พุ่งแห่งบาวาเรีย
บาวาเรีย คือแคว้นในประเทศเยอรมันที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ (อันดับ 1 คือแคว้นนอร์ทไรน์-เวสท์ฟาเลิน) ที่นี่คือแคว้นอันเป็นที่ตั้งของสโมสร บาเยิร์น มิวนิค ทีมที่ดีที่สุดในประเทศ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีกุนซือชื่อว่า ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ และที่นี่เองก็เป็นจุดเริ่มต้นของ นาเกิลส์มันน์ ด้วย
หากไม่ได้เป็นคนที่รักฟุตบอล นาเกิลส์มันน์ คงมาไม่ได้ถึงจุดนี้แน่ ตัวของ นาเกิลส์มันน์ คือเด็กหนุ่มที่โตมากับความคลั่งไคล้กีฬาอันดับ 1 ของประเทศ เพียงแต่ว่าความคลั่งไคล้นั้นไม่ได้หมายความว่าเขาจะเก่งเกินใคร เพราะเป็นอันรู้กันดีว่า หากนักเตะดาวรุ่งคนไหนที่เก่งจริง พวกเขาย่อมได้รับการเหลียวแลจาก บาเยิร์น มิวนิค และถูกดึงเข้าอะคาเดมีตั้งแต่อายุน้อย ๆ แล้ว แต่ นาเกิลส์มันน์ ไม่ใช่แบบนั้น เขาเป็นเด็กเกรดรองลงมาที่ไม่ดีพอจะอยู่กับ บาเยิร์น ในฐานะนักฟุตบอลเยาวชน แต่ว่าเขาก็เจอที่ที่เหมาะกับเขาไม่แพ้กัน
Photo : www.abendzeitung-muenchen.de
1860 มิวนิค คืออีกทีมที่เล็กกว่าในเมืองนี้ เป็นเบอร์ 2 แห่งมหานครมิวนิค นาเกิลส์มันน์ ได้รับความสนใจจาก 1860 ตอนที่เขาอายุได้ 15 ปี
หลักการเลือกนักเตะเข้าระบบเยาวชนของ 1860 คือ พวกเขารู้ดีว่าเด็กที่เก่งมาก ๆ จะถูก บาเยิร์น คัดไปก่อน ส่วนพวกเขานั้นต้องเลือกจุดเด่นอื่นมาแทนฝีเท้า ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือเรื่องของทัศนคติ
เด็กที่จะได้เล่นให้กับ 1860 ต้องยอมทำงานหนักเพื่อกลบความเป็นรองด้านฝีเท้า มีความมุ่งมั่น มีความเป็นผู้นำ และมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหนือกว่าเด็กอายุไล่เลี่ยกัน นั่นคือเหตุผลที่ นาเกิลส์มันน์ ได้เข้ามาอยู่ในทีม ๆ นี้
ตำแหน่งที่ นาเกิลส์มันน์ ถูกวางไว้ในครั้งแรกคือตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็ก ด้วยทักษะการอ่านเกมที่ฉลาด สิ่งนี้ฉายแววออกมาในตอนที่เขาเข้าคลาสในชั้นเรียนต่าง ๆ เพราะเป็นเด็กคนแรก ๆ ที่จะยกมือตอบคุณครูเสมอ และชอบที่จะเอาแนวคิดของตัวเองขึ้นมาถกเถียงเพื่อหาความจริงว่ามันถูกหรือผิด สิ่งที่ครูสอนกับสิ่งที่เขาคิดสิ่งไหนจะดีกว่า นี่คือบุคลิกที่หาได้ยากมาก ๆ ในเด็กชายอายุ 15 ปี ดังนั้นสิ่งที่ 1860 ทำไม่ใช่การบอกให้เขาหุบปาก แต่เป็นการอธิบายวิธีการต่าง ๆ อย่างละเอียด และให้โอกาส นาเกิลส์มันน์ ในวัยเด็กได้พูดทุกสิ่ง พร้อมกับสามารถแสดงความเห็นได้ทุกอย่างที่เขาต้องการ
“ยูเลียน เป็นนักเตะที่มีความสามารถพิเศษในการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ เขาจำสิ่งที่ถูกสอนและนำมาปฏิบัติให้สำเร็จได้ภายในการทดลองแค่ไม่กี่ครั้ง เมื่อไหร่ที่เขาเข้าชั้นเรียน สมองของเขาจะดูดซับทุกอย่างที่ถูกสอน และทดลองทำทุกอย่างที่ต้องการ … หมอนี่คือคนที่โคตรจะฉลาดเลย” คริสเตียน เทรสช์ อดีตเพื่อนร่วมทีม 1860 ชุดเยาวชน เล่าถึง นาเกิลส์มันน์ ในเวลานั้น
สมอง การจดจำ และการตั้งคำถามอาจจะทำให้เขาดูเนิร์ด แต่เมื่อลงสนาม นาเกิลส์มันน์ ถือว่าเป็นผู้นำของทีม เขาสวมปลอกแขนกัปตันก่อนเพื่อนรุ่น ๆ เดียวกัน ที่ภายหลังกลายเป็นนักเตะที่ติดทีมชาติชุดใหญ่กันทั้งนั้น เช่น ฝาแฝด เบนเดอร์ ทั้ง ลาร์ส และ สเวน ที่อยู่ในทีมชาติเยอรมันชุดแชมป์โลกปี 2014, ฟาเบียน จอห์นสัน (สหรัฐอเมริกา) และ ยูเลียน บอมการ์ตลิงเกอร์ (ออสเตรีย)
ตัวของ คริสเตียน เทรสช์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยติดทีมชาติเยอรมันชุดใหญ่ และ เทรสช์ ก็ถือเป็นเพื่อนสนิทของ นาเกิลส์มันน์ จนปัจจุบัน เขาเล่าเรื่องของ นาเกิลส์มันน์ หลายอย่าง โดยเฉพาะบุคลิกที่โดดเด่น ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยบอกว่า นาเกิลส์มันน์ คือผู้นำโดยธรรมชาติ และเป็นคนที่ช่วยให้เขาปรับตัวกับทีมได้ตอนที่เขาย้ายมาร่วมทีม 1860 (เป็นรุ่นน้อง นาเกิลส์มันน์ 1 ปี)
“นอกจากหมอนี่จะฉลาดเป็นกรด เขายังมีความเป็นผู้นำและมีความรับผิดชอบกับหน้าที่ของตัวเองสูงมาก ผมย้ายมาที่นี่ตอนอายุ 16 ปี เขาก็เข้ามาต้อนรับผมทันที เราคลิกกันในเวลาแค่วันเดียว และทำให้รู้ได้เลยว่า ยูเลียน เป็นคนที่มีศิลปะในการพูดด้วย หมอนี่ตลกยิ่งกว่าใคร มีอารมณ์ขันที่เป็นทีเด็ด และใช้มันได้อย่างถูกวิธี” เทรสช์ กล่าว
จากสิ่งที่เพื่อน ๆ พูดถึง นาเกิลส์มันน์ ทั้งหมด อดคิดไม่ได้ว่าหากเขาเติบโตด้วยทัศนคติสุดเฉียบแบบนี้ เขาจะเป็นนักเตะที่ดีในระดับไหน ? และคำถามนี้เป็นคำถามที่ไร้คำตอบ เพราะตอนที่ นาเกิลส์มันน์ อายุ 18 ปี เขาเกือบจะได้ลงเล่นให้กับทีมชุดใหญ่อยู่แล้วในเวลาอีกไม่นาน แต่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ก็มาถึง…
นาเกิลส์มันน์ มีอาการบาดเจ็บที่เข่าอย่างรุนแรง และต้องใช้เวลาพักไป 1 ปีกว่า ๆ หลังจากที่หายไปแล้วกลับมาลงเรียกความฟิต เขาก็เจ็บซ้ำที่แผลเดิมอีกครั้ง ถึงจุดนี้หลายคนบอกให้เขาเลิกเล่นทันที เพราะหัวเข่าของเขาไม่ดีพอที่จะใช้งานในเกมระดับสูงแน่นอน
“ตอนที่ได้รับฟังคำแนะนำแบบนั้น ผมแทบอยากจะให้ฟุตบอลตายไปจากความรู้สึก ไม่อยากรับรู้อะไรทั้งนั้น มันเศร้าเกินกว่าที่คุณจะจินตนาการได้เมื่อฟุตบอลคือทุกอย่างของชีวิตคุณ แต่คุณกลับต้องล้มเลิกตั้งแต่ที่ยังไม่ได้เริ่มต้นแบบนี้” นาเกิลส์มันน์ กล่าว
ใครมาพูดอย่างไร นาเกิลส์มันน์ ก็ไม่สน ฟุตบอลตายจากเขาไปแล้วจริง ๆ หลังจากต้องแขวนสตั๊ดด้วยวัยเพียง 20 ปีเท่านั้น เขาเป็นเด็กหนุ่มที่กำลังหลงทางและมืดมนจนไม่รู้จะก้าวไปทางไหนต่อ แต่แล้วสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าความชื่นชอบก็มาเยือนเขาจนได้…
มันคือวันที่เขาต้องก้าวข้ามจากวัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ จากผู้อยู่ภายใต้การปกครองในครอบครัว ต้องลุกขึ้นมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเลี้ยงดูครอบครัวของตัวเอง วันนั้นเป็นวันที่พ่อของเขาเสียชีวิต และ นาเกิลส์มันน์ ใช้เวลาทบทวนทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไม่นาน เขาก็ค้นพบว่า เขาต้องเริ่มทำบางสิ่งที่จริงจังบ้างแล้ว…
สมองเพชร
เออร์วิน นาเกิลส์มันน์ พ่อของ ยูเลียน ป่วยและเสียชีวิตอย่างกะทันหันในปี 2007 ด้วยวัย 56 ปี วันนั้นคือวันที่ นาเกิลส์มันน์ ลุกขึ้นมาบอกกับตัวเองว่า ฟุตบอลคือสิ่งเดียวที่เขาทำได้ดีมาโดยตลอด และการอยู่ในวงการฟุตบอลนั้นไม่ได้มีแค่ในฐานะนักเตะเท่านั้น เส้นทางของการเป็นโค้ชของ นาเกิลส์มันน์ จึงได้เริ่มต้นขึ้น
“ถ้าฉันไม่สามารถโด่งดังในฐานะผู้เล่นได้ ฉันจะทำให้ตัวเองกลายเป็นโค้ชระดับบุนเดสลีกาแทน” นาเกิลส์มันน์ กล่าวกับ เทรสช์
Photo : www.tsg-hoffenheim.de
การสูญเสียพ่อทำให้ นาเกิลส์มันน์ ต้องเติบโตเร็วกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน เขาเริ่มลงทะเบียนเรียนหลักสูตรโค้ชฟุตบอล และได้รับโอกาสจาก อเล็กซานเดอร์ โรเซน ผู้อำนวยการกีฬาของ ฮอฟเฟนไฮม์ ทีมเล็ก ๆ ที่ ณ เวลานั้นเพิ่งจะเป็นน้องใหม่ในบุนเดสลีกา
โรเซน สัมภาษณ์ นาเกิลส์มันน์ และรู้ได้ว่าหนุ่มคนนี้มีจุดเด่นที่การผสมผสานของสติปัญญาที่เฉียบแหลมกับบุคลิกของการเป็นผู้นำ นอกจากนี้วิธีการสื่อสารที่เน้นความขำขันควบคู่กับการสอดแทรกสาระและการสั่งการ ทำให้เขาได้งานแรกเป็นการคุมทีมรุ่น ยู-16 ของ ฮอฟเฟนไฮม์ ทันทีหลังจากการสัมภาษณ์งานครั้งแรก
“ผมจ้าง ยูเลียน ตอนปี 2010 เห็นจะได้ เขาเป็นโค้ชรุ่น ยู-16 ก่อน หลังจากนั้นก็พาทีมคว้าแชมป์มาเรื่อย ๆ ผมขยับเขาไปคุมทีมรุ่น ยู-19 ในปี 2014 เขาก็ทำผลงานระดับแชมเปี้ยนได้เหมือนเดิม” โรเซน กล่าวถึงอดีตลูกน้องเก่า
“ตอนที่ผมเห็นเขาจับงาน ยู-19 ได้แบบเพอร์เฟกต์ ผมเริ่มคิดแล้วว่า ไอ้หมอนี่มันเอาอยู่แน่ ๆ ผมชักจะเชื่อมั่นในตัวเขาแล้ว เรื่องความเก่งไม่ต้องพูดถึง หมอนี่เฉียบขาดด้านการวางแผนและศึกษาเกมของทีมตัวเองและคู่แข่ง”
“แต่สิ่งที่ทำให้ผมคิดภาพว่าเขาจะไปได้ไกลคือวิธีการสั่งคนนี่แหละ เขาอาจจะอายุน้อยแต่เขาแสดงความคิดได้ฉลาด ทุกสิ่งที่เขาพูด ดูเหมือนว่าทุกคนในทีมจะเชื่อและซื้อความคิดของเขาเสียทุกครั้ง”
“หมอนี่เป็นคนที่จุกจิกมากและชอบแก้ไขรายละเอียดทุก ๆ เรื่องแม้จะดูเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ความรู้ด้านฟุตบอลที่สูงเหลือเชื่อทำให้เขาได้รับการประเมินจากเราด้วยเกรด A ตลอด และมันก็ถึงเวลาที่เราควรจะเสี่ยงกับเขาแล้ว” โรเซน กล่าว
5 ปี กับทีมชุดเยาวชน ฮอฟเฟนไฮม์ประกาศในปี 2015 ว่า นาเกิลส์มันน์ จะเป็นเฮดโค้ชทีมชุดใหญ่ในอีก 1 ปีข้างหน้า ตอนนั้นเขาอายุแค่ 28 ปี และวันที่ ฮอฟเฟนไฮม์ ประกาศข่าวอย่างเป็นทางการก่อนการรับงานจริงในฤดูกาล 2016-17 สื่อหลายเจ้าเริ่มเย้ยหยันและบอกว่า ทีม ๆ นี้หมดมุกถึงขนาดจะต้องแต่งตั้งโค้ชอายุ 28 เพื่อขายข่าวกันแล้ว
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าสื่อคิดถูกหรือผิด แม้ต้องเริ่มงานก่อนกำหนด เมื่อ ฮูบ สตีเว่นส์ กุนซือคนก่อนหน้าลาออกจากทีมด้วยปัญหาสุขภาพ แต่ นาเกิลส์มันน์ ก็เริ่มต้นงานในบุนเดสลีกาได้อย่างยอดเยี่ยม เขากู้สถานการณ์ในเลกสองของฤดูกาล 2015-16 จากที่รั้งอันดับ 17 รองบ๊วย มาจบที่อันดับ 15 รอดตกชั้นอย่างหวุดหวิด แต่ของจริงมาถึงในซีซั่น 2016-17 เมื่อ นาเกิลส์มันน์ พาทีม ฮอฟเฟนไฮม์ จบด้วยอันดับ 4 ของตาราง พาทีมไป ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นครั้งแรกของสโมสรได้สำเร็จ
เสียงวิจารณ์ทั้งหมดหายไป จากนั้นสิ่งที่ นาเกิลส์มันน์ ทำถูกจับตามองทุกฝีก้าวด้วยบริบทที่แตกต่างไปจากเดิมสิ้นเชิง จาก “โค้ช PR” กลายเป็น “ผู้เริ่มองค์ความรู้แห่งยุค” จากนั้นก็ได้เวลาที่ นาเกิลส์มันน์ จะปล่อยของออกมาเรื่อย ๆ ให้ทุกคนได้อ้าปากค้างยิ่งกว่าเดิม
อ่าน คิด วิเคราะห์ และ กล้าตัดสินใจ
สิ่งที่นำ นาเกิลส์มันน์ มาจนถึงทุกวันนี้ได้ต้องยกให้ในเรื่องความกระหายอยากของเขาเป็นจุดเด่น เนื่องจากเริ่มต้นได้สวยแล้ว สิ่งที่ยิ่งกว่านั้นคือการต่อยอดองค์ความรู้ให้เหนือขึ้นไปอีกระดับ
นาเกิลส์มันน์ ได้ออกแบบการฝึกซ้อมใหม่ ๆ ให้กับทีม เช่น Footbonaut ที่เป็นคล้าย ๆ กับห้อง ๆ หนึ่งที่มีประตูรอบ ๆ ห้อง โดยประตูต่าง ๆ จะมีลูกฟุตบอลพุ่งออกมาให้นักเตะที่ยืนอยู่ตรงกลางห้องได้ฝึกการใช้ทักษะการจับบอลจังหวะแรกให้ได้ จากนั้นจะมีไฟกะพริบจากประตูใดประตูหนึ่ง เพื่อเป็นสัญญาณให้นักเตะที่กำลังเข้าฝึกจะต้องจ่ายบอลเข้าประตูนั้นให้ได้ การซ้อมแบบนี้เกิดขึ้นที่ ฮอฟเฟนไฮม์ เป็นที่แรก และจากนั้นสโมสรระดับโลกหลายทีมก็นำไปใช้ตาม
นอกจากนี้เขายังเอาเทคโนโลยีมุมกล้องรอบทิศทางมาใช้ ด้วยการติดกล้องไว้ทั่วสนามทุกมุมมอง เพื่อให้เห็นความผิดพลาดทุกจุดของทีม จุดเด่นของกล้องทุกตัวจะยิงสัญญาณภาพขึ้นจอ และเขาจะสามารถกรอดูไปยังจุดที่เขาอยากจะเน้นเป็นพิเศษได้อีกด้วย
Photo : www.bundesliga.com
ในช่วงเวลาที่ศึกษาทั้งด้านแทคติกและเทคโนโลยี นาเกิลส์มันน์ ยังได้ลงเรียนในระดับปริญญาตรีเพิ่มเติมในสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการฝึกอบรม และจบการศึกษาด้วยการได้รับเกียรตินิยม นอกจากนี้เขายังเรียนไปในสาขาบริหารธุรกิจเพิ่มอีกด้วย แต่ก็ตัดสินใจลาออกก่อนที่จะเรียนจบเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น
เราคงไม่ต้องพูดอะไรกันให้มากมายอีกแล้วสำหรับเรื่องคุณวุฒิของ นาเกิลส์มันน์ ในความโชคร้ายที่บาดเจ็บจนต้องเลิกเล่นตอนอายุ 20 ปี เขาได้เปรียบโค้ชคนอื่น ๆ ตรงที่ได้เริ่มศึกษาและมีเวลาเรียนรู้งานสำคัญ ๆ ในวงการฟุตบอลเร็วกว่า เริ่มเติบโตขึ้นทีละสเต็ป และเห็นสิ่งที่ยังขาดหายในกลุ่มนักเตะตั้งแต่เยาวชนจนถึงทีมชุดใหญ่
นี่คือโค้ชมือทองผู้รับรางวัลโค้ชเยอรมันยอดเยี่ยมในปี 2016 เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็ใหญ่เกินกว่าจะอยู่กับ ฮอฟเฟนไฮม์ ต่อ จนได้ขยับขยายไปอยู่กับ แอร์เบ ไลป์ซิก ในปี 2019 ทำให้ทีมมีลุ้นแชมป์ลีกทุกปี แถมไปถึงรอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มาแล้วเมื่อฤดูกาล 2019-20
และอย่างที่เรารู้กัน ตอนนี้เขากำลังทำงานที่เสี่ยงที่สุดในประเทศเยอรมัน นั่นคือการเป็นกุนซือของสโมสร บาเยิร์น มิวนิค ทีมที่นักเตะซีเนียร์ในทีมส่วนใหญ่คือแข้งระดับโลก แถม มานูเอล นอยเออร์ กัปตันทีมยังมีอายุมากกว่าเขาเสียอีก
นี่คืองานที่เดิมพันอนาคตของ นาเกิลส์มันน์ เลยก็ว่าได้ เพราะสิ่งที่ยากที่สุดในการคุม บาเยิร์น มิวนิค คือการต้องรับมือกับวัฒนธรรมองค์กรที่มีเรื่องยิบย่อยต่าง ๆ มากมาย กุนซือหลายคนตกม้าตายกับเรื่องนี้ทั้ง คาร์โล อันเชล็อตติ หรือ แม้กระทั่ง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ดังนั้น นาเกิลส์มันน์ จะต้องเอาทุกสิ่งที่เขามีและเคยได้เรียนรู้กางตำราออกมาใช้แบบไม่กั๊กกับงานชิ้นนี้
เอาชนะระบบ Seniority
Seniority มีความหมายว่า ระบบอาวุโส และยังคงมีจริงในทุกสังคม แม้กระทั่งประเทศอย่างเยอรมันที่ถือคุณวุฒิเหนือกว่าสิ่งอื่นใด ยกตัวอย่างง่ายที่สุด คือการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศที่เป็นผู้หญิงอย่าง อังเกล่า แมร์เคิล ที่ดำรงตำแหน่งมาถึง 16 ปี สิ่งที่ทำให้เธอสามารถอยู่บนจุดสูงสุดของฝ่ายบริหารของประเทศได้คือ “คุณวุฒิ” ว่าด้วยวิธีการคิด การตัดสินใจ และการวางตัว ซึ่งทั้งหมดนี้จะยกมาเป็นตัวอย่างของการทำงานของ ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ กับ บาเยิร์น มิวนิค ก็ย่อมได้
คนเก่งอย่างเดียวไม่มีทางได้ใจลูกน้อง นาเกิลส์มันน์ เองก็โดดเด่นในเรื่องการละลายพฤติกรรม ทั้งการใช้อารมณ์ในช่วงนอกเวลางานและความจริงจังในเวลางาน แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือทุกอย่างจะถูกตัดสินจากผลงานในบั้นปลาย
นาเกิลส์มันน์ เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ของบุนเดสลีกาว่า เขาพยามฝึกทักษะการควบคุมคนในฐานะผู้นำมาตลอด เขาลงเรียนปริญญาตรีด้านการจัดการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มพูนสิ่งนี้ นอกจากนี้ยังมีภาคปฏิบัติที่เขาคิดค้นขึ้นเองเช่นการ “ฝึกม้า” โดย นาเกิลส์มันน์ บอกว่า นับตั้งแต่ที่เขาเข้าวงการฝึกม้าจริงจัง สิ่งที่เขาได้มาคือทักษะการรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นจากสายตา
“ผู้คนจะตัดสินคุณจากภายนอก นั่นคือสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ต่อให้เขาไม่พูดแต่คุณย่อมรับรู้ถึงสิ่งนั้นได้ ทักษะการรับรู้ความคิดความอ่านของคนอื่นนั้น ผมได้มาจากการฝึกม้าเยอะพอสมควร ม้า เหมือนคนอยู่หนึ่งอย่าง นั่นคือพวกมันจะทำตามหน้าที่ที่ผู้ขี่มันสั่ง แต่จะเต็มใจทำหรือไม่นั้น คุณต้องดูจากสายตาของพวกมันเอาเอง … บางครั้งพวกมันหน้าบึ้ง, บางครั้งมันทำเสียงเหมือนขู่ แต่ละตัวมีวิธีแสดงออกหลังจากรับคำสั่งแตกต่างกันออกไป สิ่งที่คุณต้องทำให้ได้คือ ไม่ว่ามันจะคิดเช่นไร คุณต้องทำให้ฝูงขับเคลื่อนให้ได้ตามคำสั่งของคุณ” เขากล่าวเริ่ม ซึ่งการเรียนฝึกม้าของ นาเกิลส์มันน์ จะต้องควบคุมม้าถึงครั้งละ 6-7 ตัวเลยทีเดียว
หากให้เปรียบเทียบ คงคล้าย ๆ กับการสั่งการและสอนนักเตะในทีมถึงสิ่งที่เขาต้องการ ที่ ฮอฟเฟนไฮม์ และ ไลป์ซิก เขาอาจจะไม่ต้องออกแรงอ่านใจและหาวิธีสั่งการให้ทุกคนเห็นไปทางเดียวกันมากมายนัก แต่ที่ บาเยิร์น นี่คือทีมที่อัดแน่นไปด้วยนักเตะระดับโลก 11 ตำแหน่ง พวกเขาผ่านการโค้ชชิ่งมาจากยอดโค้ชหลายคน สิ่งที่ นาเกิลส์มันน์ ต้องทำ คือการจับสังเกตลักษณะแต่ละคนให้ดีว่า ชอบการพูดแบบไหน การสอนอย่างไร เพื่อให้พวกเขาได้ซึบซับสิ่งที่ นาเกิลส์มันน์ สอนให้เกิดผลกระทบแง่บวกในฐานะทีม
วิธีที่ นาเกิลส์มันน์ ใช้มาโดยตลอด คือการสอนนักเตะให้รู้เรื่องให้เข้าใจแผนตั้งแต่การซ้อมทีม เขาจะจุกจิกในช่วงเวลาการทำงานมาก ๆ เพื่อให้นักเตะทุกคนเกิดความเข้าใจ สามารถเล่นตามระบบของทีมได้แบบอัตโนมัติโดยที่เขาไม่ต้องออกแรงสั่งซ้ำในวันแข่งขันจริง มีเพียงแอปพลิเคชันที่จำลองวิธีการเล่นด้วยแอนิเมชันเพื่อให้นักเตะได้เปิดดูเองหากยังไม่เข้าใจเท่านั้น
นาเกิลส์มันน์ เชื่อว่าการสั่งให้รู้เรื่องตั้งแต่ตอนฝึกจะช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายกว่า และในช่วงเวลาก่อนแข่งขัน เขาจะให้นักเตะอยู่กับตัวเองให้มากที่สุด ทบทวนสิ่งที่ตัวเองต้องทำให้ดี โดยที่เขาจะไม่เข้าไปยุ่มย่ามให้รกสมองจนมากเกินไป … นักเตะที่มีคุณภาพและมีความเป็นมืออาชีพจะชอบแบบนี้มากกว่า และจะแสดงผลงานได้ดีกว่าการสั่งกันแบบชอตต่อชอต ในความคิดของเขา
“ผมชอบคุยกันให้รู้เรื่องก่อนสำหรับเรื่องของแผนการ บางทีก็ 2 วันก่อนเกมจะมาถึง เพราะเชื่อว่ามันได้ผลกว่า ในเวลาก่อนเกมเริ่ม และตอนนักเตะวอร์มอัพผมจะพูดกับพวกเขาน้อยมาก บางครั้งผมก็เล่าเรื่องอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเรื่อยเปื่อยในห้องแต่งตัว ผมพูดเพราะผมรู้ว่านักเตะแค่คาดหวังให้ผมทำแบบนั้นในฐานะโค้ช แต่จริง ๆ แล้วไม่มีอะไรหรอก มันเป็นเหมือนพิธีกรรมมากกว่า พวกเขามีทุกอย่างที่ผมสอนอยู่ในหัวแล้ว” นาเกิลส์มันน์ ว่าไว้
ทำงานให้เยอะ พูดให้น้อย สื่อสารเน้น ๆ เข้าใจธรรมชาติของคนแต่ละคน คือวิธีการทำงานหลัก ๆ ของ นาเกิลส์มันน์ ในการปกครองนักเตะของเขา นอกจากนี้สิ่งสุดท้ายคือการรักษาบรรยากาศในห้องแต่งตัวด้วยอารมณ์ขันอยู่เสมอ และไม่มองข้ามเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะรบกวนจิตใจนักเตะ เช่น นาเกิลส์มันน์ จะไม่ประกาศรายชื่อ 11 ตัวจริง จนกระทั่งนักเตะเดินทางมาถึงสนามแข่งและเข้าห้องแต่งตัวกันครบทุกคน
เหตุผลที่เขาทำแบบนั้นเพราะต้องการให้นักเตะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาและคิดว่าตัวเองจะได้ลงเล่น ไม่เช่นนั้นหากนักเตะบางคนรู้ว่าพวกเขาจะต้องเป็นตัวสำรองในเกมที่กำลังจะมาถึง นักเตะเหล่านั้นอาจจะนอนดึก พักผ่อนน้อย และส่งผลต่อการแข่งขันได้ อะไรแบบนี้เป็นต้น
สุดท้ายและท้ายสุด คือการซื้อใจนักเตะให้ยอมทำงานหนักเพื่อทีมด้วยการแสดงออกให้ลูกน้องตัวเองเห็นว่าเขาเองก็ทำงานหนักไม่แพ้กัน นับตั้งแต่ที่ นาเกิลส์มันน์ รับงานที่ที่ บาเยิร์น เขาจะทำกิจวัตรซ้ำ ๆ เดิม ๆ ทุกวันจากการเปิดเผยของเว็บไซต์ Bavarian Football Works ว่า
“ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ ทำงานหนักตั้งแต่วินาทีแรกหลังเซ็นสัญญา เขาเข้ามาทำงานที่สนามฝึกซ้อมตอน 7:45 น ในตอนเช้า และกลับบ้านอย่างเร็วที่คือตอนประมาณ 3 ทุ่ม เขาทำงานต่อวันอยู่ที่ 12-13 ชั่วโมง”
นาเกิลส์มันน์ ทำให้ทุกคนเห็นภาพของการทำงานของเขาชัดเจนไม่ว่าจะเป็นนักเตะหรือสตาฟโค้ช เขาทำแม้กระทั่งการออกแบบห้องแต่งตัวใหม่ บันทึกการประชุมทีมด้วยแอปพลิเคชันที่สั่งทำมาเป็นพิเศษที่ชื่อว่า “Hudl” การสั่งเซตกล้องเพื่อบันทึกภาพการซ้อม การบอกสิ่งที่สตาฟโค้ชและเจ้าหน้าที่แต่ละคนถึงหน้าที่ที่ตัวเองต้องทำ
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทุกวันกับทุกสโมสร ไม่ใช่แค่ที่บาเยิร์นเท่านั้น … มันน่าจะพอทำให้ใครหลายคนเคารพเขาในฐานะคนทำงาน ไม่ใช่เรื่องของอายุ และอย่างน้อย ๆ การทำงานหนักของเขาถึงกับทำให้ โธมัส มุลเลอร์ และ แซร์จ นาบรี้ 2 นักเตะทีมชาติเยอรมัน ยอมหั่นวันพักร้อนเพื่อกลับมารายงานตัวกับทีมก่อนฤดูกาลจะเริ่มต้นด้วยซ้ำ
การก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าคนต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์และจะต้องเอามาผสมกันให้ดี อย่าให้สิ่งใดมากเกินไป และอย่าหลงลืมสิ่งไหนจนน้อยเกินไป และนี่คือเรื่องจริงที่สะท้อนผ่านการทำงานของกุนซือคนหนุ่มที่พยายามทำหน้าที่อย่างแข็งขันและพยายามพิสูจน์ตัวเอง จนได้ความเคารพในแบบที่เขาไม่ต้องเอ่ยปากร้องขอจากใคร