อาการไข้หวัดใหญ่ อาจเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนได้ หากไม่ได้รักษากับหมอ

Home » อาการไข้หวัดใหญ่ อาจเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนได้ หากไม่ได้รักษากับหมอ
อาการไข้หวัดใหญ่ อาจเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนได้ หากไม่ได้รักษากับหมอ

นพ.ตุลย์ สุนาถวนิชย์กุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า ไข้หวัดใหญ่ ดูเผินๆ แล้ว เหมือนจะมีอาการที่มากกว่าไข้หวัดทั่วๆ ไปเพียงเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้เกิดอาการรุนแรง เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือทำให้ผู้ป่วยบางรายเสียชีวิตได้  ดังนั้นไข้หวัดใหญ่จึงไม่ใช่แค่อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ทุกคนจะรอให้หายเองได้ หากแต่ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการของตนเองและควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องอย่างเร็วที่สุด เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงของโรค และลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ทำให้เกิดอาการรุนแรง ภาวะแทรกซ้อน หรือเสียชีวิตได้ บุคคลที่ต้องระวังอย่างมาก คือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ แม่หลังคลอด 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม และผู้พิการทางสมอง กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ก็มีโอกาสเป็นไข้หวัดใหญ่ได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า และมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยที่มีโรคปอดหรือถุงลมโป่งพองจะเสี่ยงเพิ่มขึ้น 100 เท่าเทียบกับคนปกติ ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจเสี่ยงเพิ่มขึ้น 50 เท่า และผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงเพิ่มขึ้น 5-10 เท่า

7 กลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่

กลุ่มที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอันตรายที่สูงกว่าคนทั่วไป เรียกว่า กลุ่มเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วย

  • เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ
  • ผู้สูงอายุ มากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงคุณแม่หลังคลอด 2 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคตับเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง ฯลฯ
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ได้รับยากดภูมิหรือยาเคมีบำบัด
  • ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม
  • ผู้มีความพิการทางสมอง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่

โดยภาวะแทรกซ้อนทั่วๆ ไปของโรคไข้หวัดใหญ่ ที่พบได้บ่อย ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ส่วนภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบได้มาก ได้แก่ โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม ซึ่งโรคนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงและเสี่ยงเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคปอดหรือถุงลมโป่งพองอยู่แล้ว จะเสี่ยงเพิ่มขึ้น 100 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ จะเสี่ยงเพิ่มขึ้น 50 เท่า และเสี่ยงเพิ่มขึ้น 5-10 เท่าในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากคนที่มีโรคประจำตัว มักมีภูมิคุ้มกันแปรปรวนทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีเท่ากับคนปกติ ส่วนในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ก็มีโอกาสเกิดไข้หวัดใหญ่ได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า ซึ่งมักมีอาการรุนแรง และสามารถส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ เช่น การคลอดก่อนกำหนด การแท้ง รวมทั้งอาจรุนแรงจนเสียชีวิตทั้งแม่และลูกได้

ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ้าง ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ และสมองอักเสบ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยทุกคนไม่เฉพาะแต่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา อย่ารอให้อาการหนัก เพราะยิ่งรอก็ยิ่งทำให้เสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนที่มากขึ้นทุกวินาที


ควรรักษาไข้หวัดใหญ่ ก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาไข้หวัดใหญ่ได้รวดเร็วและทันท่วงทีขึ้น ก็คือ ที่ให้บริการผ่านวิดีโอคอลคุยออนไลน์กับแพทย์ ทำให้การพบแพทย์เป็นเรื่องง่ายขึ้น และสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา

การเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่รวดเร็วนั้น ไม่เพียงแต่ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยทุกคนไม่ต้องทนทรมานกับอาการไข้หวัดใหญ่ ทั้งอาการปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน รวมทั้งลดโอกาสแพร่เชื้อสู่คนรอบข้าง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วมากขึ้นด้วย

อาการไข้หวัดใหญ่

  • มีไข้สูง
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • คัดจมูก
  • น้ำมูกใส
  • ไอแห้ง

วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่

  1. ล้างมือให้สะอาด
  2. สวมหน้ากากอนามัย
  3. หลีกเลี่ยงชุมชนแออัด
  4. ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ (ฉีดวัคซีน 1 เข็ม ทุกปี)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ