ผลการศึกษาทางจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์ชิ้นล่าสุด ซึ่งลงตีพิมพ์ในวารสาร Nature Reviews Neuroscience ชี้ว่าการหลงลืมเป็นครั้งคราวของคนปกติทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคสมองเสื่อมนั้น ไม่ใช่การสูญเสียความทรงจำ แต่แท้จริงแล้วเป็นกลไกการเรียนรู้แบบหนึ่งของสมอง ซึ่งจะช่วยให้คนเราสามารถดำเนินชีวิตได้ดีขึ้น
ผลการศึกษาทางจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์ชิ้นล่าสุด ซึ่งลงตีพิมพ์ในวารสาร Nature Reviews Neuroscience ชี้ว่าการหลงลืมเป็นครั้งคราวของคนปกติทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคสมองเสื่อมนั้น ไม่ใช่การสูญเสียความทรงจำ แต่แท้จริงแล้วเป็นกลไกการเรียนรู้แบบหนึ่งของสมอง ซึ่งจะช่วยให้คนเราสามารถดำเนินชีวิตได้ดีขึ้น
แนวคิดใหม่ที่พลิกตำราวิชาการด้านสมองและความทรงจำนี้ เสนอโดย รศ.ดร. โทมัส ไรอัน จากมหาวิทยาลัยทรินิตี คอลเลจ ดับลิน ของไอร์แลนด์ และศาสตราจารย์พอล แฟรงค์แลนด์ จากมหาวิทยาลัยโทรอนโตของแคนาดา
- นักจิตวิทยาเผยสาเหตุสมองหยุดชะงัก “ยืนงงหน้าประตู ไม่รู้มาทำอะไรที่นี่”
- นักประสาทวิทยาชี้เด็กยุคอินเทอร์เน็ตไอคิวต่ำกว่าพ่อแม่
- หมอชาวอเมริกันสูญเสียความทรงจำจากอาการ “ลองโควิด”
พวกเขาชี้ว่าการหลงลืมในบางครั้งนั้น ไม่ได้เกิดจากสมองทำงานผิดพลาด แต่การลืมข้อมูลที่ไม่สำคัญไปบ้างจะช่วยให้คนเรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยืดหยุ่นและมีพลวัต สามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นโดยสอดคล้องกับสภาพการณ์รอบตัวที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
รศ. ไรอันอธิบายว่า “อาการหลงลืมป้ำเป๋อที่เกิดขึ้นตามปกตินั้น ไม่ใช่ว่าสมองจะสูญเสียความทรงจำไปอย่างถาวร แต่เป็นเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทางและวิธีเข้าถึงความทรงจำนั้นต่างหาก”
“ความทรงจำของคนเราเก็บอยู่ในกลุ่มเซลล์ประสาทสมองที่มีการจัดเรียงตัวเป็นแบบแผน หรือที่เรียกว่าเอ็นแกรมเซลล์ (engram cell) เมื่อคนเราหลงลืมข้อมูลบางอย่าง นั่นเป็นเพราะสมองไม่อาจจะเข้าถึงข้อมูลที่เก็บไว้ โดยไม่อาจกระตุ้นให้เอ็นแกรมเซลล์ที่เกี่ยวข้องทำงานได้ชั่วคราว เหมือนกับการลืมรหัสเปิดตู้เซฟ”
อย่างไรก็ตาม รศ. ไรอันบอกว่า ความทรงจำที่เรียกใช้ไม่ได้ชั่วคราวก็ยังคงอยู่ในเซลล์โดยไม่สูญหายไปไหน และจะเรียกกลับคืนมาได้ในภายหลัง ดังนั้นการหลงลืมในกรณีนี้ไม่ถือเป็นความเสียหายของข้อมูล แต่เป็นกลไกปกติของสมองซึ่งคล้ายกับวงจรไฟฟ้าที่มีการจัดระเบียบใหม่อยู่เสมอ เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การลืมเรื่องบางอย่างจึงเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการเรียนรู้นี้
ด้าน ศ. แฟรงค์แลนด์ กล่าวเสริมว่า “แม้เราจะเชื่อว่าการหลงลืมตามปกตินี้สามารถแก้ไขได้ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง แต่อาการหลงลืมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอย่างเช่นโรคอัลไซเมอร์นั้นต่างออกไป กลไกการจดจำและการลืมข้อมูลไปชั่วขณะถูกขัดขวาง ทำให้สมองของผู้ป่วยเข้าถึงแหล่งเก็บความทรงจำไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ จนสูญเสียความทรงจำในระดับที่เรียกได้ว่าป่วยเป็นโรคแล้วนั่นเอง”
………………………………………
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว