อย.เตือนเปิบ “แมลงทอด” คนเป็นภูมิแพ้ควรเลี่ยง เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แนะต้องปรุงสุกก่อน เลือกซื้อจากสถานที่ถูกสุขลักษณะ สังเกตอาการหลังกิน
วันที่ 27 มี.ค. 2566 นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้รับประทานแมลงทอดแล้วเกิดอาการแพ้รุนแรงนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใย เนื่องจากกระแสความนิยมรับประทานแมลงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีรายงานว่า แมลงรับประทานได้นั้นอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ มีกรดไขมันที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
นพ.วิทิต กล่าวต่อว่า แมลงที่นิยมรับประทาน เช่น ดักแด้ หนอนไหม ตั๊กแตนแคระ หนอนไม้ไผ่ แมงดานา จิ้งหรีด เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม อาจทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงจากการรับประทานแมลง เช่น การแพ้จากฮีสตามีน (Histamine) แม้ว่าได้รับในปริมาณเพียงเล็กน้อย ร่างกายอาจตอบสนองเร็วกว่าคนอื่น ทำให้มีอาการผิวหนังอักเสบ มีผื่นคัน ชาหรือคันบริเวณริมฝีปาก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน หอบหืด หรืออาจถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต
นพ.วิทิต กล่าวอีกว่า สำหรับปริมาณฮีสตามีนที่พบในดักแด้ หนอนไหม อาจมากถึง 875 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) หรือถ้าอาหารนั้นมีการปนเปื้อนแบคทีเรียบางชนิดที่สามารถเปลี่ยนกรดอะมิโนฮีสติดีนไปเป็นฮีสตามีนได้
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากสารกำจัดศัตรูพืช เช่น อาจพบสารกลุ่มคาร์บาเมตในตั๊กแตนทอด ซึ่งอาการขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดพิษ เช่น อาการปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก อาเจียน ท้องเสีย กล้ามเนื้อสั่น ม่านตาหด ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยทันทีจะเสียชีวิตในที่สุด
“การแพ้อาหารเป็นลักษณะเฉพาะของบุคคล หากผู้บริโภคเป็นโรคภูมิแพ้ หรือมีประวัติเป็นภูมิแพ้หรือหอบหืด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแมลง สำหรับผู้บริโภคทั่วไปสามารถรับประทานผลิตภัณฑ์แมลงได้ แต่ควรสังเกตตนเองเมื่อรับประทานแมลงชนิดใดแล้วเคยมีอาการผิดปกติภายใน 2-7 ชั่วโมง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแมลงชนิดนั้นวิธีรับประทานแมลงทอดให้ปลอดภัย”
นพ.วิทิต กล่าวต่อว่า สำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่มีอาการแพ้ สังเกตว่าแมลงทอดดังกล่าวเป็นแมลงที่รู้จักกันทั่วไปหรือไม่ ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน หรือเลือกซื้อจากแหล่งผลิต หรือแหล่งจำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะ
สำหรับผลิตภัณฑ์จากแมลง หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของแมลงในภาชนะบรรจุ จะต้องแสดงฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ เช่น ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร สูตรส่วนประกอบ ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า วันเดือนปีที่ผลิต หรือควรบริโภคก่อน และข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร เป็นต้น
รองเลขาธิการ อย. กล่าวอีกว่า หากพบผลิตภัณฑ์ที่น่าสงสัย หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนที่สายด่วน อย. โทร 1556 หรือ E-mail: [email protected] หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อ อย.จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดต่อไป