พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์รายการเรื่องเล่าเช้านี้ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3HD เมื่อวันจันทร์ (31 พ.ค.) ว่าขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ยังซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาให้ประชาชนในพื้นที่ตนฉีดไม่ได้ เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่อนุญาต
รัฐมนตรีรายนี้กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่า “ระยะแรก” นี้ควรให้รัฐบาลและหน่วยงานส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการก่อน
เมื่อเดือน ก.พ. ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือแจ้งเตือนไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจริง ว่ายังไม่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนซื้อวัคซีนเอง โดยข้อความตอนหนึ่งระบุถึงสาเหตุที่ไม่ให้ซื้อว่าเป็นเพราะวัคซีนมีจำกัด และเชื่อว่าการให้หน่วยงานส่วนกลางดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวนั้น จะทำให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนมากกว่า
“วัคซีน COVID-19 มีปริมาณจำกัด ประกอบกับเพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งเกิดความปลอดภัยกับผู้ได้รับวัคซีนอย่างสูงสุด จึงขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เตรียมจัดซื้อวัคซีน COVID-19 ได้รับทราบและเข้าใจว่า ในระยะแรกนี้ ภาครัฐเท่านั้นที่จะดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน“
ทั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ระบุว่าระยะแรกสิ้นสุดเมื่อใด
- เทศบาล ยังซื้อวัคซีนโควิดไม่ได้! ผู้ตรวจการแผ่นดินบล็อกหน้าเน็ต ให้ส่วนกลางซื้อก่อน
จริงๆ แล้วมีสิทธิ์ซื้อ
พล.อ.อนุพงษ์ เผยว่า ที่จริงแล้วหากว่ากันตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิ์ซื้อวัคซีนโควิด-19 มาให้ประชาชนได้ เพราะมีหน้าที่ “ช่วยเหลือ” รัฐบาลและหน่วยงานรัฐส่วนกลางในการสร้างสุขภาวะที่ดีแก่ประชาชน แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าขณะนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีความกังวลต่อการกระจายวัคซีนและความปลอดภัย ทั้งยังมีความกังวลจากหลายฝ่ายในประเด็นอื่นด้วย
หวั่นเหลื่อมล้ำวัคซีน
พล.อ.อนุพงษ์ ยังอ้างความเห็นของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่กังวลว่าจะมีเพียงองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่หรือที่มีงบประมาณมากเท่านั้นที่จะจัดหาวัคซีนให้ประชาชนได้ และจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีน
พล.อ.อนุพงษ์ มองว่า สุดท้ายแล้ว การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพยายามจัดซื้อวัคซีนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) เสียก่อนด้วย
“ถ้าสมมติว่ามีการจ่ายจัดวัคซีนของทางรัฐออกไปของทาง ศบค. ที่เราทราบอยู่ ในขณะนี้ก็มีทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคเนี่ยนะครับ ถ้าเราจ่ายไปเนี่ยนะครับ ก็จะเกิดความในบางที่ก็อาจจะได้มากเกินไป ในบางที่ก็จะไม่ได้” พล.อ.อนุพงศ์ กล่าวผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้
“แล้วเขาก็จะได้มาก แล้วก็ไปดูแลคน ประชาชนก็จะเกิดความ พูดง่ายๆ นะ เหลื่อมล้ำ”
“เพราะฉะนั้นดูจากกฎหมายและดูจากสถานการณ์เนี่ย อย่างไรก็ต้องให้ ศบค. พิจารณาว่าพ้นระยะแรกรึยังที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับภาคเอกชนเนี่ยเข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือก หรือว่ามาเสริม มาสนับสนุนทางฝ่ายรัฐ ในกรณีที่คิดว่าถ้าอยู่ในความสามารถที่ทำได้ ก็น่าจะต้องให้ทาง ศบค. มีแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไร”
ผู้ผลิตยอมให้ท้องถิ่นซื้อตรงหรือไม่
อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็น คือ ผู้ผลิตวัคซีน 2 ราย คือ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโมเดอร์นา จะยอมให้เอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซื้อวัคซีนโดยตรงหรือไม่ หากผู้ผลิตทั้ง 2 รายนี้ต้องการให้ซื้อวัคซีนผ่านหน่วยงานของรัฐบาลส่วนกลางเท่านั้น เอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็อาจจะยังซื้อไม่ได้