'อนุดิษฐ์' ชี้เคส "นกแอร์" ส่อกระทบความมั่นคงการบินไทย ลั่นคืนเดียวควรเสร็จ

Home » 'อนุดิษฐ์' ชี้เคส "นกแอร์" ส่อกระทบความมั่นคงการบินไทย ลั่นคืนเดียวควรเสร็จ


'อนุดิษฐ์' ชี้เคส "นกแอร์" ส่อกระทบความมั่นคงการบินไทย ลั่นคืนเดียวควรเสร็จ

‘อนุดิษฐ์’ ชี้เคส “นกแอร์” ส่อกระทบความมั่นคงการบินไทย หวั่นติดธงแดง สูญเสียมหาศาล ซัดการจัดการแย่มาก ลั่นคืนเดียวควรเสร็จ

จากกรณีเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินนกแอร์ประสบเหตุไถลออกนอกทางวิ่ง ขณะที่นักบินกำลังนำเครื่องบินลงจอด ณ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ออกประกาศผู้ทำการในอากาศ แจ้งปิดให้บริการไปจนถึงวันที่ 3 ส.ค. 2565 และจะกลับมาเปิดให้บริการปกติในวันที่ 4 ส.ค. นั้น

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า “เชื่อหรือไม่? เรื่อง นกแอร์ ลื่นไถลตกรันเวย์ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 65 อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านการบินของไทย ได้เลย!”

“น้ำผึ้งหยดเดียวแท้ๆ เพราะการทิ้งผู้โดยสารอยู่บนเครื่องเป็นชั่วโมง กำลังสะท้อนข้อเท็จจริงว่า ท่าอากาศยานระดับนานาชาติของประเทศไทย ขาดมาตรฐานและเครื่องมือ อุปกรณ์กู้ภัยต่างๆ หรือไม่? หรือการปิดสนามบินยาวถึง 5 วัน เพื่อทำการกู้เครื่องบินที่เกิดอุบัติการณ์ลื่นไถลออกนอกทางวิ่ง กำลังสะท้อนถึงมาตรฐานของท่าอากาศยานที่ขาดอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับจัดการกับอากาศยานใช่หรือไม่?”

“ผมต้องเรียนว่า การให้บริการด้านการบินเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญในการรักษามาตรฐานด้านต่างๆ และหน่วยงานรับผิดชอบต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานที่องค์กรการบินระหว่างประเทศ (ICAO)กำหนดไว้ โดยเฉพาะมาตรฐานด้านความปลอดภัย”

“ถ้าสายการบิน ท่าอากาศยานระดับนานาชาติ และหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่ำกว่าระดับสากล หากถูกตรวจสอบพบโดย ICAO ว่ามันไม่ได้มาตรฐานจริงๆ เขาก็จะมีมาตรการในระดับต่างๆ มาบังคับใช้กับประเทศนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยเคยโดนมาตรการรุนแรงคือการ “#ติดธงแดง”​ มาแล้ว”

“ใครอยู่ในแวดวงการบินจะทราบดีว่า การติดธงแดงมีผลกระทบกับธุรกิจการบิน และประเทศจะต้องสูญเสียรายได้และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นมูลค่ามหาศาลแค่ไหน ที่แน่ๆ เครื่องลำเดียวไถลออกนอกทางวิ่ง ปิดสนามบิน 5 วัน ทั้งๆ ที่คืนเดียวน่าจะเสร็จเรื่อง เสียหายไม่รู้เท่าไหร่ แล้วโปรดอย่าไปโยนความผิดใส่กัน จนประชาชนสับสนไปหมดแล้วว่าใครรับผิดชอบกันแน่ เพราะข้อมูลที่สื่อสารกลายเป็นเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น”

“ผมสมมติแล้วกัน สมมติว่ามีสายการบินสัญชาติไทยไปไถลออกนอกทางวิ่งที่สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต ท่านผู้อ่านคิดว่าท่าอากาศยานแฟรงก์เฟิร์ตเขาจะรอให้ใครมากู้ หรือเขาจะเป็นคนกู้ คำตอบนี้ชัดเจนว่า คงไม่มีใครปิดสนามบิน 5 วันเพื่อรอให้ใครมากู้ แต่ท่าอากาศยานแฟรงก์เฟิร์ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมต้องรีบกู้ให้เร็วที่สุด เพื่อรีบเปิดสนามบินให้กลับมาใช้งานได้ต่อไป”

“ดังนั้นที่สนามบินแม่ฟ้าหลวง ผมเลยต้องตั้งคำถามไปยัง ทอท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ร่ำรวยระดับต้นๆ ของประเทศว่า ทำไมต้องไปยืมอุปกรณ์จากกรมท่าอากาศยาน ? ตัวเองไม่ลงทุนเตรียมการอะไรไว้เลยหรืออย่างไร ? แล้วกรมท่าอากาศยาน จะมีเครื่องมือหนักได้อย่างไร? สุดท้ายก็ต้องไปยืมจากศูนย์ซ่อมใหญ่ของการบินไทย ที่ ทอท.กำลังไล่บีบเค้าออกจากพื้นที่นั่นแหละ”

“การปฏิบัติเมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ในความเป็นจริง ICAO มี Annex เกี่ยวกับการปฏิบัติเรื่องนี้อยู่ทั้ง Airport และ Airline เรื่องมาตรฐาน ICAO ที่กำหนดให้หน่วยในธุรกิจการบินต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดนั้น ต้องรีบทบทวนแล้วครับว่า หน่วยงานรับผิดชอบของไทยได้ใส่ใจในการปฏิบัติตามข้อบังคับที่เขียนกำหนดไว้หรือไม่?”

“เหตุการณ์นี้ต้องยอมรับกันได้แล้วว่า “Aerodrome Crisis Management” แย่มากจริงๆ ระเบียบ กฎหมาย ข้อไหนมันไม่ทันสมัย ล้าหลัง และไม่เป็นสากล ควรจะหยุดบังคับใช้ได้แล้ว การปิดสนามบินอินเตอร์ 5 วันเป็นเรื่องที่…มากครับ อย่าปัดภาระตนเองนะครับ ทั้ง CAAT และ AOT ผิดแล้วอย่าให้ผิดอีก”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ