อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยืนยันงานวิจัยสารสกัดฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิดของนักวิจัยไทยไม่ได้ถูกปฏิเสธ หรือถูกส่งคืนกลับมาจากวารสารทางการแพทย์ แต่ขอถอนงานวิจัยกลับมาชั่วคราวเท่านั้น เพราะตรวจพบข้อผิดพลาดเรื่องตัวเลขเล็กน้อย 1 ตำแหน่ง และจะเสนอกลับเข้าไปใหม่
วันนี้ (9 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงว่า งานวิจัยฟ้าทะลายโจรเป็นงานวิจัยศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรสกัดในผู้ป่วยที่เป็นโควิดอาการไม่รุนแรงและเป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างที่มีการเปรียบเทียบกัน ที่นักวิจัยของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แต่ระหว่างนั้นพบปัญหาข้อมูลบางอย่าง จึงขอดึงข้อมูลมาแก้ไขให้ถูกต้องก่อน
โดยเรื่องทั้งหมด นักวิจัยไทยเพียงแต่ขอถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจรกลับมาเป็นการชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากพบข้อผิดพลาดเรื่องตัวเลขเล็กน้อย 1 ตำแหน่ง และจะเสนอกลับเข้าไปใหม่ ยืนยันว่า ไม่ได้ถูกปฏิเสธหรือถูกส่งคืนกลับมาจากวารสารทางการแพทย์ โดยเนื้อหาผลการวิจัยเกือบทั้งหมดยังคงเป็นไปตามรายงานฉบับแรกที่ถอนกลับมา และหากปรับปรุงตัวเลขดังกล่าวให้ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว จะส่งกลับไปตีพิมพ์วารสารเดิมต่อไป
ทั้งนี้ พญ.อัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรของไทย ยังมีแนวโน้มที่ดีที่จะได้ผลในการรักษาผู้ป่วยโควิดอาการน้อยอยู่ แต่ในปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่าสามารถฆ่าไวรัสโคโรนา หรือ รักษาโควิดได้โดยตรง จึงมีการทดลองและเก็บข้อมูลการใช้ยาชนิดต่างๆ ที่คาดว่าจะใช้รักษาโควิดได้ เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) ยาเรมเดสซิเวียร์ (remdesivir) และสมุนไพรฟ้าทะลายโจร
ในประเทศไทยนั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมถึงอีกหลายหน่วยงานได้หยิบสมุนไพรไทยฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีผลในระดับห้องทดลองที่ทำการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการทดลองใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อย และพบว่ามีแนวโน้มที่ได้ผลดี โดยเฉพาะลดการพัฒนาของโรคไม่ให้เดินหน้ารุนแรงขึ้นจนมีภาวะปอดอักเสบ
ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยและทำการทดลองในมนุษย์ เป็นการสุ่มแบบแบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มที่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นผู้ป่วยอยู่ในช่วงอายุ 18-60 ปี มีอาการโควิดเล็กน้อย กลุ่มแรกจะได้รับฟ้าทะลายโจรในการรักษา และอีกกลุ่มไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร แต่เป็นยาหลอก
จากการติดตามภาวะปอดอักเสบในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร 29 ราย พบผู้ป่วยทุกคนไม่มีอาการปอดอักเสบ แต่ในกลุ่มที่ได้ยาหลอกที่มีผู้ป่วย 28 ราย พบว่า มี 3 ราย มีภาวะปอดอักเสบ คิดเป็นร้อยละ 10.7 เมื่อคำนวณทางสถิติแล้วมีค่านัยสำคัญทางสถิติที่ P = 0.112 ในตัวเลขตรงนี้เอง คือ จุดที่คำนวณผิดในการส่งรายงานวิจัยในครั้งแรกที่ส่งไปในตัวเลข P = 0.03
เพราะความคลาดเคลื่อนในส่วนของค่านัยสำคัญทางสถิติ เกิดจากกลุ่มตัวอย่างที่ทำวิจัยมีจำนวนค่อนข้างน้อย ซึ่งการศึกษาวิจัยที่ทำมานั้นเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้มีการผลักดันการศึกษาและนำมาสู่การใช้ในปัจจุบัน
โดยนักวิจัยยังได้ศึกษาต่อสำหรับการคงอยู่ของเชื้อไวรัสในร่างกายหากรับสารสกัดฟ้าทะลายโจร พบว่า กลุ่มที่รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร 29 ราย มี 10 รายที่เชื้อไวรัสคงอยู่ ส่วนในกลุ่มที่รับยาหลอก 28 ราย พบ 16 ราย ที่เชื้อไวรัสยังอยู่ในวันที่ 5
จากข้อมูลการศึกษาดังกล่าวจึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ฟ้าทะลายโจรยังคงมีประสิทธิภาพในการรักษา ข้อมูลการศึกษาวิจัยยังพบอีกว่า การใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรไม่มีผลข้างเคียงต่อตับไตและระบบเลือด
สำหรับประเทศไทย ฟ้าทะลายโจรเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติมานานแล้วที่ช่วยในการลดอาการไข้ ต้านการอักเสบ ต้านไวรัสหลายชนิด กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังกล่าวถึงกรณีการดำเนินการศึกษายาฟ้าทะลายโจรจนนำมาสู่การปฏิบัติใช้ในปัจจุบัน โดยได้เริ่มมาตั้งแต่การศึกษาข้อมูลงานวิจัย ในช่วงกลางปี 2563 จนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับฟ้าทะลายโจรเข้าบัญชียาหลัก ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาประกาศขึ้นบัญชียาหลักในวันที่ 6 มิถุนายน 2564 จากนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาโควิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564
นอกจากการศึกษาวิจัยหลัก แล้วยังมีการศึกษาวิจัยในส่วนงานย่อยอีก เช่น การศึกษาสารสกัดฟ้าทะลายโจรกับกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงน้อย 539 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับฟ้าทะลายโจร 296 ราย พบปอดอักเสบ 71 ราย และกลุ่มที่ได้ฟ้าทะลายโจร 243 ราย มีปอดอักเสบ 1 ราย โดยผู้ป่วยจะได้รับยาฟ้าทะลายโจรปริมาณ 180 มิลลิกรัมต่อวันนาน 5 วัน
ในกลุ่มนี้ พบว่าเกิดภาวะปอดอักเสบน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร และยังพบอีกว่าการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วย 100 คน ป้องกันการเกิดภาวะปอดอักเสบได้ที่ 24 คน ซึ่งสอดคล้องกับการนำยาฟ้าทะลายโจรไปใช้ยังโรงพยาบาลสนามต่างๆ ในเรือนจำ และโรงพยาบาลบุษราคัม ที่พบว่า การได้รับยาฟ้าทะลายโจร สามารถป้องกันอาการภาวะปอดอักเสบได้ และช่วยให้ผู้ป่วยโควิชในระยะแรกเริ่ม มีอาการดีหายป่วยได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ประชุมมีมติคัดเลือกรายการยาจากสมุนไพรจำนวน 2 รายการ เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรและยาจากผงฟ้าทะลายโจร ที่มีข้อบ่งใช้บรรเทาอาการโรคหวัด ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล และอีกหนึ่งข้อบ่งใช้ คือ ใช้กับผู้ป่วยโควิดที่มีความรุนแรงน้อยเพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง
โดยในผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงแนะนำให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรได้ในการรักษาอาการ ซึ่งต้องมีขนาดยาปริมาณ Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งทาน 3 ครั้งต่อวัน ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน ส่วนในเด็กที่อายุ 4 ขวบขึ้นไป ต้องมีปริมาณ Andrographolide 3.5-5 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน
นอกจากนี้ พญ.อัมพร ยังย้ำถึงข้อห้ามในการใช้ฟ้าทะลายโจรในกลุ่มผู้ที่แพ้ยาฟ้าทะลายโจร เช่น กินแล้วมีผื่นขึ้น ปากบวม ตาบวม เป็นผื่นลมพิษ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ถึงแม้จะไม่มีงานวิจัยว่าส่งผลต่อโรคนี้โดยตรง แต่ตัวยาอาจจะไปทำลายตัวยาอื่นๆ ในการรักษาของโรคเหล่านี้ได้ เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีแนวโน้มจะทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง
สำหรับประชาชนที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือ ยาต้านเกล็ดเลือด ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น ในกลุ่มยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล และยาลดความดันโลหิต หากรับประทานร่วมกับยาฟ้าทะลายโจรอาจจะเกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือความดันต่ำลงได้
สำหรับจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศที่รับฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาอาการ มีทั้งสิ้น 107,728 คน โดยเป็นข้อมูลที่รวบรวมถึงวันที่ 29 มิ.ย. 64