อ.เจษฎ์ เฉลยรูปชายถือพืช "รากยาวเท่าตัว" ไม่ใช่หญ้าแฝก แต่คือวัตถุดิบ "อาหารแห่งอนาคต"

Home » อ.เจษฎ์ เฉลยรูปชายถือพืช "รากยาวเท่าตัว" ไม่ใช่หญ้าแฝก แต่คือวัตถุดิบ "อาหารแห่งอนาคต"
อ.เจษฎ์ เฉลยรูปชายถือพืช "รากยาวเท่าตัว" ไม่ใช่หญ้าแฝก แต่คือวัตถุดิบ "อาหารแห่งอนาคต"

นักวิทยาศาสตร์ไขสงสัยภาพหญ้าแฝกรากยาว แท้จริงคือ “ต้นข้าวสาลีเกิร์นซา” ซึ่งขนมปังที่แปรรูปมาก็คือเป็น “อาหารแห่งอนาคต”

จากกรณีโลกออนไลน์มีการแชร์รูปที่เหมือนกับฝรั่งกำลังถือต้นหญ้าที่มีรากยาวมากๆ พร้อมบอกว่าเป็นรากของ “หญ้าแฝก” ที่ในหลวง ร.9 ทรงแนะนำให้ปลูกไว้กันการพังทลายของดิน

ในเรื่องนี้ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2562 โดยระบุว่า “มันไม่ใช่หญ้าแฝกนะครับ มันเป็นต้นข้าวสาลี เกิร์นซา Kernza”

ฝรั่งที่เห็นในรูปนั้นชื่อว่า Jerry Glover เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านดิน กำลังโชว์ต้นข้าวสาลี (wheatgrass) ที่ชื่อว่า Kernza เกิร์นซา (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thinopyrum intermedium) ซึ่งสามารถงอกรากแทงลงดินได้ลึกมาก และสามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน ลดการกัดเซาะดิน ได้ในทำนองเดียวกับหญ้าแฝก (ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Chrysopogon zizanioides) แถมมันยังเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตได้ทั้งปี เป็นเวลาหลายปี ไม่ใช่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้แค่ฤดูเดียวเหมือนธัญญพืชอื่นๆ ซึ่งดีต่อทั้งในแง่ของผลผลิตที่จะได้รับ และต่อสุขภาพของดิน รวมถึงจุลินทรีย์ในดิน

ซึ่งตามรูปที่เห็นนั่น เป็นการแสดงให้ดูข้าวสาลีเกิร์นซานี่ จะมีรากยาวลึกลงไปได้เรื่อยๆ เนื่องจากมันปลูกได้ต่อเนื่องแม้จะเก็บเกี่ยวแล้ว ขณะที่พันธุ์ข้าวอื่นๆ ซึ่งปลูกแบบรายปี จะมีรากสั้นกว่ามาก นอกจากนี้ ‘ขนมปัง’ จากข้าวสาลีเกิร์นซานี้ยังนับได้ว่าเป็น “อาหารแห่งอนาคต” 1 ใน 5 อย่าง คือ ขนมปังแท่งจากแป้งจิ้งหรีด / ขนมปังเคิร์นซา / เบอร์เกอร์จากพืช / น้ำมันสาหร่าย / นักเก็ตไก่สุดคลีน เนื่องจากการเพาะปลูกต้นเคิร์นซานั้น สร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าข้าวสาลี จากการที่รากอันฝังลึกของมันสามารถเก็บคาร์บอนไว้ในดินได้มากกว่าข้าวสาลี ขณะที่ผลผลิตก็สามารถจะถูกนำมาใช้อบขนมหรือทำเบียร์ได้ด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ