ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่สุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก กล่าวระหว่างการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันอังคาร (13 ก.ค.) เพื่ออธิบายถึงแผนการสลับชนิดวัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชน ว่าไวรัสและแบคทีเรียไม่ทราบหรอกว่าวัคซีนที่ฉีดไปเป็นยี่ห้อใด และถามว่าเคยสงสัยหรือไม่ว่าวัคซีนป้องกันโรคอื่นที่ฉีดให้บุตรหลานเป็นยี่ห้อใดบ้าง
“ผมยกตัวอย่างวัคซีนในเด็กเนี่ยนะครับ เกือบทุกชนิดเลย ไม่ว่าตั้งแต่ไข้สมองอักเสบ ป้องกันท้องเสีย เมื่อผลิตออกมาใหม่ๆ แต่ละบริษัทออกมาบอกว่า การใช้จะต้องไม่ข้ามกันนะครับ จะต้อง… หมายถึงเข็ม 1 เข็ม 2 เข็ม 3 จะต้องใช้ยี่ห้อเดียวกัน แต่ต่อมาแม้กระทั่งวัคซีนท้องเสียโรตา หรือแม้กระทั่งวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เนี่ยนะครับ เวลาใครไปฉีดคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในเด็กเนี่ย เคยถามไหมว่าลูกฉีดยี่ห้ออะไรนะครับ ปีนี้ประมูลได้ยี่ห้ออะไร ปีหน้าประมูลได้ยี่ห้ออะไรนะครับ ไวรัสหรือแบคทีเรียต่างๆ ก็คงไม่รู้หรอกว่าวัคซีนที่ฉีดไปเนี่ยยี่ห้ออะไรนะครับ” ศ.นพ.ยง กล่าว
การกล่าวนี้เกิดขึ้นระหว่างการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแนวทางการฉีดวัคซีนของไทย จากเดิมที่ฉีดวัคซีนยี่ห้อเดียวกันให้กับคนๆ เดียว มาเป็นการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ ระหว่างซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า โดยอ้างว่าให้ประสิทธิผลต่อโรคโควิด-19 ได้ดีกว่า
การเปลี่ยนแปลงแนวทางการฉีดวัคซีนนี้เกิดขึ้นหลังจากนายแพทย์ นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยเมื่อช่วงที่ผ่านมาของเดือน ก.ค. ว่าแอสตร้าเซนเนก้าจัดส่งวัคซีนให้ไทยในเดือน ก.ค. และ ส.ค. ได้เพียง 5-6 ล้านโดสเท่านั้น ไม่ถึงเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขคาดไว้ 10 ล้านโดส ซึ่งเป้าหมายนี้ไม่ได้ระบุในสัญญาที่ทำกับบริษัทยาดังกล่าว ทำให้ต้องเร่งจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตรายอื่นสำหรับทดแทนในไตรมาส 3 ซึ่งมีเพียงซิโนแวคเท่านั้นที่จัดส่งให้ไทยได้
เผยเมืองนอกก็ฉีดสลับชนิด
นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังยกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมาก็มีการสลับชนิดวัคซีนเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ อย่างเช่น ที่สหราชอาณาจักร ที่มีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสแรก และวัคซีนชนิด mRNA เป็นเข็มที่ 2
“ในทำนองเดียวกันโควิดวัคซีนเมื่อผลิตขึ้นมาใหม่ๆ แล้วมีต่างแพลตฟอร์ม ทุกส่วนทุก… เอ่อ… บริษัทก็ต้องบอกว่าให้ใช้ตามการศึกษาที่ผ่านมา โดยใช้ยี่ห้อเดียวกันนะครับ การใช้สลับกันเนี่ยนะครับจะต้องมีการศึกษานำมาก่อน เราจะเห็นได้ชัดอันหนึ่งก็คือว่า การใช้ mRNA วัคซีนสลับกับไวรัสเวกเตอร์เริ่มขึ้นในอังกฤษนะครับ โดยเฉพาะในช่วงที่มีวัคซีนขาดแคลนก็ได้มีการเอามาใช้ แล้วหลังจากนั้นก็ได้มีการศึกษากันขึ้นมานะฮะ โดยทีมของออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ”
“เราจะเห็นได้ว่าบุคคลสำคัญของยุโรปก็มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ฉีดเป็นไฟเซอร์นะ ทุกคนก็คงได้ยินข่าว”
อย่างไรก็ตาม การสลับชนิดวัคซีนที่จะเกิดขึ้นในไทยไม่ได้เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์และ mRNA อย่างที่ปรากฏในสหราชอาณาจักร แต่เป็นชนิดเชื้อตายของซิโนแวคสลับกับไวรัสเวกเตอร์ของแอสตร้าเซนเนก้า
เชื่อได้ภูมิใกล้เคียงแอสตร้าฯ 2 เข็ม
ศ.นพ.ยง นำแผนภูมิที่แสดงภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีน 1 เดือน ที่เปรียบเทียบกับฉีดวัคซีนยี่ห้อต่างๆ มาเปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวด้วย
แผนภูมิดังกล่าวพบว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ในกลุ่มตัวอย่าง 272 คน ทำให้ภูมิคุ้มกัน 1 เดือนหลังฉีด ใกล้เคียงกับผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 แต่ทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่ากลุ่มตัวอย่าง 88 คนที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มแล้ว 1 เดือน
ส่วนกลุ่มตัวอย่าง 42 คน ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกแล้วมาฉีดเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า พบว่าภูมิคุ้มกัน 1 เดือนหลังฉีด ใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
สลับวัคซีนเร็วกว่ารอแอสตร้าฯ
ศ.นพ.ยง อธิบายว่า สาเหตุที่เลือกใช้วัคซีนสลับเข็มแทนฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เป็นเพราะสถานการณ์ขณะนี้ที่วัคซีนขาดแคลน จะรอให้ประชาชนฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม โดยใช้เวลาระหว่าง 2 เข็มนี้ถึง 10 สัปดาห์ ก็จะช้าเกินไปที่จะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่เมื่อฉีดซิโนแวคแล้วสลับไปฉีดแอสตร้าเซนเนก้า จะร่นเวลาระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 เหลือเพียง 4 สัปดาห์เท่านั้น
“ถ้าเราฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แล้ววัดภูมิต้านทานอีก 1 เดือนหลังจากนั้นนะครับ ก็แสดงว่าห่างกัน 10 อาทิตย์ แล้ววัดที่ 14 สัปดาห์ ภูมิต้านทางจะสูงเพียงพอหรือสูงพอสมควรทีเดียวที่จะป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ได้นะฮะ แต่เราต้องใช้เวลาถึง 14 สัปดาห์ในการที่จะให้ภูมิสูงขนาดนั้น แต่ถ้าเรามาฉีดวัคซีน 2 เข็มที่สลับกัน โดยการให้วัคซีนเข็มแรกนะครับเป็นซิโนแวค แล้วเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า เราจะเห็นนะครับว่าภูมิต้านทานขึ้นมาใกล้เคียงกับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม น้อยกว่ากันนิดเดียว” ศ.นพ.ยง กล่าว
“แล้วการสัมฤทธิ์ผลในการที่ให้มีระดับภูมิต้านทานของร่างกายเราให้สูงขึ้นใช้เวลา 6 สัปดาห์เท่านั้น แต่ถ้าเราใช้แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เราจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ซึ่งจะใช้เวลายาวนานกว่ากัน 1 เท่าตัว เพราะฉะนั้นในสถานการณ์การระบาดของโรคที่เป็นไปอย่างรุนแรงหรือรวดเร็วในขณะนี้ เรารอเวลาถึง 12 สัปดาห์ไม่ได้”
1,200 คนในไทย สลับวัคซีนแล้วยังปลอดภัย
หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายนี้ กล่าวอีกว่า มีคนไทยฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อไปแล้วในชีวิตจริงประมาณ 1,200 คน พบว่าปลอดภัยและไม่มีใครมีอาการข้างเคียงรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ยง ไม่ได้ระบุว่า 1,200 คนนี้ได้รับวัคซีนสลับยี่ห้อด้วยเหตุผลใด เพราะรายละเอียดของแต่ละคนต่างกัน ส่วนผลการศึกษาจะออกมาภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้