หมอมาเตือนเอง! 4 ประโยคที่พูดบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณของภาวะสมองเสื่อม

Home » หมอมาเตือนเอง! 4 ประโยคที่พูดบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณของภาวะสมองเสื่อม
หมอมาเตือนเอง!  4 ประโยคที่พูดบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณของภาวะสมองเสื่อม

เช็กในคนแก่-คนในบ้าน หากพบพูด 4 ประโยคนี้บ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะสมองเสื่อม แพทย์อธิบายสาเหตุเบื้องหลัง

เว็บไซต์ ETtoday รายงานว่า แพทย์ด้านประสาทวิทยาจากจีน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า หากคนรอบตัวเริ่มพูด 4 ประโยคนี้บ่อย ๆ ควรระวังว่าอาจเป็นสัญญาณของภาวะสมองเสื่อม

นายแพทย์กัว จี้เฟิง หัวหน้าแผนกประสาทวิทยาของโรงพยาบาลเซียงหย่ามหาวิทยาลัยจงหนาน ในมณฑลหูหนาน ประเทศจีน กล่าวว่า ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหรือมีแนวโน้มจะเป็นมักมีอาการหลงลืมบ่อยครั้ง โดยเฉพาะความจำระยะสั้นจะลดลง แต่ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตกลับจำได้ชัดเจน

4 ประโยคที่ผู้มีแนวโน้มเป็นภาวะสมองเสื่อมมักพูดบ่อย ๆ ดังนี้

1. “อะไรนะ? พูดอีกทีสิ”

นายแพทย์กัว จี้เฟิง ชี้ว่า ลักษณะที่ชัดเจนของผู้ป่วยอัลไซเมอร์คือ ความจำระยะสั้นแย่ลดลงอย่างมาก สมาธิถดถอย แม้จะเพิ่งเกิดเหตุการณ์หรือเพิ่งพูดไปเมื่อครู่ พวกเขาก็จะลืมทันที

2. “ที่นี่ที่ไหน? ทำไมฉันมาอยู่ที่นี่?”

นายแพทย์กัว จี้เฟิง กล่าวว่า ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการรับรู้เวลาและสถานที่ แม้จะเป็นสถานที่ที่เคยคุ้นเคย แต่จู่ ๆ ก็จำไม่ได้ และไม่รู้ตัวว่าหลงทาง ไม่สามารถอ่านป้ายบอกทางได้ บางครั้งก็จะมีคำถามเช่น “ฉันมาอยู่ที่นี่ทำไม?”

3. “ของฉันหายไป! มีใครเอาไปหรือเปล่า?”

การที่ความจำระยะสั้นเสื่อมถอย และมักหาของใช้ในชีวิตประจำวันไม่เจอ เป็นอีกหนึ่งอาการทั่วไปของภาวะสมองเสื่อม ผู้ป่วยอาจวางของผิดที่ เช่น ใส่มือถือในตู้เย็น หรือวางถุงเท้าบนโต๊ะอาหาร นอกจากจะหาของไม่เจอแล้ว ยังอาจสงสัยคนรอบข้างว่าขโมยของโดยไม่มีเหตุผลอีกด้วย

4. “ไม่มีใครสนใจฉันเลย”

นายแพทย์กัว จี้เฟิง อธิบายว่า ภาวะสมองเสื่อมจะส่งผลกระทบต่อเยื่อหุ้มสมอง ผู้ป่วยจะมีอารมณ์แปรปรวนอย่างมาก มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ รู้สึกโดดเดี่ยวและเหมือนไม่มีใครใส่ใจ

แต่การแสดงออกทางอารมณ์อาจไม่แน่นอน บางคนที่เคยเป็นคนเปิดเผยอาจกลายเป็นคนเก็บตัว หรือในทางกลับกัน เมื่อโรคเข้าสู่ระยะกลาง ผู้ป่วยอาจถอยห่างจากสังคมมากขึ้น และเมื่อจำไม่ได้ว่าจะพูดอะไรต่อ พวกเขาก็มักจะเลือกที่จะเงียบไป

นายแพทย์กัว จี้เฟิง เตือนว่า หากพบว่าญาติหรือคนใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว ควรรีบพาไปตรวจที่แผนกประสาทวิทยาเพื่อรับการดูแลอย่างทันท่วงที

หากมีการตรวจพบ และดำเนินการรักษาป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างมาก หรือช่วยชะลอการแสดงอาการของโรค

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ