หมอชนบท กังวลโควิดไทยกำลังกลับมาเป็นขาขึ้น นักวิชาการดังเตือนระวัง "วิกฤตต้มกบ"

Home » หมอชนบท กังวลโควิดไทยกำลังกลับมาเป็นขาขึ้น นักวิชาการดังเตือนระวัง "วิกฤตต้มกบ"
หมอชนบท กังวลโควิดไทยกำลังกลับมาเป็นขาขึ้น นักวิชาการดังเตือนระวัง "วิกฤตต้มกบ"

“ชมรมแพทย์ชนบท” กังวลสถานการณ์โควิดในไทยอาจจะกำลังกลับมาอยู่ในจุดที่เป็นขาขึ้นอีกครั้ง ขณะที่นักวิชาการก็เตือนให้ระวัง เพราะขณะนี้อาจอยู่ในสภาวะ “วิกฤตต้มกบ”

วานนี้ (10 ต.ค.) ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ที่ดูเหมือนว่าอาจจะกำลังกลับมาน่าเป็นห่วงอีกครั้ง ดังนี้

“โปรดให้ความสนใจ และตื่นตัว ระมัดระวัง วันนี้บวกเพิ่ม 10,817 ราย แต่ดูให้ดีๆ…

การตรวจหาเชื้อมี 2 วิธี วิธีมาตรฐาน RT-PCR พบผู้ติดเชื้อ 10,817 ราย แต่ข้างล่างยังมีตัวเลขการตรวจด้วย ATK พบเชื้ออีก 10,055 ราย รวมแล้วเป็นกว่า 2 หมื่นราย ในจำนวน ATK ผลบวก ไม่ได้ตรวจยืนยันด้วย rt-pcr ทุกราย จำนวนผู้ติดเชื้อกำลังขาขึ้นอีกครั้งอย่างชัดเจนแล้ว

ผู้ป่วยหนักยังร่วม 3 พันราย ถือว่ายังไม่ลด ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อ ปกติป่วยสีแดงราว 10% หากคำนวณ 3,000 รายนี้กลับไป เราน่าจะมีผู้ติดเชื้อราวไม่ต่ำกว่าวันละ 30,000 คน ในขณะที่ยอดการตรวจเชิงรุกลดลง หากตรวจมากขึ้นในหลายพื้นที่อัตราการติดเชื้อในชุมชนสูงมาก กว่าร้อยละ 20

โควิดกำลังขาขึ้น พื้นที่สีแดงกำลังขยาย ภาระการควบคุมโรคได้กลายเป็นของวิชาชีพสุขภาพในกระทรวงสาธารณสุขโดยสมบูรณ์แล้วอีกครั้ง ตอนนี้สิ่งที่เริ่มชัดเจนคือ หลายฝ่ายเริ่มเข้าเกียร์ว่าง มหาดไทยปกครองท้องถิ่นเริ่มถอยและเหนื่อยล้า ฝ่ายการเมืองก็เลิกให้ความสำคัญมาเข้าสู่โหมดเตรียมการเลือกตั้ง สาธารณสุขก็ล้าแต่ถอยไม่ได้ หยุดไม่ได้ ประชาชนก็ผ่อนคลายจนเกิดคลัสเตอร์ใหม่ใหญ่/เล็ก เป็นดอกเห็ด

กราฟกำลังขาขึ้น การระบาดกำลังจะลามขยายตัว สัปดาห์หน้ารอดูกันว่า ประโยคนี้จะจริงไหม”

นอกจากนี้ ชมรมแพทย์ชนบทยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นักวิชาการหลายท่านออกมาเตือนในทำนองเดียวกัน โควิด-19 กำลังขาขึ้นระลอกใหม่หรือไม่? ต้องไม่ประมาท ต้องบอกความจริงกับประชาชน จะได้ไม่หลงไปกับภาพผู้ติดเชื้อยืนยันด้วย rt-pcr ลดลง แต่ผลตรวจด้วย ATK ไม่ได้เอามานับรวม หรือ ลดการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR เมื่อ ATK ให้ผลบวก พร้อมกับอ้างอิงโพสต์ของ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า

“หากเจอ 7,421 คน จาก ATK แต่ไม่รายงานจำนวนการตรวจทั้งหมด คาดประมาณจำนวนการตรวจขั้นต่ำโดยคร่าว โดยประมาณการจากความไว

ถ้าความไวราว 90% ตามขั้นต่ำของการขึ้นทะเบียนใช้ แปลว่า 7,421 คนที่ตรวจได้ผลบวก จะมาจากการตรวจ “จำนวนผู้ติดเชื้อจริง” ที่มาตรวจ ATK ขั้นต่ำราว 8,246 คน

แต่หากดูจากบทเรียนจากสถานการณ์ในนครศรีธรรมราช ที่มีข่าวพบว่าความไวเหลือ 26.94% (ช่วงความเชื่อมั่นระหว่าง 20.38-34.35%) จึงมีโอกาสที่หากนำค่าความไวนี้มาประเมินภาพรวม จำนวนผู้ติดเชื้อจริงที่มาตรวจ ATK ขั้นต่ำอาจมีถึง 27,547 คน (ช่วงความเชื่อมั่นระหว่าง 21,605-36,414 คน)

ตัวเลขข้างต้นเป็นเพียงการคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อจริงที่ตรวจด้วย ATK แต่จำนวนผู้ตรวจด้วย ATK ทั้งหมดย่อมมากกว่านั้น

ที่น่าติดตามคือ หากสมมติฐานข้างต้นเป็นจริง คนที่ติดเชื้อจริงแต่ตรวจได้ผลลบ ย่อมมีจำนวนมาก และหลุดไปตั้งแต่หลักพันไปถึงหลักหมื่นคนได้ สถานการณ์ที่ดูนิ่งอยู่นั้นอาจเป็นไปในลักษณะ “วิกฤติต้มกบ”

ดังนั้นจึงควรช่วยกันกระตุ้นเตือนคนใกล้ชิดและคนอื่นๆ ในสังคมให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด

เป็นคำเตือนที่เห็นภาพชัดเจน เพราะ “ทฤษฎีกบต้ม” หรือ The Boiling Frog Theory นั้นถูกนำมาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของคนหรือองค์กรที่ไม่ปรับตัวเอง อยู่ใน comfort zone เดิมๆ ของตนเพราะน้ำอุ่นๆ สบายดีโดยไม่ตระหนักว่าอุณหภูมิของน้ำนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดเดือด

พอถึงจุดเดือดก็ช้าเกินไปเสียแล้วที่กบจะกระโดดหนีได้ทัน ต้องตายด้วยน้ำเดือดเพราะตั้งต้วไม่ทันเมื่อสถานการณ์เข้าสู่วิกฤต หรือ the frog being boiled alive”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ