เป็นเวลานานมาแล้วที่ชาวมาเลเซียจำนวนไม่น้อยนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดพัทลุง ด้วยเพราะจังหวัดพัทลุงมีลักษณะเป็นเมืองสงบเงียบ มีธรรมชาติที่สวยงามอยู่หลายแห่งเช่นภูเขา น้ำตก ทะเลสาบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหารอันเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะบริเวณทะเลน้อย ที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอควนขนุน
ทะเลน้อยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่มากมายซึ่งตามมาด้วยนกน้ำประมาณ 300 ชนิด ความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำดังกล่าวเกิดจากการรวมตัวของสายน้ำต่างๆ ไหลมารวมกันที่คลองปากประ จากนั้นจึงไหลลงสู่ทะเลน้อย แล้วไปรวมกับทะเลสาบสงขลาต่อไป
ด้วยเหตุนี้คลองปากประจึงเป็นศูนย์รวมของกุ้งหอยปูปลาเข้ามาอาศัยเจริญเติบโต เป็นแหล่งธาตุอาหารอันสมบูรณ์ ชาวบ้านประมาณ 2,000 ครัวเรือนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมคลองปากประจึงมีอาชีพการทำประมง และเกษตรกรรมริมน้ำ บ้างต่อยอดสร้างที่พักเล็กๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนได้เดินทางมาสัมผัสกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่เรียบง่ายพอเพียง สร้างรายได้ให้ผู้คนในท้องถิ่นได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
คลองปากประจึงเป็นสายน้ำที่มีค่านำมาซึ่งรายได้ให้ผู้คนในท้องถิ่น แม้ว่าปัจจุบันจะได้รับผลกระทบจากโรคติดต่อโควิด 19 ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวชมพักผ่อนไม่ได้ แต่ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนแทน โดยส่วนใหญ่ที่เดินทางมานั้นมีจุดประสงค์เพื่อการพักผ่อนชมทัศนียภาพ และวิถีชีวิตของชมชนริมทะเลสาบ และการดูนกเพื่อการถ่ายภาพ ดังที่ผมได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปในทริปนี้กับกลุ่มพรานภาพ ที่ได้พาสมาชิกและผู้ที่เข้ารับการอบรมเรื่องการถ่ายภาพธรรมชาติเดินทางมา โดยได้เลือกบริเวณทะเลน้อย และคลองปากประ จังหวัดพัทลุง เป็นสถานที่ฝึกอบรมได้อย่างสวยงามสะดวกลงตัว สร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมเป็นอย่างมาก
จุดเด่น หรือที่เรียกว่าเป็นไฮไลท์ ของการเดินทางมาเที่ยวชุมชนริมทะเลสาบแห่งนี้นั้น มีอยู่ด้วยกันหลายจุด แต่ผมขอนำมาบอกเล่าในที่นี้เพียง 2 จุด นะครับ คือบริเวณคลองปากประ และ บริเวณสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ส่วนจุดท่องเที่ยวอื่นๆ ขอให้ท่านเดินทางไปค้นหากันเอง ถ้าผมบอกหมดเดี๋ยวท่านจะไม่ตื่นเต้นกันนะครับ
วิถีชีวิตริมคลองปากประ
ในทุกๆ เช้า โดยเฉพาะช่วงฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านริมคลองปากประจะตื่นแต่เช้าเพื่อยกยอขนาดใหญ่ที่ทำจจากไม้ไผ่ผูกต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตรงกลางเป็นตาข่ายเอาไว้ดักปลาที่ว่ายผ่านไปมา โดยจะปล่อยให้ส่วนที่เป็นตาข่ายจมลงไปในน้ำ สักพักก็ยกยอขึ้นมา ปลาที่ว่ายผ่านตาข่ายก็จะถูกตักขึ้นมากระโดดดิ้นอยู่บนตาข่าย จากนั้นก็จะใช้สวิงผูกติดปลายไม้ยาวตักปลาจากตาข่ายของยอขึ้นมาบนฝั่ง ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่เกือบทุกภาคของประเทศไทย แต่ยอที่คลองปากประแห่งนี้จะแตกต่างจากที่อื่นคือ มีขนาดใหญ่ และจำนวนมาก ตั้งเรียงรายคู่ไปกับแนวคลอง ดูแล้วสวยงาม ประกอบกับช่วงบรรยากาศยามเช้าดวงอาทิตย์สีแดงกลมโตเคลื่อนตัวขึ้นมาจากขอบทะเลน้อย เป็นภาพที่สวยงาม นักถ่ายภาพจึงนิยมเดินทางมาถ่ายภาพกันเป็นจำนวนมาก
ปลาที่ได้มีหลายชนิด แต่ที่ได้มากที่สุดคือปลาลูกเบร่ ซึ่งเป็นปลาขนาดเล็กมีอยู่มากในชุมชนนี้ เมื่อได้มาเขามักจะนำไปประกอบอาหารประเภทยำ หรือทอดรวมกับขมิ้น มีรสชสาติที่อร่อยอุดมไปด้วยแคลเซียมเสริมสร้างกระดูกให้แก่ร่างกาย หากคุณได้เดินทางมาเที่ยวชม ควรหาโอกาสรับประทานปลาลูกเบร่กันให้ได้นะครับ
การยกยอหาปลาของชุมชนปากประ ทำให้ผมนั่งคิดถึงความเรียบง่ายของการใช้ชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน เพียงแต่นอนหัวค่ำหลับใหลไปกับความเงียบสงบ แล้วตื่นขึ้นมาสัมผัสกับอากาศบริสุทธิ์ ได้เห็นดวงอาทิตย์สีแดงขึ้นจากผิวน้ำสวยๆ ได้รับประทานอาหารสดใหม่ ได้พบเห็นรอยยิ้มจากผู้คนที่ผ่านไปมา ได้อยู่กับครอบครัวที่อบอุ่น นี่คือความสุขที่ไม่ต้องใช้เงินเลย…น่าอิจฉาพวกเขาครับ
สะพานเอกชัย หรือ สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
ไม่ไกลจากชุมชนปากประมากนัก มีสะพานเอกชัย หรือ สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา หรือที่ชาวบ้านละแวกนี้เรียกกันว่าสะพานไสกลิ้ง – บ้านหัวป่า เป็นสะพานที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เพื่อเชื่อมต่อระหว่างอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยมีระยะทางยาวถึง 14 กิโลเมตร ทำให้ผู้คนในสองท้องที่นี้เดินทางไปมาหาสู่กันสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งตัวสะพานมีความสวยงามบางช่วงทอดตัวยาวไปบนผืนน้ำ มีจุดคดโค้งไปตามภูมิประเทศ ข้างงทางคือ ทิวทัศน์ทะเลน้อย ทะเลสาบน้ำจืดที่โอบอุ้มสรรพชีวิตให้เจริญเติบโตงอกงาม ในช่วงเวลาบ่ายเย็นนักดูนกมักจะออกมาชื่นชมวิถีชีวิตของนกน้ำออกหากิน บ้างก็เดินทางมาชมทัศนียภาพของทะเลน้อยยามอาทิตย์อัสดง เป็นอีกหนึ่งภาพความประทับใจที่คุณต้องเดินทางมาสัมผัส
บนสะพานมีจุดจอดรถให้ท่านได้จอดแวะชื่นชมทิวทัศน์เป็นระยะๆ แต่ควรระมัดระวังการข้ามถนน เพราะจะมีรถยนต์วิ่งสวนไปมาอยู่เกือบตลอดเวลา ท่านควรอยู่ในเส้นปลอดภัยข้างทางเท่านั้นนะครับ
การเดินทางมายังชุมชนปากประ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ในทริปนี้ของผม แม้ว่าระยะทางจากกรุงเทพฯ โดยรถยนต์จะค่อนข้างไกล แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเดินทางที่ประทับใจและคุ้มค่ามาก การได้เห็นรอยยิ้มจากใครสักคนในท้องถิ่น การได้พบมิตรใหม่ร่วมทางที่มีน้ำใจดีๆ ต่อกัน เป็นเรื่องที่ผมคงต้องคิดถึงและยิ้มในใจไปอีกนานแสนนานทีเดียวครับ
ขอขอบคุณ
ภาพถ่าย คุณรุ่งทิพย์
แนะนำร้านอาหาร ที่พัก ในอำเภอควนขนุน
· ร้านอาหาร Route41 (อาหารไทย , อาหารฮาลาล , กาแฟสด) ริมทางหลวงสาย41 ขาขึ้น อ.ควนขนุน
· ร้านอาหารบางชาม (อาหารไทย) บ้านปากประ
· บ้านริมเล รีสอร์ท (ติดคลองปากประ)