สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา ดาวเทียมที่ทำจากไม้ดวงแรกของโลก หรือ “ลิกโนแซต” (Lignosat) ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศเรียบร้อยแล้ว
ลิกโนแซต คือ ดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลกที่สร้างโดยทีมวิจัยชาวญี่ปุ่น ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศแล้ว โดยจะถูกส่งไปที่สถานีอวกาศนานาชาติด้วยจรวดของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และจะปล่อยสู่วงโคจรที่ระดับความสูงประมาณ 400 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก
เจ้าลิกโนแซตนี้มีขนาดเท่าฝ่ามือเท่านั้น มันถูกพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกียวโตและบริษัท Sumitomo Forestry ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างและแปรรูปไม้ ซึ่งการส่งลิกโนแซตขึ้นไปอวกาศครั้งนี้เป็นเพียงการทดสอบเบื้องต้นเท่านั้น ว่าวัสดุประเภทไม้จะสามารถใช้ในสภาพแวดล้อมของอวกาศได้หรือไม่? ก่อนจะปูทางไปสู่การใช้ดาวเทียมไม้ในการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารต่อไปในอนาคต
ทาคาโอะ โดอิ นักบินอวกาศและวิศวกรการบินและอวกาศ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต เผยแผน 50 ปีในการปลูกต้นไม้และสร้างบ้านไม้บนดวงจันทร์และดาวอังคาร โดอิ และทีมงาน ตัดสินใจพัฒนาดาวเทียมไม้ที่ผ่านการรับรองจากนาซา (NASA) เพื่อพิสูจน์ว่าไม้เป็นวัสดุที่สามารถใช้ในอวกาศได้
ด้าน มุราตะ โคจิ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ป่าไม้จากมหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวว่า “ช่วงต้นทศวรรษ 1900 เครื่องบินทำจากไม้ ดังนั้น ดาวเทียมไม้ก็ควรสามารถใช้งานได้เช่นกัน”
ทีมวิจัยยกเหตุผลที่ว่า ไม้ มีความทนทานในอวกาศมากกว่าบนโลก เพราะไม่มีน้ำหรือออกซิเจนที่จะทำให้มันเน่าเปื่อยหรือได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ดาวเทียมไม้ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อสิ้นอายุการใช้งานอีกด้วย
โดยวัสดุที่นำมาใช้สร้างลิกโนแซตนี้คือไม้ “โฮโนกิ” ซึ่งเป็นต้นแมกโนเลียชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในญี่ปุ่นและในอดีตมักใช้ทำฝักดาบ โดยพบว่ามีความเหมาะสมที่สุดสำหรับทำดาวเทียม หลังจากทำการทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 10 เดือน
นับจากนี้ไป ลิกโนแซต จะอยู่ในวงโคจรเป็นเวลา 6 เดือน โดยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บนยานจะทำหน้าที่ตรวจวัดว่า ไม้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรงในอวกาศที่มีอุณหภูมิผันผวนตั้งแต่ -100 ถึง 100 องศาเซลเซียสทุกๆ 45 นาที ได้ดีเพียงใดต่อไป