สุดสลด ช้างป่า3ตัว รุมทำร้าย จนท.พิทักษ์ป่า ขาขาด ดับคาสวนตัวเอง ระทึกขณะเจา้หน้าที่เคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิต ช้างป่ายังวนเวียนอยู่ในที่เกิดเหตุ
วันที่ 13 พ.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรยางานว่า เมื่อเวลา 19.30 น. วานนี้ พ.ต.ท.สุรพิสิฐ ไหมงำ สว.(สอบสวน) สภ.ท่าตะเกียบ รับแจ้งเหตุ ช้างป่าทำร้ายคนเสียชีวิต ที่หมู่บ้านอ่างเสือดำ พื้นที่ ม.7 ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา จึงรายงานผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น ก่อนเดินทางไปสอบสวนยังในที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อาสาสมัครหน่วยกู้ภัยพนมสารคาม จุด อ.ท่าตะเกียบ
ที่เกิดเหตุเป็นไร่สวนปลูกพืชผักผลไม้ของผู้เสียชีวิตชื่อ “สวนมะม่วงหิมพานต์” อยู่ห่างจากฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่าที่ ฉช.2 บ้านหนองปลาซิว ประมาณ 700 เมตร โดยผู้เสียชีวิตเป็นพนักงานราชการปฏิบัติงานเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า สังกัด สำนักงานพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) จ.ชลบุรี ทราบชื่อต่อมา คือ นายศิริพงศ์ ดาวนันท์ อายุ 51 ปี
จากการตรวจสอบพบตามร่างกายมีร่องรอยถูกช้างป่าทำร้ายจนกระดูกหักทั่วทั้งตัว เสื้อผ้าที่สวมใส่มาถูกดึงจนหลุดขาดหายไป และเหลือเพียงกางเกงในสีแดง 1 ตัว สวมติดตัวอยู่กับร่างกายท่อนล่างเท่านั้น ส่วนขาด้านซ้ายขาดหายไป ภายในรัศมีกว่า 10 เมตรพบรองเท้าบูท เสื้อยืดแขนยาวสีฟ้าและท่อนขาที่ยังมีขากางเกงยีนส์สวมอยู่ ถูกช้างป้าใช้งวงจับกระชากเหวี่ยงโยนทิ้งออกมาจากร่างของผู้เสียชีวิต ที่อยู่ในสภาพนอนคว่ำหน้าจมอยู่กับพื้นดิน
ขณะเดียวกัน ระหว่างที่เจ้าหน้าที่พยายามที่จะเข้าไปทำการเคลื่อนย้ายร่างของผู้เสียชีวิตออกมาจากที่เกิดเหตุนั้น ยังคงมีช้างป่า 3 ตัวดังกล่าว วนเวียนที่จะเข้ามาใกล้ยังในที่เกิดเหตุ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเคลื่อนย้ายร่างของผู้เสียชีวิตด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ท่ามกลางความมืดของช่วงเวลาค่ำที่ผ่านมา
จากการสอบถามภรรยาผู้เสียชีวิต ทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. นายศิริพงศ์เดินทางออกมาจากฐานปฏิบัติการ เพื่อแวะเข้ามาดูสวนป่ามะม่วงหิมพานต์ที่ปลูกไว้ จนกระทั่งตนเองนั้นได้เห็นว่าผู้เป็นสามีหายตัวไปนาน จึงได้ออกมาตามหาเมื่อเวลา 17.00 น. จนกระทั่งมาพบว่าถูกช้างป่าไม่ทราบเพศ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ภายในสวนจำนวน 3 ตัว ทำร้ายจนเสียชีวิตไปแล้ว จึงได้แจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ ชี้แจงถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การกำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนเฝ้าระวังช้างป่า การปรับปรุงรั้วกันช้าง การปรับภูมิทัศน์ป่าริมถนนโดยจะประสานกับกรมทางหลวง และแนวทางการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายทางทรัพย์สิน ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจากช้างป่า รวมถึงการส่งเสริมเครือข่ายในชุมชน ให้ช่วยเฝ้าระวังช้างป่าอีกทางหนึ่ง โดยจะได้มีการพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอของเครือข่ายต่อไป
เครดิตภาพ – กู้ภัยพนมสารคาม