เพชร แว่นตากันแดด และชุดกีฬา ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้โดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซหลักที่ทำให้ชั้นบรรยากาศของโลกร้อนขึ้น และบรรดาบริษัทเทคโนโลยีรายใหม่ที่ทำให้การผลิตดังกล่าวเกิดขึ้นได้ กำลังได้รับความสนใจจากกลุ่ม นักลงทุน
ทั้งนี้ ขั้นตอนการผลิตมีทั้งการใช้แบคทีเรีย โปรตีน หรือการใช้กระบวนการทางเคมีเพื่อเร่งปฏิกิริยา ตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะทำโดยการแยกคาร์บอนและออกซิเจนในก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากกัน เพื่อสร้างสารเคมีอีกชนิดที่ใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ
สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่าข้อมูลจากบริษัทวิจัย PitchBook, Circular Carbon Network, Cleantech Group และ Climate Tech VC ระบุว่าบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนรีไซเคิลสามารถระดมทุนได้ประมาณกว่า 800 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าสามเท่าของยอดรวมในปี 2020
ไรอัน เชียร์แมน (Ryan Shearman) ผู้บริหารบริษัท Aether Diamonds ซึ่งใช้วิธีแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตเพชรเทียมกล่าวว่า เขาไม่อยากจะเรียกราคาของสินค้าดังกล่าวว่าเป็นภาษีสิ่งแวดล้อม แต่ผู้ บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเต็มใจที่จะจ่ายในราคาพรีเมี่ยมนั้น
นอกจากนี้ยังมีการใช้คาร์บอนรีไซเคิลอีกรูปแบบหนึ่งคือการผลิตคอนกรีต ที่แม้จะมีประกายที่เฉิดฉายน้อยกว่าเพชรแต่ก็ยังมีความแข็งแรงอยู่ บริษัท CarbonCure Technologies กำลังพัฒนาวิธีการฉีดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงในคอนกรีตระหว่างกระบวนการผลิต โดยคาร์บอนที่ถูกจับอยู่ภายในจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับแท่งคอนกรีตและยังช่วยกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้มีเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศด้วย
Robin Niven ประธานบริษัทนี้กล่าวว่า คำว่า “สีเขียว” นั้นดีต่อการทำการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ เหล่านี้ และว่าประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้ามาจากผู้ผลิตคอนกรีตอิสระ ทั้งรายใหญ่และราย ย่อยที่กำลังมองหาความได้เปรียบในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติกล่าวว่าประเทศต่างๆ จำเป็นต้องดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ปีละ 10,000 ล้านตันภายในปี 2050 เพื่อจะชะลอสภาพอากาศแปรปรวน แต่โครงการดักจับคาร์บอนในปัจจุบันสามารถกักเก็บได้เพียงปีละไม่กี่พันตันเท่านั้น
ทั้งนี้มนุษย์ผลิตก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนี้เท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ปีละประมาณ 50,000 ล้านตัน โดยผู้แทนระหว่างประเทศจะร่วมการประชุม UN Climate Conference ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศสกอตแลนด์ในช่วงปลายเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายนนี้
เมื่อเดือนพฤษภาคม ศูนย์นโยบายพลังงานโลกของมหาวิทยาลัย Columbia University ได้เผย แพร่รายงานเกี่ยวกับการรีไซเคิลคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งระบุว่า หากผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ทำจากน้ำมันใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่รีไซเคิลแทน จะทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยลงประมาณปีละ 6,800 ล้านตัน
แต่ Amar Bhardwaj หัวหน้านักวิจัยซึ่งเขียนรายงานฉบับนั้นกล่าวว่าการรีไซเคิลคาร์บอนไดออกไซด์อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไปเพราะมีวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
อีกด้านหนึ่ง บริษัทเสื้อผ้าอย่าง Lululemon Athletica กับ LanzaTech กล่าวว่าตนได้ร่วมกันผลิตวัสดุโพลีเอสเตอร์จากก๊าซคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศ โดยการใช้แบคทีเรียในการรีไซเคิลเอทานอลซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งให้เป็นเอทิลีน และเอทิลีนนั้นสามารถนำมาใช้ทำผ้าโพลีเอสเตอร์และภาชนะพลาสติกได้
รายงานของ รอยเตอร์ ระบุว่า LanzaTech สามารถระดมเงินมากได้ที่สุดในบรรดาบริษัทที่แข่งขันกันในแวดวงนี้
เจนนิเฟอร์ โฮล์มเกรน (Jennifer Holmgren) ซีอีโอ ของ LanzaTech กล่าวว่าแม้เอทานอลของตนมีราคาสูงกว่าเอทานอลที่ทำจากข้าวโพด แต่ลูกค้าที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ยังคงยินดีที่จะซื้อผลิตภัณฑ์นี้อยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศจะไม่ใช่ความคิดที่ดีสำหรับนักลงทุน ซึ่งคิดว่ารัฐบาลควรเป็นผู้รับผิดชอบโครงการที่มีความเสี่ยงสูงและมีค่าใช้จ่ายสูงนี้ แต่ นิโคลัส มัวร์ ไอเซนเบอร์เกอร์ (Nicholas Moore Eisenberger) จากกลุ่มการลงทุน Pure Energy Partners กลับมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป เขาลงทุนในบริษัทดักจับอากาศชื่อ Global Thermostat เพราะเขามองเห็นถึงโอกาส และเชื่อว่าเมื่อโครงการเติบโตเพียงพอต้นทุนก็จะลดลง
เขากล่าวอีกว่าวิทยาศาสตร์ได้บอกไว้แล้วว่าเรามีเวลาเหลืออีกไม่ถึงหนึ่งทศวรรษที่จะเริ่มควบคุมการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่เวลาดังกล่าวก็น่าจะอยู่ในกรอบเวลาที่นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจ
(ที่มา: สำนักข่าว รอยเตอร์)