แผงกั้นแบริเออร์เหล็กสูง 5 เมตรและยาว 230 เมตร ตลอดถนน Bali Lane และ Ophir Road ในย่าน กัมโปงกลาม (Kampong Gelam) สิงคโปร์ นอกจากจะใช้เพื่อป้องกันเสียงรบกวนของไซต์ก่อสร้างแล้วยังปรับให้เป็นพื้นที่ศิลปะที่เรียกว่า กราฟิตีฮอลล์ออฟเฟม หรือ Graffiti Hall of Fame อย่างเป็นทางการแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ศิลปินจำนวน 17 คนที่พำนักที่ สิงคโปร์ ได้รับเชิญให้มาสร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระโดยทางโครงการ Graffiti Hall of Fame ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การท่องเที่ยวสิงคโปร์ กรมขนส่งทางบก องค์กรพัฒนาเมืองสิงคโปร์ และบริษัท GS Engineering & Construction Corporation เพื่อปรับทัศนียภาพบริเวณก่อสร้างให้เป็นสตรีตอาร์ตโดยมีการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564
“การก่อสร้างที่ยังดำเนินอยู่ส่งผลกระทบต่อหน้าร้านและธุรกิจในย่านนี้ เหล่าผู้ประกอบการจึงได้หารือแนวทางที่จะบรรเทาสถานการณ์โดยการปรับแผงกั้นแบริเออร์ก่อสร้างให้เป็นพื้นที่ศิลปะสาธารณะ เพราะศิลปินคือกลุ่มคนที่ดีที่สุดที่จะถ่ายทอดเรื่องราวการเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาสอย่างเห็นภาพชัดเจน”
ไอลีน แทน เจ้าของร้าน Blu Jaz และตัวแทนของ One Kampong Gelam องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการในย่านกัมโปงกลาม กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ Graffiti Hall of Fame
กัมโปงกลาม เป็นทั้งย่านการค้าและแหล่งศิลปวัฒนธรรมของ สิงคโปร์ ตั้งแต่อดีต เช่น สถานที่แสดงหนังตะลุงวายังกูลิต (wayang kulit) และการแสดงพื้นเมืองชวาเคโตปรัก (ketoprak) อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของมัสยิดสุลต่านและพระราชวังสุลต่านเดิม ทางการได้ประกาศให้ย่านนี้เป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์เมื่อ พ.ศ.2532
ศิลปินทั้ง 17 คนประกอบด้วยศิลปินชื่อดังและศิลปินหน้าใหม่ที่จะสร้างสรรค์ผลงานตามสไตล์เฉพาะตน ศิลปินสตรีตอาร์ตชื่อดัง ANTZ และ Didier Jaba Mathieu ต่างสร้างสรรค์งานของตนเองบนผนังบริเวณ Bali Lane และทั้งคู่จะร่วมสร้างผลงานอีกชิ้นบริเวณ Ophir Road กับ Hegira ศิลปินผู้บุกเบิกสตรีตอาร์ตของสิงคโปร์สู่เวทีโลก นี่เป็นครั้งแรกที่ศิลปินทั้ง 3 คนจะทำงานร่วมกันในผลงานชื่อ Constant Elevation เพื่อถ่ายทอดแก่นแท้และเสน่ห์ของย่านกัมโปงกลามผ่านสัญลักษณ์อย่างแมวข้างถนนที่เป็นมิตรและตึกแถวหลังคาสีแดง
ผลงานชื่อ The Journey บน Ophir Road จะเป็นการผสมผสานเรื่องราวในอดีตของย่านนี้เข้ากับปัจจุบัน โดยมีแรงบันดาลใจมาจากความทรงจําส่วนตัวของ 5 ศิลปิน เริ่มจากศิลปินดูโอ Studio Moonchild จะมาวาดรูปเด็กน้อยหลากหลายวัฒนธรรมเพื่อเป็นการอุปมาว่าความเก่าแก่และความร่วมสมัยสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว
ส่วนศิลปินชื่อ Dem นั้นได้จินตนาการว่าศิลปินเปรียบเหมือนนกพิราบกางปีกที่สามารถพบเจอได้ทุกหนทุกแห่งและต่างเติบโตสยายปีกไปตามเส้นทางของตนเอง ในขณะที่ KILAS และ Boon Baked จะสร้างประตูเวลาที่เชื่อมศิลปะบนผนังทั้งสี่แห่งเข้าด้วยกันด้วยการเล่าเรื่องราวสมมติว่าด้วยอดีตของชุมชนแห่งนี้
บริเวณถนน Bali Lane ผู้ชมจะได้เห็นผลงานสนุก ๆ ของ AshD และ NOEZ23 ที่เปลี่ยนศิลปินกราฟิตีให้เป็น Pendekars หรือปรมาจารย์ศิลปะการป้องกันตัวยุคใหม่ที่มีกระป๋องสเปรย์สีสดใสเป็นอาวุธ นอกจากนี้ยังมีผลงานขี้เล่นสไตล์แอ็บสแตรกของ Has.J ที่สะท้อนภาพของคนเดินถนนเพื่อสื่อสารว่าคนเราสามารถเดินตามกฎเกณฑ์ได้ตามวิถีของตนเอง ศิลปินช่างสัก Sei10 มาพ่นสีเล่าเรื่องนิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่นเกี่ยวกับเทพธิดาทามาโตริ ฮิเมะ ผสมผสานกับเรื่องราวมรดกการทําผ้าบาติกของชุมชน
แต่ละผนังจะมีคิวอาร์โค้ดให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงไมโครไซต์ของฮอลล์ออฟเฟม ประกอบด้วยข้อมูลของศิลปินและคําอธิบายผลงานอย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ศิลปินทั้งหมดจะมาปรากฏตัวในมินิซีรีส์ 3 ตอนจบ ชื่อ Street Art in Kampong Gelam ซึ่งจะเผยให้เห็นมุมมองต่าง ๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง วิวัฒนาการของวงการสตรีตอาร์ตในสิงคโปร์และบทบาทของศิลปะสาธารณะในสังคม รับชมตอนแรกที่จะออนแอร์ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ได้ที่ https://hof.visitkamponggelam.com.sg/