สาเหตุของอาการ “แสบท้อง” เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

Home » สาเหตุของอาการ “แสบท้อง” เสี่ยงโรคอะไรบ้าง
สาเหตุของอาการ “แสบท้อง” เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

แสบท้อง เป็นอาการที่พบได้บ่อย อาจเกิดจากการระคายเคืองบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างคอและกระเพาะอาหาร รวมถึงอาจเกิดจากการมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป จนทำให้รู้สึกแสบร้อนในท้อง อาการปวดแสบท้องอาจรุนแรงขึ้นหลังรับประทานอาหาร หรือเมื่อนอนราบ แม้จะเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป แต่หากเป็นบ่อยและรบกวนการประกอบกิจวัตรประจำวัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างตรงจุด

อาการแสบท้อง เป็นอย่างไร 

แสบท้อง คือ อาการแสบร้อนบริเวณท้องส่วนบน มักเกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างคอและกระเพาะอาหาร จนอาจส่งผลให้มีอาการปวดแสบท้อง หากมีอาการมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์อาจเป็นสัญญาณของโรคกรดไหลย้อนที่ควรรักษาทันที นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ เช่น อาหารบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาบางชนิด ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการแสบท้องได้เช่นกัน

อาการอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมกับอาการแสบท้อง

เมื่อเกิดอาการแสบท้อง อาจเกิดอาการเหล่านี้ร่วมด้วย

  • ปากมีรสขมหรือรสเปรี้ยว
  • กลืนลำบาก
  • เจ็บหน้าอกหลังรับประทานอาหาร
  • อาการปวดแสบร้อนอาจหนักขึ้นเมื่อนอนราบ

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดเมื่อย หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาในการรับประทานอาหาร เบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารลำบากจนทำให้น้ำหนักลด รักษาด้วยยาที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแสบท้องมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ ควรไปพบคุณหมอ

สาเหตุของอาการแสบท้อง

ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอาการแสบท้องได้

  • กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร
  • การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารเผ็ด อาหารมัน อาหารทอด กระเทียม หัวหอม ผลไม้รสเปรี้ยว ซึ่งอาจไปเพิ่มกรด จนมีกรดเกินในกระเพาะอาหาร
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
  • ความเครียด ความวิตกกังวล อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น หรือกรดไหลย้อน
  • การสูบบุหรี่ อาจกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวช้าหรือน้อยลง จนอาจส่งผลให้กรดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารได้

การวินิจฉัยอาการแสบท้อง

คุณหมออาจวินิจฉัยอาการแสบท้องด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การส่องกล้อง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร
  • การเอกซเรย์ โดยผู้ป่วยต้องรับประทานสารละลายแบเรียมซัลเฟต (Barium sulfate) ก่อนเข้ารับการเอกซเรย์ระบบทางเดินอาหาร เพื่อช่วยให้เกิดภาพภายในระบบทางเดินอาหารที่คมชัดมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้คุณหมอสามารถวินิจฉัยอาการแสบท้องได้ง่ายขึ้น
  • การตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ในหลอดอาหาร เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อนหรือไม่

การรักษาอาการแสบท้อง

อาการแสบท้องอาจรักษาได้ด้วยยาที่จำหน่ายในร้านขายยา เช่น

  • ยาลดกรด อาจช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการแสบท้อง และอาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อยได้ด้วย
  • ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยยับยั้งปริมาณการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เช่น โอเมพราโซล (Omeprazole) แลนโซพราโซล (Lansoprazole)

การป้องกันอาการแสบท้อง

อาการแสบท้องอาจป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจกระตุ้นกรดไหลย้อน เช่น อาหารเผ็ด อาหารมัน เครื่องดื่มคาเฟอีน
  • แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ และรับประทานอาหารให้เป็นเวลา
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • ไม่นอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมงเพื่อให้อาหารย่อย หรือหากนอนควรนอนหนุนหมอนสูง
  • สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ไม่รัดแน่นเกินไป
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามไม่เครียด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ