สาเหตุ “ผู้สูงอายุ” เสี่ยง “ภาวะขาดน้ำ”

Home » สาเหตุ “ผู้สูงอายุ” เสี่ยง “ภาวะขาดน้ำ”



สาเหตุ “ผู้สูงอายุ” เสี่ยง “ภาวะขาดน้ำ”

ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อน หรือในช่วงอากาศปกติ ผู้สูงอายุอาจเสี่ยงภาวะ “ขาดน้ำมากกว่าวัยอื่นๆ ด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย และอื่นๆ จึงควรกระตุ้น และอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำให้มากขึ้น

ทำไมผู้สูงอายุถึงเสี่ยงภาวะขาดน้ำ?

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุมักพบได้ง่าย โดยมีสาเหตุต่างๆ ดังนี้

  1. ผู้สูงอายุหลายคนมีมวลกล้ามเนื้อที่ลดลง ทำให้น้ำในร่างกายผู้สูงอายุลดลงด้วย 
  2. ร่างกายของผู้สูงอายุมีการตอบสนองต่อความกระหายน้ำก็ลดลง ทำให้ไม่รู้สึกอยากดื่มน้ำ ร่างกายจึงไม่ได้น้ำชดเชย 
  3. ความเสื่อมของร่างกาย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หกล้มง่าย ข้อเข่าเสื่อม ซึมเศร้า สมองเสื่อม ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ
  4. ผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งต้องได้รับยาขับปัสสาวะ ทำให้น้ำในร่างกายน้อยลง 
  5. มีปัญหาสายตาทำให้มองเห็นไม่ชัดเจน จึงเป็นอุปสรรคต่อการจัดหาน้ำดื่ม 
  6. ผู้สูงอายุที่มีอาการมือสั่น หยิบจับหรือกำไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถดื่มน้ำได้ด้วยตนเอง เป็นผลให้ได้รับน้ำไม่เพียงพอ 

ด้วยสาเหตุต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลเสียหรืออันตรายต่อสุขภาพ อาจนำมาสู่ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้นจนบางครั้งใกล้เคียงหรือมากกว่าอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำเป็นอย่างมาก 

ผู้ดูแลผู้สูงอายุจึงควรจัดหาน้ำสะอาดไว้ให้ดื่มอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องรอกระหายน้ำ หรือจนปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม ควรจัดหาแก้วที่มีหูจับเพื่อสะดวกในการใช้ หรือให้ดูดจากหลอด โดยวางแก้วน้ำไว้บนโต๊ะข้างเตียง ไม่ควรให้ผู้สูงอายุดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ

วิธีป้องกันภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ

การป้องกันความเสี่ยงของผู้สูงอายุจากความร้อนทำได้โดย

  1. ให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านพัก อาคาร หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ หากไม่มีเครื่องปรับอากาศแนะนำใช้พัดลม เปิดให้ห่างจากตัว อย่าหันพัดลมเป่าเข้าตัวโดยตรง ให้เปิดพัดลมแบบส่าย เปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศที่ร้อน 
  2. หากอากาศร้อนจัดควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน แต่หากจำเป็นควรสวมหมวก เสื้อแขนยาวที่มีสีอ่อน กางเกงขายาว หลวม มีน้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี กางร่มเพื่อป้องกันแสงแดดและพกน้ำดื่มติดตัวตลอดเวลา 
  3. ผู้ดูแลควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับความร้อน หากพบอาการ เช่น ตะคริว ผดผื่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือพาไปพบแพทย์หรือติดต่อสายด่วน 1669 ทันที

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ