‘สาธิต’ ยุโหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯ โชว์จุดยืนปิดสวิตซ์ ส.ว. รับปชป.แพ้ยับ เพราะ2 ปัจจัย แพ้สงครามต้องเร่งกอบกู้พรรค ชู ‘มาร์ค’ เหมาะกลับมานั่งหัวหน้า
เมื่อเวลา 09.45น. วันที่ 16 พ.ค.66 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนมาน้อยกว่าที่คิดว่า ต้องยอมรับเสียงของประชาชนที่กำหนดทิศทางประเทศ แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์คงต้องไปนั่งพูดคุยกันว่าจะเดินหน้าทำให้เป็นพรรคการเมืองที่เป็นที่เชื่อใจของประชาชนได้อย่างไรต่อไป
เมื่อถามว่า หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องไปเป็นฝ่ายค้านใช่หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ทั้งหมด ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน ว่าจะกำหนดทิศทาง เป้าหมาย จุดยืน ทางการเมือง อย่างไร เพราะต้องถอดบทเรียนว่าจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนมีหลายกลุ่มที่เป็นทั้งกลุ่มสวิงโหวต กลุ่มที่ไม่ได้ติดตามข่าวสาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราต้องสื่อสารให้เข้าถึงเขา ทั้งหมดเป็นมิติการกำหนดยุทธศาสตร์ ที่จะเดินต่อไปทางการเมืองหลังจากนี้
เมื่อถามว่า ผลการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาเช่นนี้ เป็นเพราะปัญหาการจัดการภายในหรือเพราะกระแสภายนอก นายสาธิต กล่าวว่า ทั้งหดม มาจากทุกปัจจัย รวมถึงประชาชนรู้สึกว่าถูกกดมานาน จนทำให้อยากเปลี่ยนแปลง และถ้าย้อนกลับไปได้ ก็ไม่ควรให้ประชาชนรู้สึกแบบนั้น
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้มีความยากในการเข้าถึงกลุ่มคนที่เลือกรับข้อมูลเพียงด้านใดด้านหนึ่ง เราจึงต้องนำเรื่องนี้มาคิดและปรับแนวทางการทำงานว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนหันมาดูข้อมูลของเรา เพราะไม่ได้หมายความว่า ข้อมูลที่ถูกต้องจะถูกส่งไปถึงคนที่เราต้องการสื่อสาร
จึงต้องทำให้ประชาชนหันมาสนใจเสียก่อน แล้วเราค่อยนำข้อมูลที่ถูกต้องสื่อสารออกไป เพราะข้อมูลที่อยู่ในสื่อต่างๆ มีความหลากหลาย จะทำอย่างไรให้เขามาสนใจข้อมูลจากเรา เป็นโจทย์สำคัญในการทำพรรคการเมืองใหม่
“เวลาแพ้สงครามก็ต้องไปรวบรวมไพร่พลที่ยังไม่ได้หรือได้รับบาดเจ็บเอาไปรักษา และต้องรวบรวมยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด แล้วมาตั้งหลัก จากนั้นก็ค่อยๆ ฟื้นขึ้นมา การทำการเมืองนั้น มีทั้งคนอยู่ข้างหน้าและข้างหลัง โดยคนที่อยู่ข้างหลังทำหน้าที่เป็นคลังสมองที่อาจไม่ต้องมีบทบาท
แต่ทั้งหมดร่วมกันทำในเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน ที่จริงเราอาจทำตรงนี้อยู่แล้ว แต่ประชาชนไม่เห็น หลังจากนี้ต้องทำให้เขาเห็นว่า เราเป็นสถาบันการเมืองแล้วทำประโยชน์ให้ประชาชน” นายสาธิต กล่าว
เมื่อถามว่า คนที่จะเข้ามากอบกู้พรรคประชาธิปัตย์ด้วยการขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค จะต้องเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสมที่จะเข้ามากอบกู้ แต่ก็ต้องพูดคุยกันภายในพรรค และตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่คน ซึ่งเคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์แล้วย้ายออกไปอยู่พรรคอื่นๆ ควรกลับมาร่วมกันทำให้พรรคประชาธิปัตย์ กลับมาเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทันสมัย และยึดหลักการดุดมการณ์
เมื่อถามว่า หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ต้องเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหมดหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า หลักการของประเทศไม่ใช่แค่ต้องมีคนรุ่นใหม่อย่างเดียวคนทุกรุ่นมีความสำคัญเหมือนกันหมด เพียงแต่เราจะสื่อสารอย่างไรให้คนที่เป็นคนรุ่นเก่ามาอยู่เบื้องหลัง เป็นคลังสมองมีประสบการณ์ ส่วนคนรุ่นกลาง คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดแหลมคมก็ออกมามีบทบาท แต่ถ้าปล่อยให้คนส่วนนี้ทำอย่างเดียว ก็อาจเกิดข้อผิดพลาด
ดังนั้นการทำงานต้องผสานคนทุกรุ่นแล้วนำคนเหล่านี้ไปสื่อสารในรูปแบบใหม่ที่มีความชัดเจน แต่การสื่อสารกับประชาชนต้องเข้ากับบริบทนั้นด้วย ดังนั้นพรรคการเมืองต้องมีความเปลี่ยนแปลงความยืดหยุ่น
เมื่อถามว่า จะต้องจัดประชุมใหญ่สมัยวิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคเร็วแค่ไหน นายสาธิต กล่าวว่า ข้อบังคับพรรคกำหนดไว้ภายใน 60 วัน แต่ส่วนตัวอยากให้จัดเร็วที่สุด ก็ต้องไปคุยกันในพรรคอีกครั้ง
เมื่อถามว่า จะเชิญนายอภิสิทธิ์มาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ต้องพูดคุยกับส.ส. และคนอื่นๆที่อยู่ในพรรคให้มีความชัดเจน แต่ส่วนตัวคิดว่านายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสม และตอนนี้ในพรรคไม่มีอำนาจเก่า มีแต่อำนาจเริ่มต้นนับหนึ่งที่ทำให้พรรค ไปสู่การได้รับการยอมรับจากประชาชน
เมื่อถามว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค จะต้องลาออกจากการเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อหรือไม่ เพราะการเป็นส.ส.มากับการเป็นหัวหน้าพรรค นายสาธิต กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ตนตอบแทนไม่ได้”
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีกระแสเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ เลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ เพื่อเป็นการปิดสวิตซ์ส.ว.ในการเลือกนายกฯ นายสาธิต กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นแนวทางเชิงอุดมการณ์อย่างหนึ่งของการปิดสวิตซ์ ส.ว. ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์พูดมาตลอด
แต่ส่วนตัวตนเป็นส.ส.สอบตก น้ำหนักในการพูดก็น้อยลง แต่ด้วยอุดมการณ์ส่วนตัวคิดว่า พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเดินไปในแนวทางที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น และเรื่องดังกล่าวคงนำไปพูดคุยกันในพรรค