เดโมแครต และ รีพับลิกัน พรรคการเมืองจากสหรัฐต่างมี “สัตว์” เป็นสัญลักษณ์ประจำพรรคทั้งคู่ โดย ลา เป็นสัญลักษณ์ของ พรรคเดโมแครต ส่วน ช้าง เป็นสัญลักษณ์ของ พรรครีพับลิกัน
ไม่ว่าจะเป็นลาของเดโมแครตหรือช้างของรีพับลิกัน ต่างมีจุดเริ่มต้นจาก โทมัส แนสต์ (Thomas Nast) ด้วยกันทั้งคู่ โดย แนสต์ คือชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน และเป็นนักวาดการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ผลงานส่วนใหญ่ของเขาตีพิมพ์ลงในนิตยสารฮาร์เปอร์ส วีกลี (Harper’s Weekly) ระหว่างปี 1862 ถึง 1886
แนสต์ ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์และนักประวัติศาสตร์ว่าเป็น “บิดาแห่งการ์ตูนอเมริกัน” อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าของเดโมแครต เนื่องจาก แนสต์ เป็นสมาชิกรีพับลิกัน
แนสต์ เป็นผู้ริเริ่มวาดสัตว์แทนสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง โดยใช้ลาเพื่อสื่อถึงพรรคเดโมแครต และใช้ช้างสื่อถึงพรรครีพับลิกัน จนทำให้ในที่สุด ทั้งสองพรรคนำสัตว์เหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ของพรรคอย่างเป็นทางการจวบจนปัจจุบัน
ที่มา “ลา” ของเดโมแครต
ลาถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนพรรคเดโมแครตครั้งแรกในวันที่ 15 มกราคม 1870 จากการ์ตูนล้อการเมืองชื่อ “A Live Jackass Kicking a Dead Lion” หรือลาเตะสิงโตที่ตายแล้ว ที่ตีพิมพ์ลงนิตยสารฮาร์เปอร์ส วีกลี ก่อนจะถูกใช้แทนพรรคเดโมแครตเรื่อยมานับจากนั้น
ในภาพดังกล่าว ลาถูกใช้เป็นตัวแทนของ คอปเปอร์เฮด เพรส (Copperhead press) หนังสือพิมพ์ฝั่งมลรัฐทางตอนเหนือที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต ส่วนสิงโตเป็นตัวแทนของ เอ็ดวิน เอ็ม. สแตนตัน (Edwin M. Stanton) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งดำรงตำแหน่งสมัย อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ในช่วงสามปีสุดท้ายของสงครามกลางเมือง
ลาเตะสิงโตที่ตายแล้วเป็นความต้องการเสียดสีคอปเปอร์เฮด เพรส ที่ยังไม่หยุดตีพิมพ์บทวิพากษ์วิจารณ์ เอ็ดวิน เอ็ม. สแตนตัน แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตแล้วอย่างกะทันหันในคืนคริสมาสต์อีฟปี 1869
ที่มา “ช้าง” ของรีพับลิกัน
เกือบ 5 ปีหลังการปรากฏตัวของลาเดโมแครต ช้างรีพับลิกันปรากฏตัวครั้งแรกในภาพ “The Third-Term Panic” ตีพิมพ์บนนิตยสารฮาร์เปอร์ส วีกลี ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 1874 ซึ่งในช่วงแรก ช้างไม่ได้ถูกใช้แสดงถึงพรรครีพับลิกันโดยตรง แต่สื่อถึงจำนวนคะแนนเสียงที่พรรครีพับลิกันสามารถกอบโกยได้เป็นกอบเป็นกำ
แนสต์ ต้องการเสียดสี เจมส์ กอร์ดอน เบนเนตต์ จูเนียร์ (James Gordon Bennett, Jr.) บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก เฮรัลด์ (New York Herald) ผู้ซึ่งมักโจมตีจอมพล ยูลิสซีส เอส. แกรนต์ (Ulysses S. Grant) อยู่เสมอว่าเป็นเผด็จการ (Caesarism) เนื่องจากความกระหายการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ของเขา
ลาในภาพสื่อถึง เบนเนตต์ โดยตรง แนสต์ อิงเนื้อหาจากนิทานอีสปที่ว่า ลาที่ห่มกายตัวเองด้วยหนังสิงโตนั้นเปรียบดั่งคนโง่เขลา แม้จะปกปิดภาพลักษณ์แต่ก็ไม่อาจปิดบังธรรมชาติของตัวเองผ่านคำพูดได้ ดังนั้น สื่อสำนักต่างๆที่พากันเชื่อ เบนเนตต์ เกี่ยวกับข่าวลือของ จอมพลแกรนต์ จึงเปรียบดั่งสัตว์โง่เขลาที่พากันแตกตื่นหวาดกลัว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาพดังกล่าวตีพิมพ์ในช่วงเลือกตั้งกลางเทอม แม้จะยังไม่รู้ผลลัพธ์ แต่คะแนนเบื้องต้นถือว่าไม่เป็นลางดีต่อรีพับลิกันสักเท่าไร ช้างในรูปจึงกำลังมุ่งหน้าไปยังปากเหว มากกว่านั้น แนสต์ มองว่าช้างเป็นสัตว์ที่เข้ากับภาพลักษณ์ของพรรครีพับลิกันได้เป็นอย่างดี เพราะทั้งตัวใหญ่ โดดเด่น ฉลาด ประพฤติดี แต่ก็ตื่นตูมได้ง่าย
ที่มาก่อนหน้านั้น
แม้ว่า โทมัส แนสต์ จะทำให้ช้างและลากลายเป็นภาพจำของสาธารณชนที่สื่อถึงสัญลักษณ์ของพรรครีพับลิกันและเดโมแครตเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม แนสต์ ไม่ใช่คนแรกที่ริเริ่มนำช้างและลาเพื่อสื่อถึงพรรคทั้งสองแต่อย่างใด แท้จริงแล้วจุดเริ่มต้นมีมาก่อนหน้า แนสต์ หลายปี
ย้อนกลับไปในปี 1828 ระหว่างการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจ็กสัน (Andrew Jackson) ถูกคู่แข่งล้อเลียนชื่อของเขาโดยการเรียกเขาว่า “Jackass” ซึ่งสื่อความหมายได้ว่า ลาตัวผู้หรือคนโง่ อย่างไรก็ตาม เขากลับรู้สึกขบขันและนำรูปลามาติดไว้บนโปสเตอร์หาเสียงแทน โดยให้เหตุผลว่าลาเป็นสัญลักษณ์ของความภักดี ความมุ่งมั่น และสามัญชน ทำให้นักวิจารณ์ทั้งหลายหยุดการวิจารณ์เขาด้วยคำดังกล่าว
ส่วนช้างและพรรครีพับลิกันมีความข้องเกี่ยวกันก่อนหน้านี้ ในปี 1860 หนังสือพิมพ์ เรล สปลิตเตอร์ (Rail Splitter) ในชิคาโก ซึ่งสนับสนุน อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ลงโฆษณาร้านรองเท้าโดยแสดงช้างถือป้ายโฆษณา แต่ไม่ได้กล่าวถึงพรรครีพับลิกันแต่อย่างใด จนกระทั่งปี 1864 ในช่วงหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ฟาเธอร์ อับราฮัม (Father Abraham) หนังสือพิมพ์อีกหัวหนึ่ง พิมพ์ภาพช้างสวมรองเท้าตัวเดิม แต่คราวนี้ช้างถือป้ายแสดงข้อความเฉลิมฉลองชัยชนะของฝ่ายสหภาพในช่วงสงครามกลางเมือง