กมธ.สิทธิฯ วุฒิสภา เรียกหน่วยงานคุม “ทักษิณ” แจงข้อมูล ชี้เข้าข่ายขอพักโทษ ก.พ.67 ขณะ สว.เซ็ง ไร้ข้อมูลอาการป่วย เหตุเป็นความลับผู้ป่วย จ่อเรียกแจงใหม่เดือนหน้า ลุกเดินออกเป็นระยะๆ พูดเสียงเดียวกัน “ไม่มีประโยชน์”
การประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ในวันนี้ (25 ก.ย.) เชิญหน่วยงานดูแลนักโทษของกรมราชทัณฑ์มาชี้แจงในกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำโดยรองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ, โรงพยาบาลตำรวจ โดยรองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ, กรมราชทัณฑ์ โดยรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคณะผู้บริหารของกรมราชทัณฑ์เข้าชี้แจง
ภายหลังการประชุม นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า ทั้งกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ได้ชี้แจงได้ในระดับหนึ่ง แต่ประเด็นอื่น ๆ ทั้ง 2 หน่วยงานไปหารือกับผู้บังคับบัญชาก่อนมาส่งคณะมาชี้แจงต่อไป ซึ่งหลังจากนี้ 1 เดือน กรรมาธิการฯ จะเรียกกลับมาชี้แจงอีกครั้ง
ส่วนการขยายเวลาการขอรับโทษ จะมีการขยายเวลา เพื่อรักษาตัวต่ออย่างไรนั้น นายสมชาย ระบุว่า กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า นายทักษิณ ได้เข้ารับการตรวจรักษาเป็นนักโทษในแดน 7 ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และตลอดระยะเวลา ตั้งแต่ 22 สิงหาคม จนถึงปัจจุบัน ยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ
โดยมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดูแลควบคุม ไม่ได้กลับไปเลี้ยงหลานที่บ้าน และอาการป่วย 4 โรคสำคัญ มีใบรับรองแพทย์จากสิงคโปร์ และสหรัฐอารับเอมิเรต แต่โรคใหม่ที่ต้องผ่าตัดนั้น รองนายแพทย์ใหญ่ฯ ยังไม่เปิดเผย ซึ่งอาการต่าง ๆ เป็นสิทธิของผู้ป่วย และญาติที่จะไม่เปิดเผย แต่กรรมมาธิการฯ ได้แนะนำให้นายแพทย์ใหญ่ ไปหารือกับญาติ เปิดเผยข้อมูลเท่าที่เปิดเผยได้ เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจ
ทั้งนี้ เมื่อนายทักษิณ ได้รับการผ่านตัดจนมีอาการเป็นที่น่าพอใจจะสามารถส่งตัวกลับโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้หรือไม่นั้น นายสมชาย ระบุว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยืนยันแล้วว่า สามารถส่งตัวกลับมารักษาได้ และเมื่อหายป่วยแล้ว ก็จะส่งกลับเรือนจำ แต่ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของนายแพทย์ใหญ่ และญาติ
ขณะเดียวกัน นายสมชาย ยังเปิดเผยข้อมูลที่กรมราชทัณฑ์ชี้แจงในกรณีที่นายทักษิณได้รับอภัยโทษแล้วสามารถขอได้อีกหรือว่า ตามเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า จะต้องรับโทษก่อน 1 ใน 4 ในเรือนจำ เพื่อขออภัยโทษในห้วงเวลาสำคัญ ดังนั้น นายทักษิณ จึงยังไม่เข้าเกณฑ์ แต่การพักโทษ สามารถทำได้ โดยต้องเป็นนักโทษชั้นกลาง และถูกจำคุกไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3
ซึ่งนายทักษิณ เข้าข่ายการพักโทษในเดือนกุมภาพันธ์ โดยไม่ต้องใส่กำไลอีเอ็ม เพราะรับโทษมาแล้วตั้งแต่ 22 สิงหาคม และสูงอายุ ซึ่งจะมีการจำกัดพื้นที่ที่อยู่ เช่น การจำกัดเฉพาะอยู่ในบ้าน ห้ามออกประเทศ ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าว เป็นเพราะโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่งตัวต่อโรงพยาบาลตำรวจ จึงถือว่า รับโทษแล้ว
นายสมชาย ยังระบุด้วยว่า รองนายแพทย์ใหญ่ ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า อาการป่วยของนายทักษิณหนักจริงถึงขั้นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากรองนายแพทย์ที่มา ไม่ได้เป็นแพทย์ที่รักษาตัวนายทักษิณโดยตรง
อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าว ดำเนินการในรูปแบบการประชุมลับ โดยใช้เวลาการประชุมกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งในระหว่างการประชุม มี สว.เดินออกเป็นระยะ พร้อมระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่มีประโยชน์” เนื่องจากหน่วยงานที่เชิญมา และผู้ให้ข้อมูลไม่สามารถชี้แจง หรือให้ข้อมูลใด ๆ ได้ เช่น อาการป่วย โรคที่ต้องรักษา หรือระยะเวลาในการรักษา โดยอ้างว่า เป็นความลับของผู้ป่วย รวมถึงหน่วยงานที่มาชี้แจง ทั้งกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ต่างปฏิเสธให้การสัมภาษณ์ หรือเปิดเผยข้อมูลอื่น ๆ กับสื่อมวลชน