สว.หนุนแก้รัฐธรรมนูญ แต่เผยข้อแม้ ย้ำไม่อยากถูกใช้เป็นเครื่องมือ

Home » สว.หนุนแก้รัฐธรรมนูญ แต่เผยข้อแม้ ย้ำไม่อยากถูกใช้เป็นเครื่องมือ


สว.หนุนแก้รัฐธรรมนูญ แต่เผยข้อแม้ ย้ำไม่อยากถูกใช้เป็นเครื่องมือ

สว.หนุนแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องทำประชามติ ขอให้เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ ค้านทำวันเดียวกับเลือกตั้ง อาจทำให้คนสับสน ชี้ไม่อยากถูกใช้เป็นเครื่องมือใคร

วันที่ 20 พ.ย.2565 นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาญัตติของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำประชามติถามความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า การทำประชามติตามกฎหมายประชามติเป็นอำนาจของครม. ร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งตนไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เสนอญัตติดังกล่าวพร้อมสนับสนุนให้ทำช่วงวันเดียวกับที่มีการเลือกตั้ง เนื่องจากตนมองว่าการทำประชามติมี 2 ทาง คือ ก่อนเลือกตั้งหรือหลังการเลือกตั้ง

หากทำในวันเดียวกับที่มีการเลือกตั้ง จากประสบการณ์แล้วอาจทำให้ผู้มาใช้สิทธิสับสน และการตั้งคำถามประชามติ อาจทำให้ประชาชนสับสนได้

อย่างไรก็ดีตนมองว่าถึงเวลาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพื่อลดความขัดแย้ง ผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่จะทำประชามติเมื่อใดขอให้เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจโดยตรง ส่วนการลงมติในญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอนั้น ก็ไม่อยากให้เป็นเรื่องการเมือง หรือให้พรรคใดพรรคหนึ่งใช้เป็นข้ออ้างในการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น ส.ว.ที่มีหน้าที่ลงมติสุดท้าย ส่วนตัวจึงเห็นด้วยกับการทำประชามติ แต่ไม่อยากให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง

เมื่อถามย้ำว่า การลงมติในญัตติดังกล่าวจะเป็นในทิศทางใด นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ต้องดูอีกครั้ง ตนไม่อยากให้เป็นข้ออ้างว่าเป็นผลงานของพรรคการเมือง และไปกระทบหน่วยงานอื่น ทั้งนี้ เชื่อว่าการประชุมวุฒิสภาเพื่อหารือเรื่องดังกล่าว จะมีการอภิปรายกันพอสมควรก่อนลงมติว่าจะไปในทางไหน

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (21 พ.ย.) เวลา 09.00 น. วิปวุฒิสภาจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติของสภาฯ เพื่อให้ครม. ทำประชามติถามความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะให้ลงมติในวันที่พิจารณา คือวันที่ 21 พ.ย.นี้เลยหรือไม่ หรือตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อศึกษา

เบื้องต้นยังไม่มีผู้ใดที่เสนอให้ตั้งคณะกมธ. ดังนั้น ขึ้นอยู่กับการอภิปรายของ ส.ว. โดยตามวาระคือเรื่องที่เสนอให้พิจารณาเท่านั้น

สำหรับความเห็นส่วนตัวต่อการลงมติในญัตติดังกล่าวว่า ตนสนับสนุน เนื่องจากกระบวนการที่รัฐสภาต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ เป็นกระบวนการต้นทางที่จะทำให้การทำประชามติเกิดขึ้น

อีกทั้งเป็นการทำหน้าที่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นทำได้ แต่ต้องผ่านการทำประชามติของประชาชนก่อน และเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จต้องกลับไปถามประชามติของประชาชนอีกครั้ง เมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้ว กระบวนการต้องผ่านไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้นส.ว.ไม่ควรขัดขวางกระบวนการขั้นต้นดังกล่าว

กรณีที่มีผู้เสนอให้ทำประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้ง ส่วนตัวมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งในกฎหมายเลือกตั้งส.ส. และกฎหมายประชามติ อีกทั้งการทำประชามติเป็นคนละวัตถุประสงค์กับการเลือกตั้ง ส่วนจะมีผลต่อการเลือกตั้งส.ส.ที่ได้เปรียบเสียเปรียบกันหรือไม่นั้น ตนมองว่าเมื่อส.ส.โหวตเป็นเอกฉันท์ในญัตติดังกล่าว เท่ากับว่าทุกพรรคเห็นตรงกัน และไม่มีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ