สว.นัด 30 ส.ค.นี้ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ พบภาพรวมใช้จ่ายขาดประสิทธิภาพ บางส่วนไม่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน เน้นแต่ค่าใช้จ่ายประจำ
วันที่ 28 ส.ค.2565 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา มีคำสั่งนัดประชุมวุฒิสภา วันที่ 30 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาร่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้วุฒิสภาต้องพิจารณาเห็นชอบภายใน 20 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพ.ร.บ. คือวันที่ 24 ส.ค.
โดยก่อนหน้านั้นวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ส.ว. เป็นประธานกมธ.ฯ และมีผลการศึกษาที่เตรียมเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งมีข้อสังเกตต่อการจัดทำงบประมาณที่สำคัญ คือ 1.ภาพรวมการใช้จ่ายงบประมาณขาดประสิทธิภาพและบางส่วนไม่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน เพราะการจัดสรรงบประมาณปี 2566 เน้นค่าใช้จ่ายบริหารงานบุคลากรและค่าใช้จ่ายประจำ
ขณะที่งบประมาณที่เน้นการกระจายรายได้ให้ประชาชนมีสัดส่วนเล็กน้อย และมีรูปแบบการใช้จ่ายจำนวนมากในลักษณะการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ทำให้งบที่จะลงทุนผ่านโครงการกิจกรรม สร้างรายได้และกระตุ้นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสร้างประโยชน์ให้ประชาชน
2.การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และแผนงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณไม่ไปในทิศทางเดียวกัน และ3.แผนงานและแผนงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณไม่เป็นไปตามหลักการบริหารงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานเชิงยุทธศาสตร์ โดยพบว่าหน่วยงานกำหนดวิสัยทัศน์ไม่สอดคล้องกับแผนงานระดับชาติ มีจุดชี้วัดที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผลกระทบเชิงบวกกับประชาชน
โดยรายงานของกมธ.ฯระบุว่า หลายหน่วยงานขอรับงบ ทั้งองค์กรอิสระ และศาล ทำคำของบประมาณที่ไม่จำเป็นและก่อให้เกิดภาระงบประมาณด้านสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าดูแลรักษา ค่าซ่อมบำรุง จำนวนมาก โดยเฉพาะคำของบประมาณเพื่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ทั้งนี้ที่รัฐบาลปรับโครงสร้างองค์กรภาครัฐและลดอัตรากำลัง เน้นการพัฒนานวัตกรรมและบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
รายงานของกมธ.ฯ ยังมีข้อเสนอแนะ อาทิ ให้มีหน่วยงานกลางที่มีความเป็นอิสระเพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ในการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมกับประเมินผลการขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์ แผนปฏิรูป และการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ , สร้างการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานภาครัฐบนฐานนวัตกรรม ทั้งกระบวนการ บริการสาธารณะ และนโยบายสาธารณะ รวมถึงพัฒนาระบบบริหารและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ทำรายงานตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้
นอกจากนั้นยังเสนอแนะการลดภาระรายจ่ายประจำ ด้วยการลดการส่งเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญ จากที่กฎหมายกำหนดไว้ปีละ 20% เหลือเพียง 1% เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายกรณีเร่งด่วนตามสถานการณ์หรือการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ ตามพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ.2539 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 72 กำหนดให้รัฐตั้งงบรายจ่ายประจำ ไม่น้อยกว่า 20% เป็นค่าบำเหน็จบำนาญของข้าราชการโดยให้ส่งเข้าบัญชีเงินสำรองจนกว่าดอกผลจะมีจำนวนเป็น 3 เท่าของงบค่าบำเหน็จบำนาญ
ทั้งนี้มาตรา 72 วรรคสาม กำหนดให้กรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลอาจสั่งกองทุนส่งเงินออกบัญชีไปเป็นรายได้ของแผ่นดิน ที่ผ่านมารัฐจ่ายบำเหน็จบำนาญสูงขึ้น โดยปี66 ตั้งงบไว้ 2.7แสนล้านบาท ทำให้ต้องตั้งงบสำรอง กว่า5.4หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงเห็นสมควรให้กระทรวงการคลังทบทวนกำหนดสัดส่วนการตั้งงบเพื่อนำเข้าบัญชีเงินสำรองทุกปี หรือลดสัดส่วนเงินสำรองที่จ่ายเป็นค่าบำเหน็จบำนาญข้าราชการประจำปีลง