สรุปให้ งานวิจัยชี้ชัด PM2.5 สารตั้งต้นโรค มะเร็งปอด สารก่อมะเร็ง – กทม. เชียงใหม่ เสี่ยงตายสุด!

Home » สรุปให้ งานวิจัยชี้ชัด PM2.5 สารตั้งต้นโรค มะเร็งปอด สารก่อมะเร็ง – กทม. เชียงใหม่ เสี่ยงตายสุด!
PMฝุ่นมะเร็งปอด

แพทย์ไทยเผยสถิติ และงานวิจัย PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งที่มีขนาดโมเลกุลเล็ก และเป็นสารให้เกิด มะเร็งปอด โดยเชียงใหม่เสี่ยงที่สุด

มะเร็งปอด กลายเป็นคำค้นหาและเทรนด์ของโลกออนไลน์ทันทีหลังจาก หมอกฤตไท หรือ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล เจ้าของเพจ สู้ดิวะ โพสต์เรื่องราวสำคัญของชีวิตเนื่องจากป่วยเป็น มะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทำให้ชาวเน็ตแชร์เรื่องนี้ออกไปในโลกออนไลน์จำนวนมาก

ไบรท์ทูเดย์ (Bright Today) พาไปย้อนดู สถิติมะเร็งปอด ในประเทศไทยจากคนที่ชอบสูบบุหรี่ คนไม่สูบบุหรี่เป็นมะเร็งปอดได้อย่างไร โดยอ้างอิงจากข้อมูล รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง และโพสต์เรื่องราวโดยเพจเฟซบุ๊ก WEVO สื่ออาสา

“โดยสถิติแล้ว คนภาคเหนือเป็นมะเร็งปอดมากกว่าทุกภูมิภาคค่ะ” รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง กล่าวว่า มีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเพศชายในทะเบียนมะเร็งของจังหวัดเชียงใหม่ 14,299 ราย ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งปอดเพศหญิง 5,664 ราย เมื่อพิจารณาอัตราการการป่วยด้วยมะเร็งปอดภาพรวมของประเทศไทย ผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งปอดร้อยละ 9.3 ขณะที่เพศหญิงร้อยละ 20.6 ขณะที่ข้อมูลผู้ป่วยในเชียงใหม่ ผู้ชายร้อยละ 22.3 ผู้หญิงร้อยละ 29.6, ที่ลำปาง ผู้ชายร้อยละ 27.6 ผู้หญิงร้อยละ 53, ที่สงขลา ผู้ชายร้อยละ 4.9 ผู้หญิง 13.5

“ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น เมื่อก่อนเราจะบอกว่าการเป็นมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ แต่อัตราการสูบบุหรี่ของคนภาคเหนือไม่ได้มากกว่าคนภาคอื่น แต่อัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดกลับสูงกว่าคนภาคอื่นๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สมัยก่อนพ่ออุ๊ยจะชอบสูบบุหรี่ขี้โย การแพทย์ก็จะบอกว่า นี่คือสาเหตุหลักของมะเร็ง แต่ปัจจุบัน การสูบบุหรี่ลดลงอย่างมาก แต่อัตราการเป็นมะเร็งปอดก็ยังสูงอยู่ดี งานวิจัยในช่วงหลังๆ พบว่า ชนิดของมะเร็งปอดมีส่วนเกี่ยวข้องกับ PM2.5” หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา ระบุ

งานศึกษาของ รศ.พญ.บุษยามาส ระบุว่า PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอน เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้นเมื่อ PM2.5 ลอยเข้าไปในหลอดลมจนถึงปอด จะเข้าไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัวและป้องกันไม่ได้ เมื่อเข้าไปในปอดแล้วก็จะทำให้เกิดการอักเสบ มีการกลายพันธุ์ของ DNA RNA หากร่างกายได้รับสาร PM2.5 ในปริมาณมากและยาวนานเกินไป ร่างกายต่อสู้ไม่ไหวจะทำให้กลายเป็นมะเร็งปอดได้ โดยมะเร็งที่พบสัมพันธ์กับ PM2.5 ก็คือเป็นชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) หรือมะเร็งชนิดต่อม ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดชนิดนี้ได้มากกว่าผู้ชาย ส่วนคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว เมื่อสูด PM2.5 เข้าไป ความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดจะทวีคูณขึ้นเป็น 2 เท่า

มะเร็งปอดงานวิจัย
ขอบคุณภาพ WEVO สื่ออาสา

รศ.พญ.บุษยามาส บอกว่า ในอดีตชนิดของมะเร็งปอดที่พบคนป่วยในภาคเหนือคือสแควมัสคาร์ซิโนมา (Squamous Carcinoma) แต่แนวโน้มในปัจจุบันพบมะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมาในผู้ป่วยมากขึ้น

“สมัยก่อนมะเร็งปอดที่คนภาคเหนือเป็นกันมากจะเรียกว่า Squamous แต่ช่วงหลังเป็น อะดีโนคาร์ซิโนมา กันเยอะมาก จากการทดลองพบว่า PM2.5 เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา ข้อมูลสองส่วนนี้มันสัมพันธ์กันพอดี เราพบมะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับสภานการณ์ PM2.5 ที่ก่อให้เกิดมะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมามากกว่า Squamous”

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ฝุ่นละออง PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในขณะที่รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่ามลพิษในอากาศในประเทศไทยทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 50,000 ราย ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ส่งผลทั้งทางด้านสุขภาพและทางด้านเศรษฐกิจ

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ศึกษาการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศของคนไทย ตั้งแต่ปี 2560 – 2563 พบว่าผู้สูงอายุเจ็บป่วยด้วย 4 โรคหลักมากที่สุด ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ประเทศมีค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ) กว่า 2,000-3,000 ล้าน และอาจต้องจัดเตรียมเงินสำหรับการรักษาพยาบาลโรคที่เกี่ยวข้องในอนาคตสูงถึง 200,000 บาท

มะเร็งปอดงานวิจัย2
ขอบคุณภาพ WEVO สื่ออาสา

นอกจากปริมาณค่าใช้จ่ายที่มากมายมหาศาล คุณภาพในการเข้าถึงการรักษาก็เป็นปัญหา รศ.พญ.บุษยามาส ระบุถึงวิธีการตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ จนทำให้กว่าผู้ป่วยจะเข้าสู่ระบบการรักษาก็เป็นมะเร็งปอดในระยะสุดท้ายแล้ว

“วิธีการตรวจคัดกรองของเราในปัจจุบันก็ยังไม่ดีพอสำหรับมะเร็งปอดที่เกิดจาก PM2.5 ค่ะ ดังนั้นเราจะพบผู้ป่วยก็ตอนที่เขาเป็นระยะท้ายๆ แล้ว ซึ่งวิธีการตรวจคัดกรองในปัจจุบัน จะมีการตรวจคัดกรองสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ แต่การตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งที่อาจเกิดจาก PM2.5 ยังไม่มีนะคะ เราควรจะเริ่มป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่ามาสู้กับในระยะสุดท้ายของโรค”

แม้ว่าวิวัฒนาการในการรักษาโรคมะเร็งจะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีอายุที่ยืนยาวขึ้น แต่ รศ.พญ.บุษยามาส มองว่า ปัญหาสุขภาพทำให้เกิดค่าใช้จ่ายของประเทศสูงมาก “ทุกวันนี้เรามียาพุ่งเป้า ยาภูมิคุ้มกันบำบัด การรักษามะเร็งดีขึ้น ทำให้คนไข้มีชีวิตยืนยาวได้ แต่รัฐบาลต้องละลายเงินไปกับยาราคาแพง ทำไมรัฐบาลไม่ทุ่มเทในการออกนโยบายที่ต้นทาง รัฐบาลบอกว่า ถ้าเราปรับลดเพดานค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศ มันต้องกำหนดนโยบายที่ตามมาอีกมากมาย แล้วใช้เงินทุนเยอะ แต่เราต้องคิดดูให้รอบด้านว่า เงินค่ารักษาพยาบาลมากมายนะคะ ไปๆ มาๆ อาจจะมากกว่าการไปกำหนดนโยบายที่ต้นทางเสียอีก”

รศ.พญ.บุษยามาส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง หากใช้สิทธิราชการหรือรัฐวิสาหกิจย่อมสามารถเบิกยาได้ครอบคลุมกว่าสิทธิบัตรทอง แต่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศถือบัตรทองในการเข้าถึงการรักษา ประเด็นการเข้าถึงการรักษาพยาบาลจึงสะท้อนปัญหาในอีกมิติหนึ่งในม่านหมอกควัน PM2.5

PM2.5 ไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็งปอดเพียงอย่างเดียว เพราะขนาดที่เล็กทำให้สามารถกระจายไปทั่วร่างกาย เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดอุดตัน ถุงลมโป่งพอง หอบหืด โรคหัวใจ ฯลฯ

“ภาครัฐอาจจะต้องมีนโยบายในการป้องกัน นี่คือจุดที่สำคัญ รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายที่เอาใจใส่ ต้องกำหนดเพดานค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในการเตือนที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ประชาชนทราบข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง ตระหนักว่าอากาศภายนอกไม่ได้ดีเหมือนที่ค่ามาตรฐานเดิมกำหนดไว้สูง การป้องกันก็มีหลายระดับ ทั้งตนเอง ชุมชน และนโยบายของรัฐ

“เราควรตระหนักว่า PM2.5 เป็นสารพิษที่จะเวียนมาในช่วงเวลาต้นปี แต่ไม่ควรตระหนก รวมถึงเราไม่ควรเป็นผู้ก่อมลพิษเสียเอง นอกจากนี้ เราควรส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลให้เกิดมาตรการหรือนโยบายที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนได้ดูแลตัวเองอย่างถึงที่สุดแล้ว” รศ.พญ.บุษยามาส กล่าว

นพ. สมรส พงศ์ละไม โพสต์แชร์เรื่องราวว่า PM2.5 กับมะเร็งปอด version สั้นๆให้เห็นภาพจริง

PM2.5 กับมะเร็งปอด version สั้นๆให้เห็นภาพจริง
1- International Agency for Research on Cancer (IARC) จัดมลพิษในอากาศเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen)

2- การสัมผัสกับ PM2.5 ที่มากกว่า 30 µg/m3 เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดชนิด adenocarcinoma

3- PM2.5 เพิ่มการเคลื่อนที่และการแบ่งตัวของมะเร็งปอดชนิด non-small-cell

4- ล่าสุดงานวิจัย systematic review and meta-analysis ปี 2021 จากวรสาร Environmental Research (impact factor 8.43) พบว่า PM2.5 PM10 เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดชัดเจน (โดยตัดปัจจัยเรื่องการสูบบุหรี่ออกไปแล้ว)

5- PM2.5 PM10 ในภาคเหนือสถานการณ์รุนแรงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และเป็นอันดับหนึ่งของโลกในหลายๆวัน หนักกว่าอินเดียและจีน (US AQI 271-300)

6- มะเร็งปอดในไทยพบมากที่สุดในจังหวัด ลำปาง เชียงใหม่ อุดร ระยอง กรุงเทพ

7- สาเหตุของมะเร็งปอดมีหลายอย่าง เช่น การสูบบุหรี่หรือการเป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง การสูบกัญชา ปอดอักเสบเรื้อรัง สูดมลพิษ ฝุ่นควัน ยาฆ่าแมลง เยื่อหิน asbestos, แป้ง talcum ในอุตสาหกรรมแป้งที่เราใช้กัน, แกสโซลีน, สารหนู หรือพันธุกรรมบางตัว ฯลฯ และ PM

8- ปัญหา PM ในภาคเหนือและประเทศไทยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน เนื่องจากการเผาป่า เผาหญ้า ทั้งจากในภูมิภาคเราเองและประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งหลายๆเมืองภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ ฝุ่นจะกองลงไปในตัวเมืองต่างๆ ดังนั้นเราจะพบคนไข้มะเร็งปอดเยอะมากขึ้นเรื่อย ทั้งๆที่เค้าไม่ได้สูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่จากคนอื่นเลยก็ตาม

3-1

สรุป PM2.5 PM10 ก่อให้เกิดมะเร็งปอดจริง

มะเร็งปอดเป็นแล้วทรมานมาก คนไข้อาจนอนหลับไม่ได้เพราะเหนื่อยและปวดมากต้องนั่งหลับ ผมเองเคยเป็นลิ่มเลือดอุดตันในปอดยังเจ็บปวดทรมานที่สุดต้องนั่งหลับทั้งคืนไม่สามารถนอนได้ ยังจำฝังใจมาจนทุกวันนี้ว่าโรคในปอดมันทรมานแค่ไหน
จะมีคนเป็นมะเร็งปอดอีกมากแค่ไหน แค่อากาศหายใจสะอาดๆ ก็ยังไม่มี ?

หมายเหตุ

  • โพสต์นี้ตั้งใจสรุปง่ายๆให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจ ถ้าอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งปอด/ด้านปอดท่านใด มีคำแนะนำเพิ่มเติมยินดีเลยนะครับ



แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ