นักวิชาการฯ จี้รัฐบาลผ่าน ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ หวั่น การเมืองทำกฎหมายตก ปฏิรูปไม่คืบ หากผ่าน จุดเริ่มต้นศตวรรษการศึกษาใหม่
6 ธ.ค. 65 – นายสมพงษ์ จิตระ ดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ฉบับใหม่ ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีข้อดีและมีความเป็นกลาง ดังนั้นอยากให้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ภายในรัฐบาลนี้ เพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจทำให้กฎหมายฉบับนี้ตกไปอีก
หากผ่าน ก็จะเป็นการเริ่มต้นศตวรรษการศึกษาใหม่ เพราะเป็นกฎหมายแม่บท ที่สำคัญทั้งเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ หลักสูตร และการให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ฯลฯ
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อดีของกฎหมายฉบับนี้ มีอยู่หลายเรื่อง อาทิ มาตรา 67 กำหนดให้รัฐเปลี่ยนบทบาท มาทำหน้าที่กำกับ สงเสริมสนับสนุน การจัดการศึกษา จากเดิมที่รัฐหรือศธ.เป็นผู้จัดการศึกษาหลัก แต่มาตรานี้จะมีทั้งรัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา ศธ. ต้องปรับกระบวนการคิด มองบทบาทใหม่และต้องลดขนาดส่วนกลางลง เรื่องนี้หากไม่ทำความเข้าใจให้ดี ข้าราชการศธ. ก็จะเกิดการต่อต้าน เกิดการประท้วง
ขณะเดียวกัน ในมาตรา 106 ยังกำหนดโครงสร้างใหม่ มีซี 11 ตำแหน่งเดียวคือ ปลัดศธ. สลายการทำงานในรูแปบบองค์กรหลัก เกิดเป็นกรม ต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่สนับสนุนการจัดการศึกษา ซึ่งในกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีทั้งหมดกี่กรม โดยกำหนดไว้ในกฎหมายว่า สายการบังคับบัญชา ให้ปลัดศธ. และรัฐมนตรีว่าการศธ. เป็นผู้กำหนด
แต่กรมที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนจากกฎหมายฉบับนี้คือ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ตามร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ… ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ และกรมนโยบายการศึกษา ซึ่งแปลงมาจาก สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มีการบริหารงานในรูปแบบนิติบุคคล ภายใต้การกำกับดูแลของศธ.
ขณะเดียวกันยังมีประเด็น การยกเลิก คำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ของศธ. ซึ่งหน่วยงานที่เกิดจากคำสั่งดังกล่าวอาจต้องถูกยุบตามไปด้วย ทำให้ยังมีการตั้งคำถามว่า บุคลากรจากศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ที่มีกว่า 3,000 คน จะไปอยู่ตรงไหน
“นอกจากนี้ยังมี มาตรา 8 ซึ่งเป็นมาตราที่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องการพัฒนาเด็กในแต่ละช่วงวัย ซึ่งจะได้รับการศึกษาและการเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงระดับอุดมศึกษา เป็นตัวเชื่อมโยงกับมาตราอื่นๆ ขณะเดียวกันยังให้โรงเรียนมีการบริหารงานในรูปแบบนิติบุคคล รวมถึงมีอำนาจในการบรรจุแต่งตั้งครู และผู้อำนวยการสถานศึกษา ตรงนี้เป็นข้อดี
แต่ปัญหาคือ โรงเรียนที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ จะเป็นโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็ก น้อยกว่า 60 คน ซึ่งมีกว่า 1.5 หมื่นแห่ง ที่บางโรงเรียนไม่มีผู้บริหาร ครูไม่ครบชั้น ก็จะต้องไปดู ว่าสามารถช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้พัฒนาสู่ความเป็นนิติบุคคล ข้อดีสำคัญคือ โรงเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษา จะเป็นผู้สรรหาผู้อำนวยการโรงเรียนเอง โดยไม่มีการแบ่งขนาด
แต่ประเด็นนี้ยังมีข้อขัดแย้งคือ อาจทำให้เกิดปัญหาการเรียกรับเงินเพื่อแลกที่นั่งเรียน หรือรับแป๊ะเจี๊ยะ ตรงนี้ก็ต้องวางแนวทางแก้ไข
สุดท้ายคือ มาตรา 68 กำหนดให้ปฏิรูปการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ ทั้งนี้มีอีกหลายมาตราที่เป็นประโยชน์ จะทำเรื่องที่พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2542 ไม่ได้ทำ คือ จะทำเรื่องหลักสูตร ปฏิรูปการเรียนรู้ ครูและโรงเรียนฯลฯ” นายสมพงษ์ กล่าว