สธ. ปรับเกณฑ์ลดหวาน 5% กลุ่มเครื่องดื่ม "ทางเลือกสุขภาพ" มาตรฐานเดียว

Home » สธ. ปรับเกณฑ์ลดหวาน 5% กลุ่มเครื่องดื่ม "ทางเลือกสุขภาพ" มาตรฐานเดียว


สธ. ปรับเกณฑ์ลดหวาน 5% กลุ่มเครื่องดื่ม "ทางเลือกสุขภาพ" มาตรฐานเดียว

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมขยับ เกณฑ์ความหวาน ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในไทย เหลือร้อยละ 5 เพื่อลดพฤติกรรมติดหวานและมีสุขภาพที่ดี

วันที่ 28 มี.ค.2566 นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดงานมหกรรม “ประเทศไทย หวานแค่ไหนพอ” ตามนโยบาย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ได้ประกาศนโยบาย “หวานน้อยสั่งได้” และมอบให้กรมอนามัยขับเคลื่อน เพื่อลดปริมาณความหวานของร้านเครื่องดื่มชงลงเหลือร้อยละ 5 ส่งผลให้ขณะนี้มีภาคธุรกิจแฟรนไชส์เครื่องดื่มรายใหญ่เข้าร่วมนโยบาย “หวานน้อยสั่งได้” 27 แบรนด์ รวมทั้งร้านค้าที่เป็น Local Brand ทั่วประเทศ อีก 2,355 ร้าน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ซึ่งสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การบริโภคอาหาร การปฏิบัติตนการออกกำลังกาย เป็นต้น และจากข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560-2562 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลทราย 2.5-26 ล้านต้นต่อปี

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า และปี 2562 คนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ย 3 แก้วต่อวัน ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์ดังกล่าวเป็นพฤติกรรมการบริโภคที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศ ทั้งจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรค

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า โดยรวม สถานการณ์ประเทศไทยปี 2559-2563 พบว่า มีอัตราการเสียชีวิต เนื่องมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ เป็นสาเหตุการตาย 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคมะเร็งทุกประเภท โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 123.3 47.1 และ 31.8 ต่อประชากร แสนคน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีความหวาน ความมัน และความเค็มมากเกินเกณฑ์ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น

“กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย จึงได้จัดงานมหกรรม “ประเทศไทย หวานแค่ไหนพอ”ขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมปรับเกณฑ์ความหวานของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของประเทศไทยให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน โดยปรับลดเกณฑ์ความหวานของการรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพจากร้อยละ 6 ให้เป็นร้อยละ 5 เท่ากับหวานน้อยสั่งได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมในการปรับตัว รวมถึงประชาชนก็จะได้ทราบถึงเกณฑ์ความหวานที่ดีต่อสุขภาพของตนเอง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ด้าน รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ยังพบคนไทยมีน้ำหนักตัวเกินและมีกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนมากอยู่ ขณะเดียวกันยังพบว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีรสหวานทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเวลากินน้ำตาลมากเกินจะเปลี่ยนเป็นการสร้างไขมันที่มีผลเสียต่อสุขภาพโดยไม่รู้ตัว เฉลี่ยแล้วคนไทยกินน้ำตาลถึง 25 ช้อนชาต่อวัน ในขณะที่กรมอนามัยแนะนำว่าไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา ซึ่งเกินไปถึง 4 เท่า

“พวกเราต้องก้าวไปพร้อมกันทั้งภาครัฐ เอกชนที่จะช่วยกันผลักดันด้านสุขภาพของคนไทยให้ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม เป้าหมายต่อไปพวกเราต้องปรับลดความหวานจากร้อยละ 6 ให้เป็นร้อยละ 5 หวานน้อยสั่งได้” รศ.ดร.วันทนีย์ กล่าว

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการกำกับ ดูแล และส่งเสริมให้อาหารมีคุณภาพ ความปลอดภัย มีคุณค่าและประโยชน์เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย ได้มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรค NCDs ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ที่ปัจจุบันมีเกณฑ์การรับรองสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” จำนวน 14 กลุ่มอาหาร และจำนวนผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพมีจำนวน 2,749 ผลิตภัณฑ์ จาก 444 บริษัท

ขณะเดียวกันมีการเสวนา “การบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายมาตรการลดการบริโภคหวานในประเทศไทย” เกี่ยวกับสถานการณ์และโรคที่เกิดจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป โดย นายอารยะ โรจนวณิชชากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา พร้อมด้วยนักวิชาการจากกรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้ประกอบการจาก คาเฟ่ อเมซอน,

อินทนิล คอฟฟี่ และเชฟอั้ม จากอิมแพค ที่พร้อมให้ความสำคัญในการนำไปสู่เป้าหมายเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีจากการลดปริมาณน้ำตาล ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคหวานของคนไทยในปี 2565 พบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้นจากการเลือกรับประทานเมนูอาหารและเครื่องดื่มในระดับหวานน้อยหรือลดปริมาณการใช้เครื่องปรุงที่มีส่วนทำให้เพิ่มไขมันในร่างกาย

เมื่อถามถึงการเริ่มเก็บภาษีความหวานระยะที่ 3 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 เม.ย.นี้ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การเก็บภาษีความหวานที่ผ่านมาผู้ประกอบการก็ได้ปรับตัว จะเห็นได้ว่ามีสินค้าที่เป็นทางเลือกสุขภาพมากขึ้น มียอดการจำหน่ายมากขึ้น การบังคับใช้กฎหมายนี้เราไม่ได้หวังรายได้จากภาษี แต่หวังว่าประชาชนจะมีทางเลือก และมีสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันคนไทยเริ่มคุ้นลิ้น คุ้นชินกับรสชาติที่หวาน มัน เค็มลดลงแล้ว

“แรก ๆ อาจมีความกังวลว่าสูตรหวานน้อยคนจะบริโภคน้อยลง แต่พบว่าหลังๆ เวลาเข้าร้านไป พนักงานจะถามว่ารับหวานกี่เปอร์เซ็นต์ หรือไม่หวานเลย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ระยะถัดไป สธ. จะต้องสนับสนุนด้านความรู้ให้ประชาชนมากขึ้น สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการมากขึ้น เพื่อให้สินค้าสูตรหวานน้อยจำหน่ายได้ สร้างความร่วมมือชุมชน อย่างโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ เราบริโภคลดหวาน แต่ไม่ลดคำหวานใส่กัน ชีวิตเรายังคงมีความหวานได้ เพื่อให้สังคมโดยรวมมีความสุข” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ