สถาบันกษัตริย์ : ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2021

Home » สถาบันกษัตริย์ : ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2021


สถาบันกษัตริย์ : ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2021

2021 เป็นปีที่มีข่าวคราวเกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์ทั่วโลกเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องที่น่ายินดี การสูญเสีย ไปจนถึงเรื่องอื้อฉาวที่สั่นคลอนชื่อเสียงของราชวงศ์ บีบีซีไทยได้ประมวลข่าวน่าสนใจของราชวงศ์โลกในรอบปีนี้มาให้อ่านกัน

สหราชอาณาจักร

2021 เป็นอีกปีที่ราชวงศ์วินด์เซอร์ต้องเผชิญกับมรสุมภายในราชสำนัก ทั้งปัญหาความขัดแย้ง และการสูญเสียสมาชิกคนสำคัญ

ราชวงศ์อังกฤษต้อนรับศักราชใหม่ด้วยข่าวดีที่เจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์ และเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชายา ประกาศเมื่อกลางเดือน ก.พ.ว่า กำลังจะมีทายาทคนที่สอง ก่อนที่เมแกนจะให้กำเนิดธิดา นามว่า ลิลีเบต “ลิลี” ไดอานา เมาท์แบตเทน-วินด์เซอร์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.

สถาบันกษัตริย์ : ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2021

EPA
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ทรงเรียกร้องบรรดาผู้นำโลกในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เมื่อเดือน พ.ย. ให้ลงมือแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตของลูกหลานรุ่นต่อไป
  • ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2020
  • ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2019

ทว่าในวันที่ 19 ก.พ. เจ้าชายแฮร์รีและพระชายาได้สร้างความตกตะลึงให้กลุ่มผู้ติดตามข่าวราชสำนัก ด้วยการประกาศว่า ทั้งคู่จะไม่กลับไปทรงงานในฐานะสมาชิกราชวงศ์อังกฤษอีกต่อไปแล้ว ซึ่งหมายความว่าทั้งสองจะต้องคืนยศทหาร และตำแหน่งเกียรติยศต่าง ๆ ที่ได้รับพระราชทานมาในอดีต รวมทั้งจะไม่เป็นผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ออกปฏิบัติพระกรณียกิจที่เป็นทางการอีกต่อไป

สำนักพระราชวังบักกิงแฮมแถลงต่อเรื่องนี้ว่า บรรดาพระราชวงศ์อังกฤษต่างรู้สึก “เสียพระทัยกับการตัดสินพระทัยของดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ แต่ทั้งสองพระองค์จะยังคงเป็นสมาชิกที่รักของครอบครัวเสมอไป”

  • แฮร์รี-เมแกน ไม่กลับไปทำหน้าที่สมาชิกราชวงศ์อังกฤษแล้ว
  • แฮร์รี-เมแกน เผยราชวงศ์นิ่งเฉยเรื่องเหยียดผิว กดดันจนเมแกนคิดฆ่าตัวตาย

ในขณะที่ข่าวร้ายดังกล่าวยังไม่ทันจะจางหายไป เจ้าชายแฮร์รีและพระชายาก็ประทานบทสัมภาษณ์เขย่าราชวงศ์อังกฤษในรายการโทรทัศน์ของพิธีกรชื่อดัง โอปราห์ วินฟรีย์ ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ถึงสาเหตุการยุติบทบาทในฐานะพระราชวงศ์ชั้นสูง

โดยดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ได้เผยถึงแรงกดดันจากการถูกจำกัดเสรีภาพในเรื่องต่าง ๆ หลังเข้าเป็นสมาชิกราชวงศ์ จนทำให้ครั้งหนึ่งต้องประสบปัญหาสุขภาพจิตถึงขั้นที่เคยคิดฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ เมแกน ยังอ้างถึงการเผชิญปัญหาการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ โดยในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ได้เปิดเผยเรื่องที่โอรสของพระองค์ไม่ได้รับการอวยยศให้เป็นเจ้าชาย

  • ความบาดหมางระหว่างดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์กับราชสำนักและสื่ออังกฤษมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
  • เมแกน “เสียพระทัย” ถูกร้องเรียนรังแกเจ้าหน้าที่ในวัง
  • ทำไมโอรสของแฮร์รี-เมแกนจึงไม่มียศเป็น “เจ้าชาย”

เมแกนเล่าว่ากรณีนี้ทำให้ “อาร์ชี แฮร์ริสัน เมานต์แบตเทน-วินด์เซอร์” ไม่ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยเฉกเช่นสมาชิกราชวงศ์โดยทั่วไป และตั้งข้อสันนิษฐานว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะเขามีเชื้อสายคนผิวสี

“เมื่อฉันตั้งท้อง พวกเขาก็เปลี่ยนกฎเรื่องการอวยยศทันที ทั้งที่พวกเขาไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้น…พระราชวงศ์บางพระองค์ถึงกับบอกแฮร์รีว่า พวกเขากังวลใจว่าลูกของเราจะเกิดมามีสีผิวคล้ำมากขนาดไหน จะมีหน้าตาเป็นยังไง”

หลังบทสัมภาษณ์ดังกล่าวออกอากาศ เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ ทรงปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยตรัสว่า ราชวงศ์ “ไม่มีการเหยียดเชื้อชาติอย่างสิ้นเชิง”

จากนั้นไม่นาน ราชวงศ์ก็ต้องเผชิญข่าวร้ายครั้งใหญ่ เมื่อเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง สิ้นพระชนม์ด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ขณะมีพระชนมายุ 99 พรรษา

สำนักพระราชวังบักกิงแฮมแถลงว่า “เป็นความโศกเศร้ายิ่งที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงประกาศถึงการสิ้นพระชนม์ของพระราชสวามีอันเป็นที่รักของพระองค์ เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ…พระองค์สิ้นพระชนม์ไปอย่างสงบเมื่อเช้านี้ที่พระราชวังวินด์เซอร์”

  • เจ้าชายฟิลิป สิ้นพระชนม์แล้ว
  • พระประวัติเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ
  • ศาลสั่งปิดลับพินัยกรรมเจ้าชายฟิลิป 90 ปี ห่วงกระทบพระเกียรติควีน
  • พิธีพระศพเจ้าชายฟิลิป เป็นตามพระราชประสงค์
  • จากใจลูกหลานถึง “คุณปู่ของชาติ” เจ้าชายฟิลิปในความทรงจำ

เจ้าชายฟิลิปทรงเป็นคู่ชีวิตที่เคียงข้างสมเด็จพระราชินีนาถฯ มากว่า 70 ปี โดยครั้งหนึ่ง พระองค์มีพระราชดำรัสถึงพระราชสวามีว่า

“ท่านเป็นผู้ที่ไม่ยอมรับคำชมง่าย ๆ แต่ที่จริงแล้วท่านเป็นขุมพลังแข็งแกร่งที่ช่วยให้ข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่ได้ในทุกวันนี้ ข้าพเจ้าและสมาชิกครอบครัวของท่านทั้งหมด รวมทั้งประเทศนี้และประเทศอื่น ๆ ต่างเป็นหนี้ต่อท่านมากยิ่งกว่าที่จะกล่าวอ้างหรือล่วงรู้ได้”

พิธีพระศพดยุคแห่งเอดินบะระ จัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่โบสถ์เซนต์จอร์จ ในพระราชวังวินด์เซอร์ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. โดยมีสมาชิกในราชวงศ์ และบุคคลใกล้ชิดเข้าร่วมเพียง 30 คน ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงเจ้าชายแฮร์รีที่เสด็จมาร่วมพิธีจากสหรัฐฯ

ในเดือน พ.ค. มีการเปิดเผยผลการสอบสวนอิสระที่พบว่า บีบีซีปฏิบัติไม่ได้ตาม “มาตรฐานขั้นสูงด้านคุณธรรมและความโปร่งใส” ในการสัมภาษณ์เจ้าหญิงไดอานา ในรายการพาโนรามา (Panorama) เมื่อปี 1995 โดยนายมาร์ติน บาเชียร์ ผู้สื่อข่าวได้ใช้วิธีการ “หลอกลวง” และปลอมแปลงเอกสารเพื่อให้ได้โอกาสสัมภาษณ์ ซึ่งในรายการพระองค์ทรงเปิดเผยถึงปัญหาในชีวิตคู่กับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ และได้นำไปสู่การที่ทั้งสองพระองค์ทรงหย่าขาดจากกันในเวลาต่อมา

บีบีซีระบุว่า ผลการสอบดังกล่าวแสดงให้เห็นถึง “ข้อบกพร่องที่ชัดเจน” และ “เราขอโทษต่อเรื่องนี้” ส่วนนายบาเชียร์ ได้ขอโทษที่ปลอมแปลงเอกสาร แต่อ้างว่าเอกสารเหล่านี้ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินพระทัยของเจ้าหญิงไดอานา ในการประทานสัมภาษณ์

  • กรรมการไต่สวนอิสระชี้นักข่าวบีบีซีใช้กลลวงเพื่อขอประทานสัมภาษณ์เจ้าหญิงไดอานา
  • สัมภาษณ์เขย่าราชบัลลังก์อังกฤษของไดอานา กับข้อครหาที่บีบีซีเผชิญ
Diana the Princess of Wales with Martin Bashir. November 1995

BBC
การสัมภาษณ์ของรายการพาโนรามา เมื่อปี 1995 มีผู้ติดตามชมเกือบ 23 ล้านคน

เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ ทรงตำหนิความบกพร่องของบีบีซีว่าได้ซ้ำเติมอาการวิตกกังวลและทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระมารดากับพระบิดาของพระองค์ย่ำแย่ลง

เจ้าชายวิลเลียมทรงบรรยายความรู้สึกหลังจากทรงทราบผลการไต่สวนครั้งนี้ว่า พระองค์ “เสียใจเป็นที่สุด” ที่พระมารดาไม่ทรงทราบว่าพระองค์ถูกหลอกลวง

ขณะที่เจ้าชายแฮร์รี ตรัสว่า “ผลพวงของวัฒนธรรมในการแสวงหาประโยชน์และการกระทำที่ไร้จรรยาบรรณ” เป็นเหตุที่ทำให้พระมารดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี 1997

หลังผลการไต่สวนออกมา บีบีซีได้ส่งสารขออภัยถึงเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแฮร์รี เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และเอิร์ล สเปนเซอร์ พระอนุชาของเจ้าหญิงไดอานา

แม้ในรอบปีนี้สมาชิกราชวงศ์วินเซอร์เผชิญกับเรื่องที่หนักหน่วง ทว่าก็ยังมีข่าวดีของพระธิดาสองพระองค์ในเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก พระราชโอรสองค์กลางในสมเด็จพระราชินีนาถฯ นั่นคือเจ้าหญิงเบียทริซ ที่ให้กำเนิดธิดานามว่า “เซียนนา เอลิซาเบธ แมเปลลี มอซซี” เมื่อกลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ก่อนหน้านี้ เจ้าหญิงยูเชนี พระขนิษฐา ทรงมีประสูติกาลโอรสนามว่า “ออกัสต์ ฟิลิป ฮอว์ก บรูกส์แบงก์” เมื่อต้นเดือน ก.พ.

เนเธอร์แลนด์

อีกราชวงศ์ยุโรปที่ถูกจับตาในปีนี้คือ ราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา ของเนเธอร์แลนด์ ที่เจ้าหญิงอามาเลีย พระราชธิดาองค์โตในสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ทรงเจริญพระชันษา 18 ปี เมื่อ 7 ธ.ค. และอนาคตของพระองค์ก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากสังคม รวมถึงเรื่องคู่ครองด้วย ส่งผลให้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นถามในรัฐสภา ซึ่งนายมาร์ก รุตเตอ นายกรัฐมนตรีรักษาการของเนเธอร์แลนด์ได้ระบุชัดเจนเมื่อกลางเดือน ต.ค. ว่า กษัตริย์หรือราชินีสามารถอภิเษกสมรสกับบุคคลเพศเดียวกันได้ โดยไม่ต้องสละสิทธิ์ในการขึ้นครองราชย์

  • เจ้าหญิงอามาเลีย มกุฎราชกุมารีเนเธอร์แลนด์ฉลองบรรลุนิติภาวะเรียบง่าย
  • นายกฯ ดัตช์ชี้ มกุฎราชกุมารีสามารถอภิเษกสมรสกับสตรีได้

นายรุตเตอ อธิบายว่า นี่เป็นเพียง “สถานการณ์เชิงสมมุติ” แต่ราชินีพระองค์ต่อไปของเนเธอร์แลนด์สามารถอภิเษกสมรสกับผู้หญิงได้ “ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงไม่เห็นว่าองค์รัชทายาท หรือกษัตริย์จะต้องสละราชสมบัติ หากพระองค์มีพระราชประสงค์จะอภิเษกสมรสกับคู่รักเพศเดียวกัน”

Princess Amalia of The Netherlands pose for the media at Huis ten Bosch Palace on July 16, 2021 in The Hague, Netherlands

Getty Images
เจ้าหญิงอามาเลีย ทรงเจริญพระชันษา 18 ปี วันที่ 7 ธ.ค. 2021

เจ้าหญิงอามาเลีย กำลังจะเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในปีหน้า โดยก่อนหน้านี้พระองค์ทรงได้รับเสียงชื่นชมจากหลายฝ่าย หลังจากทรงปฏิเสธที่จะรับเงินประจำตำแหน่งรายปีราว 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 66 ล้านบาท) ที่รัฐจัดถวายให้เมื่ออายุครบ 18 ปี

พระองค์ทรงแจ้งต่อนายรุตเตอ ว่าไม่ประสงค์จะรับเงินรายปีดังกล่าว เนื่องจากไม่สบายพระทัยที่จะรับเงินโดยมิได้กระทำการใด ๆ ที่เป็นประโยชน์ตอบแทน อีกทั้งยังไม่สบายพระทัยเนื่องจากประชาชนจำนวนไม่น้อยยังทุกข์ยาก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19

หลังจากมีข่าวว่ารัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไฟเขียวให้องค์รัชทายาทสามารถสมรสกับคนเพศเดียวกันได้ ในเดือนเดียวกันนั้นก็มีข่าวว่า นายเฟรดริก เวียร์แซลล์ ราชเลขาธิการสำนักพระราชวังสวีเดน (Marshal of the Realm) ได้ออกมายืนยันเช่นกันว่า กษัตริย์หรือองค์รัชทายาทของสวีเดนจะไม่ต้องสละราชบัลลังก์หากต้องการอภิเษกสมรสกับคนเพศเดียวกัน โดยเขาระบุว่า ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างออกไปสำหรับการสมรสของคนเพศเดียวกัน และสามารถทำได้โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล ตามหลักกฎเกณฑ์ปกติ

ซาอุดีอาระเบีย

ในรอบปีที่ผ่านมา เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ยังคงเป็นที่จับตามองของผู้คนทั่วโลก นับตั้งแต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการสังหารนายจามาล คาชูจกิ นักข่าวและนักวิจารณ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบียในปี 2018

Formula One F1- Saudi Arabian Grand Prix - Jeddah Corniche Circuit, Jeddah, Saudi Arabia - December 5, 2021

Reuters
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มีบทบาทเป็น “ผู้ปกครองสูงสุดในทางพฤตินัย” ของซาอุดีอาระเบีย

ล่าสุดในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มกุฎราชกุมารผู้มีบทบาทเป็น “ผู้ปกครองสูงสุดในทางพฤตินัย” ของซาอุดีอาระเบียผู้นี้ก็ได้ถูกนายซาอัด อัล-จาบรี อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองระดับสูงของซาอุดีอาระเบีย ออกมาเปิดโปงว่า เมื่อปี 2014 พระองค์ทรงเคยมีความคิดที่จะใช้ “แหวนพิษ” เพื่อปลงพระชนม์อดีตกษัตริย์ คือ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ บิน อับดุล อาซิส ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชปิตุลา (ลุง) เพื่อเปิดทางให้พระบิดาของตนได้ขึ้นครองราชย์ โดยในช่วงนั้นได้เกิดความตึงเครียดขึ้นภายในราชวงศ์เกี่ยวกับเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์

  • อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแฉ มกุฎราชกุมารซาอุฯ คิดปลงพระชนม์อดีตกษัตริย์
  • เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน และกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบีย เจ้าของทีมนิวคาสเซิลรายใหม่

นายจาบรี ที่หลบหนีไปอยู่ในประเทศแคนาดายังเผยว่า ได้รับคำเตือนจากเพื่อนคนหนึ่งในหน่วยงานข่าวกรองในตะวันออกกลางว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้เคยส่งทีมนักฆ่ามาจัดการเขาในปี 2018 เพียงไม่กี่วันหลังการสังหารนายคาชูจกิ

มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียทรงปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ รวมทั้งความเกี่ยวข้องกับการสังหารนายคาชูจกิด้วย แม้ว่าหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ จะพบหลักฐานว่าพระองค์เป็นผู้อนุมัติแผนสังหารดังกล่าวก็ตาม

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

อีกราชวงศ์ในตะวันออกกลางที่มีข่าวครึกโครมไม่แพ้กันก็คือ ราชวงศ์ในนครรัฐดูไบ ซึ่งเจ้าหญิงลาติฟา พระธิดาของเชคโมฮัมเหม็ด บิน รอชิด อัลมักตูม เจ้าผู้ครองนครดูไบ ส่งวิดีโอลับถึงพระสหาย ที่ถูกส่งต่อให้บีบีซีและได้รับการเผยแพร่ในเดือน ก.พ. โดยมีเนื้อความกล่าวหาว่าถูกพระบิดาจับเป็น “ตัวประกัน” จนเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับพระองค์เอง

เจ้าหญิงลาติฟาเคยพยายามหลบหนีจากพระบิดาเพื่อออกจากประเทศมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2018 แต่ถูกตามตัวพบ และจากนั้นก็ส่งวิดีโอลับให้เพื่อนเรื่อยมา โดยกล่าวหาว่าพระบิดากักขังพระองค์ไว้ในพระตำหนักตากอากาศ

ก่อนหน้านี้ ทั้งทางการนครรัฐดูไบและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่างบอกว่าเจ้าหญิงปลอดภัยดีโดยอยู่ในการดูแลของครอบครัว

  • เจ้าหญิงนครดูไบเผยถูกพระบิดา “ขัง” อยู่ในที่พัก
  • เจ้าหญิงดูไบวอนตำรวจอังกฤษรื้อคดีลักพาตัวพี่สาว
  • ศาลอังกฤษตัดสินเจ้าผู้ครองนครดูไบ ทรงลักพาตัวพระธิดาและข่มขู่พระชายา
  • เจ้าหญิงลาติฟา พระธิดาผู้ต้องการหลบหนีจากพระบิดาเจ้าแห่งนครดูไบ

ในเดือนเดียวกันกับที่วิดีโอลับถูกเผยแพร่ เจ้าหญิงลาติฟา ทรงเขียนจดหมายร้องขอให้ตำรวจอังกฤษรื้อฟื้นการสอบสวนคดีลักพาตัวเจ้าหญิงชัมซา พระเชษฐภคินี (พี่สาว) ของพระองค์ที่ถูกพระบิดาลักพาตัวจากเมืองเคมบริดจ์กลับไปยังดูไบ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน

ในจดหมายฉบับดังกล่าวที่เปิดเผยแก่บีบีซี เจ้าหญิงลาติฟาทรงระบุกับตำรวจมณฑลเคมบริดจ์เชียร์ ซึ่งเป็นเจ้าของคดีว่า การเปิดการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ขึ้นอีกครั้งอาจช่วยให้เจ้าหญิงชัมซาที่ทรงถูกจับตัวไปตามคำสั่งของพระบิดาได้รับอิสรภาพอีกครั้ง

เจ้าหญิงชัมซา มีพระชันษา 18 ปี ตอนที่ถูกลักพาตัวไป ปัจจุบันพระองค์มีพระชันษา 39 ปี และไม่เคยปรากฏกายต่อสาธารณชนอีกเลยนับตั้งแต่ถูกลักพาตัวจากอังกฤษกลับดูไบ บุคคลใกล้ชิดระบุว่าพระองค์ถูกคุมขัง และถูกทรมานด้วยการเฆี่ยนตี รวมทั้งกลายเป็นผู้ไร้สติสัมปชัญญะ เพราะได้รับยากล่อมประสาทตลอดเวลา

บีบีซีได้ติดต่อขอให้รัฐบาลนครรัฐดูไบแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

จอร์แดน

เมื่อต้นเดือน เม.ย.ได้เกิดเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนเรียกว่า “วิกฤติในราชวงศ์จอร์แดน” หลังจากเจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน อดีตมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาในสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ทรงเปิดเผยในคลิปวิดีโอที่ทนายความส่วนพระองค์ส่งให้กับบีบีซีว่า ทรงถูกควบคุมตัวอยู่ในวังที่ประทับ อันเป็นผลมาจากการปราบปรามฝ่ายวิจารณ์รัฐบาล

  • เจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน ของจอร์แดน “ทรงถูกควบคุมตัวไว้ในบ้าน”
เจ้าชายฮัมซาห์ทรงอัดคลิปวิดีโอกล่าวหาบรรดาผู้นำรัฐบาล

BBC
เจ้าชายฮัมซาห์ทรงอัดคลิปวิดีโอกล่าวหาบรรดาผู้นำรัฐบาล

ในคลิปดังกล่าว เจ้าชายฮัมซาห์ ทรงกล่าวหาบรรดาผู้นำของจอร์แดนว่า ทุจริต ไร้ความสามารถ และข่มขู่คุกคาม

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากมีการจับกุมตัวบุคคลสำคัญระดับสูงจำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนก่อรัฐประหาร

ก่อนหน้านี้ กองทัพระบุว่า เจ้าชายฮัมซาห์ไม่ได้ทรงถูกกักบริเวณในวังที่ประทับ แต่ระบุว่า มีการสั่งให้พระองค์ทรงยุติการกระทำต่าง ๆ ที่อาจถูกใช้ในการโจมตี “ความมั่นคงและเสถียรภาพ” ของจอร์แดน

สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 และสมเด็จพระราชินีราเนีย (ขวาสุด) เสด็จร่วมพิธีเสกสมรสของเจ้าชายฮัมซาห์และเจ้าหญิงนูร์ (ซ้าย) พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีนูร์ พระมารดาของเจ้าชายฮัมซาห์ (กลาง) ในกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน 27 พ.ค. 2004

Getty Images
สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 และสมเด็จพระราชินีราเนีย (ขวาสุด) เสด็จร่วมพิธีเสกสมรสของเจ้าชายฮัมซาห์และเจ้าหญิงนูร์ (ซ้าย) พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีนูร์ พระมารดาของเจ้าชายฮัมซาห์ (กลาง)

เจ้าชายฮัมซาห์ เป็นพระราชโอรสพระองค์โตของสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซน ผู้ล่วงลับของจอร์แดน กับสมเด็จพระราชินีนูร์ พระชายาที่พระองค์ทรงโปรดปรานที่สุด

เจ้าชายฮัมซาห์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารในปี 1999 และเป็นผู้ที่สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนทรงโปรดปรานที่สุด อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงถูกมองว่า ทรงพระเยาว์เกินไปและขาดประสบการณ์ในการที่จะสืบทอดราชบัลลังก์หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนในขณะนั้น

สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ พระเชษฐาต่างพระมารดาของพระองค์จึงได้ทรงขึ้นครองราชย์แทน และได้ถอดเจ้าชายฮัมซาห์ออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมารในปี 2004 กรณีนี้ได้สร้างความผิดหวังต่อสมเด็จพระราชินีนูร์ ซึ่งทรงหวังว่าจะได้เห็นพระราชโอรสองค์โตขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์

  • แพนดอรา เปเปอร์ส เปิดทรัพย์สินลับกษัตริย์จอร์แดน

เรื่องอื้อฉาวของราชวงศ์จอร์แดนยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ได้เปิดเผยเอกสารลับที่มีชื่อว่า “แพนดอรา เปเปอร์ส” (Pandora Papers) ซึ่งเปิดโปงการซุกซ่อนทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของผู้นำประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบัน 35 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกกว่า 300 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเอกสารที่ได้จากบริษัท “ออฟชอร์” (offshore company) หรือบริษัทนอกประเทศที่รับบริหารจัดการทรัพย์สิน เพื่อหลบเลี่ยงภาษีและฟอกเงินรายได้ที่มาจากการทุจริตคอร์รัปชัน

หนึ่งในผู้ที่ถูกเปิดโปง ก็คือกษัตริย์อับดุลลาห์ที่สองแห่งจอร์แดน ซึ่งทรงเก็บสะสมทรัพย์สินเป็นการลับไว้ถึงกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรูปของอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากทั้งในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

ญี่ปุ่น

เจ้าหญิงมาโกะแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่นทรงเข้าพิธีเสกสมรส และจดทะเบียนสมรสอย่างเรียบง่ายกับนายเค โคะมุโระ พระสหายสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. หลังจากทรงหมั้นหมายกันมาตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2017

การสมรสครั้งนี้ทำให้พระองค์ต้องสละฐานันดรศักดิ์ และออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกวังในฐานะสามัญชนที่มีชื่อว่า “มาโกะ โคะมุโระ” โดยนอกจากอดีตเจ้าหญิงมาโกะและสามีจะเลือกไม่จัดพิธีเสกสมรสอย่างยิ่งใหญ่แล้ว ยังมีรายงานว่าเธอได้ปฏิเสธเงิน 150 ล้านเยน หรือราว 43 ล้านบาท ที่จะได้รับตามกฎของของสำนักในกรณีที่สละฐานันดรศักดิ์ไป

โดยเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา อดีตเจ้าหญิงมาโกะ วัย 30 ปี และสามีที่อายุเท่ากัน ได้เดินทางออกจากญี่ปุ่น เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ ซึ่งนายโคะมุโระ ได้งานทำที่สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง

Mako Komuro, former Japan"s Princess Mako and the eldest daughter of Crown Prince Akishino and Crown Princess Kiko, and her newly married husband Kei board a flight bound for New York to start their new life in the U.S. at Haneda airport in Tokyo, Japan November 14, 2021.

Reuters
อดีตเจ้าหญิงมาโกะ และสามี ที่ท่าอากาศยานฮาเนดะในกรุงโตเกียว ขณะกำลังจะขึ้นเครื่องบินเดินทางไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2021

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อดีตเจ้าหญิงผู้ทรงเป็นพระราชภาติยะ (ลูกน้องชาย) ในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ต้องผ่านอุปสรรคมากมายก่อนที่จะได้ใช้ชีวิตอิสระกับชายที่ตนรัก โดยเฉพาะกรณีพิพาทเรื่องเงินระหว่างมารดาของนายโคะมุโระและอดีตคู่หมั้นของเธอ ที่กล่าวหาว่าเธอติดหนี้เขาเป็นเงิน 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 ล้านบาท)

ในเดือน ก.พ. ปี 2018 เจ้าหญิงมาโกะ ทรงประกาศเลื่อนพิธีเสกสมรสออกไปเป็นปี 2020 โดยให้เหตุผลว่ามีเวลาไม่พอในการเตรียมงาน อย่างไรก็ตาม เจ้าชายฟุมิฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพระบิดา ทรงเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ทั้งคู่จะไม่สามารถจัดพิธีเสกสมรสได้ หากยังไม่จัดการกับปัญหาเรื่องเงินเสียก่อน

  • เส้นทางอันไม่ราบเรียบก่อนพิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงมาโกะ
  • เจ้าหญิงมาโกะแห่งญี่ปุ่นทรงเลื่อนพิธีเสกสมรสออกไปจนถึงปี 2020
  • ราชวงศ์ญี่ปุ่นเผชิญภาวะหดตัว เสี่ยงไร้รัชทายาทสำรองในอนาคต

ในที่สุด เจ้าชายฟุมิฮิโตะก็ทรงจำใจให้จัดพิธีเสกสมรสได้ หลังจากเจ้าหญิงมาโกะทรงออกแถลงการณ์เมื่อเดือน พ.ย. ปี 2020 ว่า การเสกสมรสเป็น “ทางเลือกที่จำเป็น”

การเสกสมรสครั้งนี้ทำให้อดีตเจ้าหญิงมาโกะและสามีได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็น “แฮร์รี-เมแกน แห่งญี่ปุ่น” ที่ย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ สิ่งที่คล้ายคลึงกันอีกอย่างก็คือ ทั้งเจ้าชายแฮร์รีและพระชายาต่างเปิดเผยว่าการถูกจับตามองจากสื่อได้ส่งผลต่อสุขภาพจิตของทั้งสองพระองค์อย่างยิ่ง

โดยเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักพระราชวังญี่ปุ่นออกมาเปิดเผยว่า เจ้าหญิงมาโกะเผชิญกับภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง หรือ PTSD หลังจากสาธารณชนคอยตามวิพากษ์วิจารณ์ที่พระองค์ทรงเลือกที่จะแต่งงานกับนายโคะมุโระอย่างไม่หยุดหย่อน

ส่วนเจ้าหญิงไอโกะ พระราชธิดาองค์เดียวในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ ทรงประกอบพิธีบรรลุนิติภาวะตามโบราณราชประเพณี หลังจากเจริญพระชันษาครบ 20 ปีโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา

Princess Aiko greets the press on the occasion of her coming-of-age at the Imperial Palace in Tokyo, Japan December 5, 2021

Reuters
เจ้าหญิงไอโกะ ทรงประกอบพิธีบรรลุนิติภาวะเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังญี่ปุ่น เจ้าหญิงไอโกะ ระบุว่า นับจากนี้จะทรงมุ่งมั่นพัฒนาพระองค์เอง เพื่อการเป็น “ผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ” และการทรงงานเพื่อแบ่งเบาพระราชภารกิจของสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี และเพื่อพสกนิกร

ปัจจุบัน เจ้าหญิงไอโกะทรงศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาคุชูอิน ตามกฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่นพระองค์จะไม่สามารถสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาได้ เนื่องจากเป็นผู้หญิง และหากอภิเษกสมรสกับสามัญชนก็จะต้องสละฐานันดรศักดิ์ และออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกวังในฐานะสามัญชนแบบเดียวกับอดีตเจ้าหญิงมาโกะ

……………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ