"สตีฟ แฮร์ริส" : มือเบส Iron Maiden กับเบื้องหลังนำชื่อวงไปอยู่บนอกเสื้อเวสต์แฮม

Home » "สตีฟ แฮร์ริส" : มือเบส Iron Maiden กับเบื้องหลังนำชื่อวงไปอยู่บนอกเสื้อเวสต์แฮม
"สตีฟ แฮร์ริส" : มือเบส Iron Maiden กับเบื้องหลังนำชื่อวงไปอยู่บนอกเสื้อเวสต์แฮม

ในรอบ 5 ปีหลังที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า “เสื้อวง” ของวงดนตรีเฮฟวี่เมทัลระดับตำนานอย่าง Iron Maiden ได้ก้าวข้ามจักรวาลเสื้อวงไปอยู่ในแวดวงของเสื้อแฟชั่น และถูกสวมใส่โดยเซเลบฯ อย่าง จัสติน บีเบอร์, เลดี้ กาก้า, ไมลี่ย์ ไซรัส และ คานเย่ เวสต์ มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม โลโก้และฟอนต์ประจำวง Iron Maiden ยังคงไม่หยุดการเดินทางข้ามจักรวาลง่ายๆ ล่าสุดโลโก้ Iron Maiden ได้ปรากฎบนชุดเยือนของทีม เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ทีมจากพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คำถามคือ ถ้าพวกเขาอยากข้ามจักรวาล ทำไมพวกเขาจึงต้องเลือก เวสต์แฮม ทั้งๆที่มีทีมใหญ่กว่า และฐานแฟนบอลทั่วโลกมากกว่าอีกหลายทีม? 

และนี่คือเรื่องราวของ สตีฟ แฮร์ริส มือเบสของวง ที่มีอีกด้านหนึ่งของชีวิตในฐานะ Die Hard แฟนของทัพขุนค้อนแห่งลอนดอน..

จากจุดเริ่มต้นจนเส้นทางมาบรรจบเกิดขึ้นได้เช่นไร? ติดตามได้ที่นี่..

เรื่องทั้งหมดเริ่มจาก แฮร์ริส 

สตีฟ แฮร์ริส คือหนึ่งในมือเบสสายเมทัลที่เอกอุที่สุดในช่วงเวลาของเขา ทุกครั้งที่มีคนถามว่าเขาทำอย่างไรจึงมีฝีมือยอดเยี่ยม และมีลีลาการเดินเบสที่เขย่าถึงขั้วหัวใจจนสามารถควบคุมจังหวะของวง Iron Maiden ได้ดีขนาดนั้น คำตอบของ แฮร์ริส คือ “ดนตรีไม่ใช่งาน แต่มันคือชีวิต” นั่นคือสาเหตุที่เขาสามารถฝึกซ้อมเบสได้ทั้งวันทั้งคืนโดยไม่มีเบื่อ.. และแน่นอนว่าการทำแบบเดิมซ้ำๆเป็น 10 ปีคือเบื้องหลังความสำเร็จในฐานะนักดนตรีระดับโลกของเขาอย่างไม่ต้องสงสัย 

1

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทั้งหมดเกือบจะโดนบิดเส้นเรื่องและเปลี่ยนประวัติศาสตร์วงการดนตรีไปแบบเฉียดฉิว หากย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่เขายังเด็กและเขาเลือกฟุตบอลเสียก่อน Iron Maiden อาจจะไม่ได้เป็นวงดนตรีระดับตำนานเหมือนทุกวันนี้ก็ได้ 

สตีฟ จัดว่าเป็น ลอนดอนเนอร์ หรือเด็กที่เกิดและโตในเมืองหลวงของอังกฤษขนานแท้ การเติบโตในเมืองที่มีสโมสรฟุตบอลล้อมรอบมากมาย และเกิดในประเทศที่มีวัฒนธรรมที่ผูกชีวิตกับฟุตบอล ทำให้ สตีฟ แฮร์ริส เป็นเด็กบ้าบอลตั้งแต่จำความได้ โดยเฉพาะสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่ครอบครัวของเขาเป็นแฟนขั้น Die Hard กันแทบทั้งบ้าน 

แฮร์ริส เล่าเรื่องราวในวัยเด็กของตัวเองว่า เขาเริ่มเตะบอลก่อนจะเล่นดนตรีด้วยซ้ำ หนำซ้ำเส้นทางสายลูกหนังยังเดินทางมาหาเขาก่อนที่จะจับเบสและตั้งวงดนตรีวงแรกอีกด้วย  

“ผมน่ะโคตรบ้าบอลยิ่งกว่าใคร ผมอ่านหนังสือและสกู๊ปที่เกี่ยวกับเวสต์แฮมอยู่ทุกวัน ผมเข้าชมเกมในสนามแบบแทบไม่เคยพลาด และเล่นฟุตบอลทุกวันให้กับทีมท้องถิ่นที่ชื่อว่า เมลเบิร์น สปอร์ต ซึ่งตอนนั้นที่ผมอายุได้ 14 ปี ก็มีแมวมองชื่อว่า วอลลี่ เซนต์ ปิแอร์ มาพบกับผม เขาบอกว่า ‘สนใจไปคัดตัวกับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ไหม?’ ช็อกเลย อย่างกับหลอกกันแน่ะ เหมือนฝันที่จะได้เล่นกับเวสต์แฮม ทีมรักของผม” แฮร์ริส กล่าวเริ่ม

ได้เล่นฟุตบอลกับทีมรัก แถมยังได้เงินค่าจ้างด้วย ใครบ้างจะไม่เอา?.. สตีฟ แฮร์ริส คนหนึ่งแหละที่กล้าปฏิเสธสิ่งนี้ สาเหตุที่เขาปฏิเสธไม่ใช่เรื่องใหญ่โต มันเป็นเรื่องตลกหากมาเล่าในตอนนี้ เขาใช้คำว่า “จิตวิญญาณของร็อคสตาร์” ที่มากระซิบข้างหูเขาว่า “ฟุตบอลมันไม่ใช่ทางของแกหรอก” 

2

นักเตะเยาวชนของอคาเดมีสโมสรดังๆนั้น เป็นที่รู้กันว่าต้องทุ่มเทกันสุดชีวิต โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 14 ปี นั้นเป็นรุ่นที่ต้องได้รับการสอนด้านแท็คติกและเทคนิคอย่างเข้มข้นมาก เพราะอีกไม่กี่ปี พวกเขาจะพร้อมสำหรับการเป็นนักฟุบอลอาชีพแล้ว คนไหนที่ใจเหลาะแหละ ท้อง่าย หน่ายเร็ว เด็กคนนั้นก็ยากที่จะไปถึงฝันสูงสุดได้ เพราะมีเด็กอีกเป็นล้านๆคนพร้อมจะแย่งชิงโอกาสที่มีค่าเหมือนดั่งตั๋วทองคำสู่พรีเมียร์ลีก 

แค่คิดก็หนาวดึ๋ง สตีฟ แฮร์ริส รู้ทันทีว่าสันดานของเขามันร็อคเกินกว่าจะซ้อมเช้าซ้อมเย็น เข้านอนตามเวลา ตื่นมาก็มีแต่ฟุตบอล เขาอายุ 14 ปี กำลังเข้าสู่ช่วงอายุของวัยรุ่น ช่วงเวลาที่ว่ากันว่าสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ทำให้จดจำไปได้ตลอดชีวิต ดังนั้น เขาจึงปฏิเสธมัน เพราะตัวเองมีทางที่ดีกว่านั้นคือ เอาเวลาไป “กินเบียร์” ดีกว่า..

เบียร์เปลี่ยนชีวิต

“คุณคิดดูดิ ตอนนั้นอายุ 14 นะ กำลังซ่าได้ที่เลย ให้ผมไปทำอะไรในกรอบมันคงจะผิดวิสัยของตัวเองไปหน่อย ตอนนั้นที่ผมทำคืออยากจะออกไปดื่มเบียร์ พอให้ได้เมามายจนเห็นนกบินบนหัวสัก 2-3 ตัว และถ้าผมเลือกไปเป็นนักฟุตบอลก็คงจะลืมไปได้เลย ไม่มีใครปล่อยให้ผมออกมากินเบียร์จนเมาหยำเปตั้งแต่อายุ 14 หรอก คุณก็รู้” สตีฟ ว่ากันง่ายๆแบบนั้นเลย 

3

“แค่คิดก็ท้อแล้ว นอน 2 ทุ่ม ตื่นตี 5 ผมทำไม่ได้หรอก ต่อให้รักสโมสรแค่ไหน ผมว่าผมไม่สู้ดีกว่า” สตีฟ แฮร์ริส ที่ตอนนั้นเริ่มจะเป็นหนุ่มและหัดเป็นแฟนเพลงของ เดอะ บีทเทิลส์ กล่าว 

เดิมทีเขาอยากจะเป็นมือกลอง เคยอ้อนพ่ออ้อนแม่ซื้อกลองชุดให้แต่มันมากเกินไป ทั้งแพงและบ้านเขาก็หลังเล็กจนไม่มีที่วาง แต่ แฮร์ริส ก็ไม่ถอดใจ เขาเลือก “เบส” เครื่องดนตรีที่พกพาง่ายกว่าเพื่อเติมความฝันในสไตล์ของวัยรุ่นที่กำลังอยากจะเท่ด้วยดนตรี

จากความอยากเท่กลายเป็นความชอบอย่างไม่รู้ตัว หลังฝึกซ้อมได้ 10 เดือน แฮร์ริส ก็เก็บเงินค่าขนมและเอามาซื้อเบสตัวแรก ซึ่งเมื่อมีเบสยี่ห้อ Fender รุ่น Precision ราคา 40 ปอนด์ เป็นของตัวเอง เขาก็ฝึกเล่นแบบจริงจัง และเล่นไปเล่นมา แฮร์ริส ก็รู้ว่า “นี่แหละสิ่งที่ชีวิตตามหา” 

“ผมมาเวย์ของดนตรีจนได้เป็นมือเบสของ Iron Maiden ได้ไงน่ะเหรอ? ก็ใจมันมาไง อาจเป็นเพราะดนตรีทำให้ผมใช้เวลากับมันพร้อมๆกับการกินเบียร์ได้ละมั้ง” 

4

แฮร์ริส เริ่มเล่นในวงดนตรีที่ชื่อว่า Influence และต่อมากับ Gypsy’s Kiss โดยเล่นในผับเสียเป็นส่วนใหญ่ ก่อนตัดสินใจก่อตั้งวง Iron Maiden ในวันคริสต์มาสปี 1975  

แฮร์ริส คือสมาชิกคนแรกและเป็นแกนหลักของวง มีหน้าที่แต่งเนื้อเพลง และควบคุมการผลิตด้านดนตรี การได้มารวมตัวกับนักดนตรีอีกมากมาย ที่ผลัดเปลี่ยนเข้ามาในนามวง Iron Maiden เหมือนการเจอกับทีมฟุตบอลที่นักเตะในทีมเข้าขารู้ใจกันเป็นอย่างดี Iron Maiden ผลิตงานระดับ “มาสเตอร์ พีซ” ออกมาประดับวงการเฮฟวี่เมทัลมากมาย และ สตีฟ แฮร์ริส ก็ถูกขนานนามว่าหัวหอกของวงดนตรียุคโมเดิร์นของเกาะอังกฤษในเวลาต่อมา

เบียร์แก้วเดียวเปลี่ยนชีวิตของ สตีฟ แฮร์ริส ได้อย่างไม่น่าเชื่อ มันพาเขามาเจอกับโลกอีกใบที่เขาพร้อมจะทุ่มเทสุดชีวิต และมันทำให้ทั่วโลกสรรเสริญเขา ซึ่งตัวของ แฮร์ริส บอกว่าแม้จะไม่ได้เป็นนักฟุตบอล แต่ที่สุดแล้วทั้ง 2 อาชีพก็มีความคล้ายคลึงกันไม่น้อย การเป็นนักดนตรียังคงมีกลิ่นอายที่ทำให้เขามีความสุขกับการเลือกเส้นทางนี้โดยแท้

“มันจะไปต่างอะไรกันมาก? ฟุตบอลกับดนตรีมันก็คล้ายๆกัน นั่นคือคุณต้องลงเล่นต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก และการจะไปถึงจุดสูงสุดนั้นไม่มีทางลัด คุณต้องทุ่มเทและตั้งใจกับมันจริงๆ ที่สำคัญคือ 2 อาชีพนี้เป็นอาชีพระยะสั้นเหมือนกันด้วย” แฮร์ริส ว่าเช่นนั้น และเขาไม่ได้พูดเล่น เพราะตลอดช่วงเวลาของการเป็นนักดนตรีระดับโลก สายเลือดของแฟนบอลผู้คลั่งไคล้ฟุตบอลและทีมเวสต์แฮม ยังคงหมุนเวียนในตัวเขาอยู่เสมอ..

เพราะชีวิตขาดฟุตบอลไม่ได้ 

อัจฉริยะมักจะหาเรื่องต่างๆมาหยิบมาผสมกันได้เสมอ ตัวของ แฮร์ริส ที่เป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงเคยหยิบเอาแง่มุมเกี่ยวกับฟุตบอลมาใส่ในเพลงและกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเขา

5

ในสมัยที่ Iron Maiden โด่งดังช่วงปลายยุค 70s เขาเคยแต่งเพลงที่ชื่อว่า Weekend Warrior (นักรบสุดสัปดาห์) ซึ่งเปรียบเทียบกับกลุ่มแฟนบอลเวสต์แฮมในยุคนั้นที่ขึ้นชื่อเรื่องการเป็น ฮูลิแกน (แฟนบอลอันธพาลหัวรุนแรง) แม้ว่าเขาจะไม่ใช่แฟนบอลสายโหดอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจกัน

นอกจากจะเป็นหัวหอกด้านดนตรียุคโมเดิร์นร็อคแล้ว แฮร์ริส ยังเป็นหัวหอกของกลุ่ม “นักดนตรีบ้าบอล” อีกด้วย เขาและเพื่อนสมาชิกจากวง Iron Maiden, Def Leppard, Scorpions และ Warlock ก่อตั้งทีมฟุตบอลที่ชื่อว่า Maiden FC ขึ้นมา เพื่อลงเล่นในเกมการกุศล ซึ่งตัวของ แฮร์ริส ก็ลงสนามแข่งขันด้วยตัวเองอยู่บ่อยๆ

ทุกครั้งที่ใครสักคนถามแฮร์ริสเกี่ยวกับเรื่องฟุตบอลและเวสต์แฮม แววตาของเขายังคงเหมือนกับเป็นเด็กน้อยที่เป็นแฟนเดนตายของทีมเสมอ เขาเล่าเรื่องฟุตบอลและความคลั่งไคล้ในสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ได้เป็นวันๆแบบไม่มีเบื่อ และเขายังหาเวลาเข้าไปเชียร์เกมในสนามเป็นประจำ หากไม่มีโปรแกรมสำคัญด้านดนตรี แฟนของ เวสต์แฮม ต่างรู้กันดีว่าพวกเขาสามารถพบ สตีฟ แฮร์ริส ได้เสมอ ที่อัพทัน พาร์ค ในอดีต และ ลอนดอน สเตเดียม ในปัจจุบัน 

“ผมเชียร์ทีมบ่อยมากๆ แต่ไม่ค่อยยืนตะโกนโหวกเหวกเป็นจุดเด่นเท่าไรเพราะผมเป็นคนขี้เกียจ ชอบที่จะนั่งเชียร์มากกว่า ยกเว้นวันไหนบอลมันจะสนุกจริงๆ ยกเว้นเกมกับ อาร์เซน่อล ในปี 1991 เกมนั้นผมยืนเชียร์ทั้งเกม แม่งโคตรจะมัน ก็เราชนะนี่นะ ชนะอาร์เซน่อลเลยนะเฮ้ย!” 

6

“การเป็นแฟนบอลของ เวสต์แฮม ทำให้ผมเห็นอะไรต่างๆมากมาย และได้พบประสบการณ์ที่ไม่เคยเจอ อย่างเกมที่เราชนะ ซันเดอร์แลนด์ 8-0 ซึ่งผมจำไม่ได้แล้วนะว่าปีไหน (ปี 1968) แต่ตอนนั้น เจฟฟ์ เฮิร์สต์ แม่งยิงไป 6 ประตู ตอนนั้นนี่คือมันเหลือเชื่อมากเลยนะ ฟอร์มการเล่นของทีมพัดพาหัวใจและความรู้สึกของผมให้เป็นหนึ่งเดียวพวกเขา (นักเตะที่ลงสนาม) วันนั้นคือวันที่สมบูรณ์แบบที่สุดในชีวิตแฟนบอลเวสต์แฮมของ สตีฟ แฮร์ริส โดยแท้จริง”

“ผมพูดไม่อายเลยนะ วันนั้นผมเสียน้ำตาเพราะความสุขด้วยล่ะ” แฮร์ริส กล่าว 

การเป็นทั้งตำนานมือเบสของโคตรวงดนตรีเฮฟวี่เมทัลของโลก รวมถึงจิตวิญญาณการเป็นแฟนบอลของสโมสรเวสต์แฮมที่ยังรุนแรงไม่เปลี่ยนแปลง คือสาเหตุที่ สตีฟ แฮร์ริส กลายเป็นเซเลบฯที่แฟนๆขุนค้อนรักและชื่นชอบมากที่สุด ขณะที่สโมสรก็ให้เกียรติเขาในฐานะแฟนกิตติมศักดิ์ ให้เขาได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่สโมสรจัดขึ้นเสมอ ไม่ว่างานอะไร สตีฟ แฮร์ริส ไม่เคยปฏิเสธ ขอแค่เขาได้สวมชุดแข่งของ เวสต์แฮม แม้ว่าจะเป็นในฐานะแฟนบอลก็ตาม นั่นคือความสุขของเขาที่กาลเวลาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ 

ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าการเป็นหนึ่งเดียวกับทีมของ แฮร์ริส คือกุญแจสำคัญที่ที่ทำให้สโมสรเวสต์แฮมตัดสินใจจับมือกับวง Iron Maiden เพื่อทำเสื้อแข่งขันของฤดูกาลปี 2019 ที่เอาโลโก้ของ Iron Maiden ไปปรากฏบนเสื้อแข่งและโลโก้ของสโมสร ซึ่งชุดเหย้าชุดนั้น แฮร์ริส ได้ถ่ายโปรโมตร่วมกับ ปาโบล ซาบาเลตา นักเตะของทีมด้วย โดยผลตอบรับนั้นดีมากเพราะทีมทำออกมาขายแค่ 1 พันตัว ก่อนจะขายหมดเกลี้ยงภายในวันเดียวเท่านั้น ถึงขนาดที่ว่ามีแฟนบอลเรียกร้องให้ผลิตซ้ำเป็นประจำ 

7

โปรเจกต์ที่สำเร็จนี้ ทำให้ล่าสุดที่มีการเอาโลโก้ของ Iron Maiden ไปใส่บนชุดเยือน ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังจับมือออกคอลเลคชั่นเสื้อผ้าร่วมกันระหว่างวงกับทีมไปด้วยเลย และมันก็เหมือนเดิมที่แฟนบอลหลายคนเฝ้ารอและรีบจับจองกันอย่างรวดเร็ว พวกเขารักในสโมสร และแน่นอนพวกเขารัก สตีฟ แฮร์ริส ชายที่แฟนเวสต์แฮมไม่ได้มองว่าเป็นนักดนตรี แต่เป็นเหมือนกับ “พวกพ้อง” โดยแท้จริง 

“มันเหลือเชื่อมากๆที่ได้เห็นจำนวนของแฟน Iron Maiden และทีมเวสต์แฮมเลือกซื้อชุดทีมเยือนของทีมไปใช้ ผมภูมิใจมากเลยที่นำโลโก้ของเราไปวางบนชุดแข่งของทีมในปีที่เรามีผลงานดีมากๆ ใครจะไปรู้ โลโก้นี้อาจจะเป็นโลโก้นำโชคที่ทำให้เราผ่านไปเล่นใน ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก ก็ได้นะ” แฮร์ริส กล่าวทิ้งท้าย

ความรักและความชอบคือสิ่งที่ไม่สามารถใช้จำนวนมาจำกัดได้ เราสามารถทำหน้าที่เป็น “แฟน” ของหลายสิ่งได้พร้อมกันๆเสมอ ตราบใดที่ทำแล้วมีความสุขและทำออกมาด้วยความรักที่แท้จริง สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อถึงกันและกันได้ เหมือนกับที่ สตีฟ แฮร์ริส เป็น

แม้จะเลือกดนตรีและเป็นสมาชิกวงระดับโลก แต่ เวสต์แฮม ยังคงเป็นอีกด้านของชีวิต ที่ทำให้เขากลายเป็นคนสำคัญไม่ว่าจะอยู่ในวงการไหนๆก็ตาม

8

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ