สงครามยูเครน จีนจี้ประเทศบางกลุ่มหยุดสาดน้ำมันเข้ากองเพลิง
สงครามยูเครน – วันที่ 21 ก.พ. รอยเตอร์รายงานว่า ทางการจีนเรียกร้องให้กลุ่มประเทศบางกลุ่มหยุดโหมไฟการสู้รบในประเทศยูเครน พร้อมแสดงความกังวลว่าการสู้รบอาจลุกลามบานปลายจนเกินกว่าการควบคุม ส่วนผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจีนน่าจะหมายถึงสหรัฐอเมริกา
นายฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของจีน กล่าวว่า จีนมีความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อการสู้รบในยูเครนที่อาจลุกลามแผ่ขยายมากขึ้นหรืออาจถึงขั้นเกินการควบคุม
“เราขอเรียกร้องให้ชาติบางชาติยุติการสาดน้ำมันเข้ากองเพลิง และขอให้หยุดวลีที่ว่าวันนี้ยูเครน พรุ่งนี้ไต้หวันด้วย” และว่า “จีนขอยืนหยัดต่อต้านการใช้อำนาจเข้าครอบงำและความพยายามแทรกแซงกิจการภายในทั้งปวง” นายฉิน ระบุ
ความเคลื่อนไหวของนายฉินเกิดขึ้นในช่วงที่นายหวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศ ตำแหน่งสูงสุดด้านนักการทูตของจีน มีกำหนดจะเดินทางไปกรุงมอสโกเพื่อหารือกับทางการรัสเซีย ก่อนที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน จะมีสุนทรพจน์สันติภาพในวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี สงครามรัสเซียรุกรานยูเครน
วันเดียวกัน ทางการจีนยังเผยแพร่เอกสาร “ข้อริเริ่มความมั่นคงโลก” (Global Security Initiative – GSI) ตามดำริของประธานาธิบดีสี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย โดยมีเนื้อหาสนับสนุนหลักการการรักษาความมั่นคงแบบห้ามแบ่งแยก (indivisible security) ของรัสเซีย
หลักการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทางการรัสเซียเคยเรียกร้องให้ชาติตะวันตกยึดถือปฏิบัติตามข้อตกลงเมื่อปี 2542 ที่ว่าห้ามไม่ให้ชาติใดทำลายความมั่นคงของชาติอื่นเพื่อรักษาความมั่นคงของตัวเอง
สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของนายหวังที่ประเทศฮังการีวานนี้ (20 ก.พ.) เรียกร้องให้มีการตั้งเวทีเจรจาเพื่อหาข้อยุติสงครามที่กำลังเกิดขึ้น วันเดียวกันกับที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา เดินทางเยือนกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน และประกาศมอบความช่วยเหลือเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ทางการจีนพยายามหลีกเลี่ยงการประณามรัสเซียในทุกรูปแบบในประเด็นการสู้รบที่เกิดขึ้นในยูเครน โดยไม่ยอมเรียกว่าเป็นสงครามรัสเซียรุกรานยูเครน แต่มองไปในรูปแบบเดียวกันกับรัสเซียที่อ้างว่าเป็นเพียงปฏิบัติการพิเศษทางทหารที่มีขึ้นเพื่อปกป้องความมั่นคงของรัสเซีย
การรุกรานยูเครนของรัสเซียส่งผลให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และการเผชิญหน้ากันระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาเมื่อปี 2505