สกู๊ปเลือกตั้ง66 : ‘กาบัตร’อย่าให้เสีย ย้ำกฎกติกาเลือกตั้ง66

Home » สกู๊ปเลือกตั้ง66 : ‘กาบัตร’อย่าให้เสีย ย้ำกฎกติกาเลือกตั้ง66


สกู๊ปเลือกตั้ง66 : ‘กาบัตร’อย่าให้เสีย ย้ำกฎกติกาเลือกตั้ง66

เป็นอีกวันที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรไทย (ส.ส.) เป็นการทั่วไป ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566

เพราะนอกจากจะเป็นการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกรัฐบาลแล้ว ยังเป็นตัวกำหนดชะตาอนาคตประเทศ ที่ติดหล่มความขัดแย้งทางการเมืองมานานเกือบ 20 ปี

นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 จนมาถึงการรัฐประหาร 2557 และการสืบต่ออำนาจจนถึงปัจจุบัน

ยิ่งเป็นยุคที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา หรือส.ว. จากการแต่งตั้งจำนวน 250 คน มีอำนาจในการร่วมโหวตเลือกตัวนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นครั้งสุดท้ายที่ส.ว.ยังมีอำนาจนี้อยู่ ก่อนจะหมดวาระ 5 ปีตามบทเฉพาะกาล ในปี 2567

ทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีค่า และไม่ควรถูกลิดรอนบิดเบือนไม่ว่าด้วยวิธีการใด

ดังจะเห็นได้จากปฏิกิริยาของประชาชนในสังคมต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันลงคะแนนการเลือกตั้งล่วงหน้า ว่าสังคมโกรธเกรี้ยวขนาดไหน กับความผิดพลาดบกพร่องของ กกต. ที่นำไปสู่ข้อสงสัยหวาดระแวงว่าคะแนนเสียงของตนเองที่กาลงไปในบัตรนั้น จะไม่ถูกบิดเบือน หรือถูกทำให้ “ตกน้ำ” ไปในที่สุด

จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนจำเป็นต้องรับทราบข้อปฏิบัติในการเลือกตั้ง ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

เพื่อไม่ให้เป็นเหตุให้เกิดข้อผิดพลาดทำให้คะแนนเสียไป หรืออาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้!!!

เตรียมตัวก่อนเข้าคูหา

ทั้งนี้หากดูข้อมูลจาก กกต. ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องของการเตรียมตัวศึกษาข้อมูลก่อนไปเลือกตั้ง ประกอบด้วย

1.ตรวจสอบรายชื่อตัวเองว่ามีสิทธิ์เลือกตั้งหน่วยใด ลำดับที่เท่าไหร่

2.เตรียมหลักฐานที่ใช้ในการเลือกตั้ง เป็นบัตรประชาชน (ที่หมดอายุแล้วก็ได้) หรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการ หรือหน่วยงานของรัฐออกให้ ที่มีรูปถ่ายและมีเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดผ่านแอพพลิเคชั่นของหน่วยงานรัฐ

3.ศึกษาวิธีการเลือกตั้ง โดยในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยบัตรเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต เป็น “สีม่วง” และบัตรเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็น “สีเขียว”

ข้อควรระวังอย่างยิ่งก็คือการใช้ “บัตรโหล” ของ กกต. ในส่วนของบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต (สีม่วง) ที่จะมีแต่เฉพาะหมายเลขผู้สมัครเท่านั้น ไม่มีชื่อผู้สมัคร ไม่มีชื่อหรือโลโก้พรรค จึงเป็น เรื่องที่ผู้มาใช้สิทธิ์จะต้องจดจำหมายเลขผู้สมัครในเขตที่ตัวเองต้องการเลือกให้ได้อย่างแม่นยำ

ขณะที่บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (สีเขียว) จะมีโลโก้พรรคปรากฏอยู่

การลงคะแนน-ข้อห้าม

สำหรับขั้นตอนการลงคะแนนนั้น ตามกฎหมายกำหนดให้ลงคะแนนได้ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยก่อนเปิดการลงคะแนน คณะกรรมการประจำหน่วย (กปน.) จะต้องแสดง “หีบบัตรเลือกตั้ง” ว่าเป็นหีบเปล่า ไม่มีบัตรอื่นใดซุกซ่อนไว้

เมื่อเข้าไปใช้สิทธิ์ ให้แสดง “บัตรประชาชน” หรือ “เอกสารที่กำหนด” ให้กับ กปน. ตรวจสอบว่าเลขบัตรประชาชนตรงกับผู้มาใช้สิทธิ์ แล้วลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วมือที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ ก่อนรับบัตรเลือกตั้งมาลงคะแนน

การลงคะแนนจะต้องทำเครื่องหมาย “กากบาท” ลงในช่องสี่เหลี่ยมที่ให้ทำเครื่องหมาย 1 บัตรกาได้ 1 หมายเลขเท่านั้น ทั้งบัตรแบบบัญชีรายชื่อและแบ่งเขต

หากไม่ประสงค์จะลงคะแนน ให้กากบาทในช่อง ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด หรือไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด

ทั้งนี้การใช้ปากกาจะใช้สีใดก็ได้ แต่เครื่องหมายต้องเป็นกากบาทเท่านั้น หากทำเครื่องหมายอื่น หรือกากบาทมากกว่า 1 ช่อง จะกลายเป็นบัตรเสียทันที

จากนั้นผู้ลงคะแนนต้องพับบัตรเลือกตั้ง แล้วหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทด้วยตัวเอง

“ข้อห้ามสำคัญ” คือ ห้ามถ่ายภาพบัตรที่ลงคะแนนแล้ว ให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนน ห้ามนำบัตรออกจากหน่วยเลือกตั้ง และห้ามแสดงบัตรให้ผู้อื่นเห็นว่าลงคะแนนให้กับผู้ใด และห้ามทำลายบัตรเลือกตั้ง

ห้ามซื้อเสียง-ขนคน

กฎหมายยังกำหนดอีกว่า ตั้งแต่เวลา 18.00 น.ก่อนวันเลือกตั้ง ห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยง เครื่องดื่มสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง

ห้ามเล่นการพนันหรือลงขันใดๆ เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง ห้ามซื้อเสียง หรือจัดเตรียมซื้อเสียง ห้ามรับเงินและประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนน หรืองดเว้นไม่ลงคะแนน

ห้ามนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิ์ของลูกจ้าง ห้ามขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยว มิให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง

ห้ามจัดยานพาหนะ (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้งโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสาร และห้ามเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (โพล) ในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง จนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง

ขั้นตอนการนับคะแนน

นอกจากนี้ในช่วงจังหวะเวลาสำคัญก็คือ “การนับคะแนน” โดยที่เลือกตั้งปกติใช้สิทธิ์ในวันที่ 14 พ.ค. ให้นับคะแนนหลังปิดหีบทันที

เช่นเดียวกับที่เลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง และที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ที่ลงคะแนนล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ให้นับคะแนนหลัง 17.00 น. วันที่ 14 พ.ค. ที่คณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้ง

ส่วนที่เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง ลงคะแนนล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค. และลงคะแนนล่วงหน้านอกราชอาณาจักร ให้นับคะแนนในวันเดียวกับหน่วยเลือกตั้งปกติ หลังเวลา 17.00 น. วันที่ 14 พ.ค. ที่คณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้ง

พร้อมรายงานผลการนับคะแนน มีรายละเอียดประกอบด้วย จำนวนบัตรที่รับมานับคะแนน คะแนนของผู้สมัครแต่ละคน คะแนนของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับ จำนวนบัตรดี บัตรเสีย บัตรของผู้ไม่ลงคะแนนเลือกผู้สมัครและพรรคการเมือง

คาดรู้ผลไม่เกิน 5 ทุ่ม

จากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต จะนำผลคะแนนมารวมกันที่ศูนย์อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งนั้นๆ แล้วประกาศผลนับคะแนนเรียงตามลำดับผู้ได้คะแนนสูงสุดทันที ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด และสูงกว่าบัตรไม่ลงคะแนน จะได้เป็นส.ส.ในเขตนั้น

ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อ จะนำคะแนนจากที่นับทุกหน่วยมารวมกัน ที่ศูนย์อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งนั้นๆ ก่อนประกาศผลการนับคะแนนเรียงลำดับหมายเลขบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง แล้วส่งให้สำนักงานกกต. รวมคะแนนทั้ง 400 เขต เพื่อคำนวณสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งต่อไป

ทั้งนี้ กกต.ยืนยันว่าคะแนนแรกจะประกาศได้ตั้งแต่เวลา 18.30 น. ของวันที่ 14 พ.ค. และทำต่อเนื่องจนแล้วเสร็จโดยเร็ว คาดว่าคะแนนสุดท้ายจะทราบได้ภายในเวลาไม่เกิน 23.00 น.

และเพื่อความโปร่งใส จะประกาศผลนับคะแนนบริเวณหน้าที่เลือกตั้ง หน้าที่นับคะแนนทุกแห่ง เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกกต.ประจำจังหวัด และกทม.ทุกหน่วยเลือกตั้ง ภายใน 5 วันนับจากวันเลือกตั้ง

โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตรวจสอบและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็วแต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

ทุกเสียงต้องไม่บิดเบือน

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ประชาชนทุกคนสามารถเป็นอาสาสมัครเพื่อสังเกตการณ์และตรวจสอบการนับคะแนนได้ โดยสามารถบันทึกภาพการนับคะแนน และบรรยากาศการลงคะแนนได้

รวมทั้งสามารถทักท้วงการนับคะแนนได้ทันที หากเห็นการขานคะแนนที่ผิดไปจากการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง หรือการขีดคะแนนบนกระดาน

เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้โปร่งใสและตรงกับเจตนารมณ์ของประชาชน

ทุกคะแนนเสียงต้องไม่ถูกบิดเบือน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ