ศูนย์พิษรามาฯ เผย สารแคดเมียม น่าห่วงเรื่องพิษสะสมในระยะยาว ญี่ปุ่นเรียกโรคอิไตอิไต

Home » ศูนย์พิษรามาฯ เผย สารแคดเมียม น่าห่วงเรื่องพิษสะสมในระยะยาว ญี่ปุ่นเรียกโรคอิไตอิไต
ศูนย์พิษรามาฯ เผย สารแคดเมียม น่าห่วงเรื่องพิษสะสมในระยะยาว ญี่ปุ่นเรียกโรคอิไตอิไต

ศูนย์พิษรามาฯ เผย ผลกระทบจากสารแคดเมียม ตรวจไม่ง่าย ที่น่าห่วงคือเรื่องพิษสะสมในระยะยาว ญี่ปุ่นเรียกโรคอิไตอิไต  

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สมุทรสาคร กล่าวถึงการตรวจสอบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร หลังพบว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีการเก็บกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียมไว้กว่า 1.5 หมื่นตัน ว่า ตั้งเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางสสจ.ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรสาครเข้าไปตรวจสุขภาพแรงงานในบริษัทดังกล่าว 11 คน เบื้องต้นยังไม่พบอาการผิดปกติ จากพิษโลหะหนัก ส่วนผลการตรวจการปนเปื้อนในปัสสาวะ ต้องรอผล 3-5 วัน  จึงจะทราบว่า มีผลกระทบอะไรหรือไม่

“ส่วนวันนี้ (5 เม.ย.) อยู่ระหว่างการตรวจสุขภาพแรงงานที่เหลืออีกประมาณ 8 คน อยู่ระหว่างประสานงาน และมีการสื่อสารให้ประชาชนทราบ เข้าใจเพื่อคลายความกังวล หากประชาชนบริเวณโดยรอบมีความกังวล และไม่แน่ใจก็สามารถมาขอรับการตรวจร่างกายได้” นพ.สุรวิทย์ กล่าว

นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับอาการหากได้รับสารโลหะหนักเหล่านี้ กรณีได้รับพิษเฉียบพลัน หากได้รับ ในปริมาณมากๆ ในเวลาอันสั้น ก็อาจจะมีอาการจากพิษโลหะหนัก แน่นหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หากได้รับมากๆ บางรายอาจจะมีอาการทางสมอง กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ บางรายเนื่องด้วยสารตัวนี้จะเป็นพิษต่อไป ก็จะทำให้การทำงานของไตบกพร่องตามมาได้

เมื่อถามถึงการทำให้เกิดโรคอิไตอิไต นพ.สุรวิทย์กล่าวว่า โรคอิไตอิไต ก็เป็นโรคจากแคดเมียม แต่พบที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงหลาย 10 ปี ก่อนหน้านี้ ภายหลังได้รับพิษจากแคดเมียมเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้เกิดภาวะร่างกาย โครงกระดูกผิดรูป กระดูกสันหลังผิดรูป โรคนี้ทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน จนคนป่วยร้องว่า อิไตอิไต แปลว่าเจ็บ จึงเรียกชื่อโรคนี้ว่า itai-itai disease หญิงตั้งครรภ์ เด็กทารก ทารก ถือว่ามีความเสี่ยง แต่ไม่อยากให้กังวล เพราะสารดังกล่าวปัจจุบันอยู่ในขอบเขตจำกัด อยู่ในถุง ไม่ได้มีการแปรรูป และเท่าที่ทราบจากกรมควบคุมมลพิษมีการเก็บดิน ฝุ่นในโรงงาน และนอกโรงงาน ซึ่งเห็นว่า พบเฉพาะในพื้นที่ภายในโรงงาน ส่วนนอกโรงงานยังไม่พบสารนี้

ยังไม่พบคนไทยป่วยด้วยโรคจากพิษแคดเมียมตรงๆ

วันเดียวกัน ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า การวินิจฉัยว่าป่วยจากแคดเมียมหรือไม่นั้น ทำไม่ได้ง่าย แต่ขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยจากแคดเมียม อย่างในพื้นที่ที่มีโรงงาน มีเหมืองแร่ที่สกัดสังกะสี และเคยมีปัญหาแคดเมียมปนเปื้อนในดิน น้ำ ก็มีการสำรวจประชาชนในพื้นที่จังหวัดตาก พบการทำงานของร่างกายผิดปกติ ที่เกิดจากแคดเมียมบ้าง แต่โรคที่เป็นพิษจากแคดเมียมชัดๆ เลยนั้นไม่มี

ข้อสังเกตอาการผิดปกติเฉียบพลันจากแคดเมียม

ศ.นพ.วินัย กล่าวต่อว่า อาการผิดปกติแบบเฉียบพลันที่เกิดจากแคดเมียม ส่วนใหญ่เป็นการสัมผัสไอแคดเมียม คือต้องมีการเผาไหม้ ต้องมีการถลุงจนทำให้กลายเป็นไอ หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ โอกาสที่จะรับประทานเข้าไปไม่เคยเห็นเลย จริงๆ สิ่งที่เรากังวลมากกว่า ไม่ใช่ภาวะเฉียบพลัน แต่เป็นภาวะที่เกิดจากการรับ หรือสัมผัสในปริมาณไม่สูงมากนัก แต่ถ้ารับเรื้อรังไปนานๆ หลายปี จะมีปัญหากับการทำงานของไตผิดปกติ ทำให้ไตสูญเสียการสร้างวิตามินดี คนไข้จะมีปัญหากระดูกที่เกิดจากการขาดวิตามินดี โรคนี้ประเทศญี่ปุ่นเรื่องว่าโรค “อิไตอิไต” แปลว่าเจ็บ เพราะจะทำให้เจ็บจากการที่กระดูกของเขาไม่แข็งแรง ส่วนประเทศไทยยังไม่เคยเจอโรคนี้

“ที่ผมบอกว่า เจอผิดปกติบ้าง จากการสำรวจในไทย ซึ่งหลายปีแล้ว มีการศึกษาโดยการตรวจปัสสาวะประชนในพื้นที่ตรงนั้น เพื่อจะบ่งบอกว่ามีความผิดปกติของไตหรือไม่ แต่ที่เป็นโรคชัดๆ นั้นไม่มี หรือมีน้อยมาก แต่ไม่ถึงกับเป็นปัญหาใหญ่”  ศ.นพ.วินัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่การทำเหมืองแร่ แล้วพบแคดเมียมในประชาชน หรือพบในพื้นที่ ก็อาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เกิดจากการรั่วไหลจากการถลุงหรือไม่ หรือที่จริงๆ แล้ว เปลือกโลกตรงนั้น มีแร่สังกะสี แร่แคดเมียมอยู่ ยังเป็นข้อสรุปที่ไม่ชัดเจน แต่ส่วนที่จะก่อปัญหาจริงๆ ตนมองว่า น่าจะแคดเมียมจากโรงงานที่เกิดจากการถลุงแร่แล้วเกิดการฟุ้งกระจายถึงจะก่ออันตรายต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน หากไม่มีการถลุงก็ไม่เกิด หรือไม่ได้ทำให้เกิดละอองเล็กมาก ถึงจะเข้าไปในปอดคนได้ ปัญหาคงอยู่ที่ว่า จะจัดเก็บอย่างไรไม่ให้กระจายสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่า

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ