ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ ย้ำไม่มีการเรียกรับเงินทุกกรณี พร้อมร่วมมือ 4 ค่ายมือถือ แก้ไขปัญหาการทุจริตการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูลส่วนกลาง สกัดมิจฉาชีพไม่ให้หลอกลวงประชาชนได้
วันนี้ (1 ส.ค.) แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง และผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เปิดเผยว่า ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม โดยให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยมีสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานให้บริการฉีดวัคซีนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มีจำนวนผู้รับบริการ 10,000-30,000 คนต่อวัน ที่ผ่านมามีการดำเนินการใน 2 รูปแบบหลักในสองระยะ คือ
1. การจองคิวล่วงหน้า (Advance Booking) โดยเปิดให้ลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้าผ่าน 4 ค่ายมือถือ และการนัดล่วงหน้าขององค์กรขนาดใหญ่ อาทิ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เป็นหลัก ซึ่งเป็นรูปแบบหลักของการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 24 พฤกษภาคม ถึง 29 มิถุนายน 2564 โดยการจองคิวล่วงหน้าดังกล่าว ทางศูนย์ฯ จะได้รับข้อมูลของผู้มารับบริการและจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อรับการลงทะเบียนล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว ทำให้ในวันที่ผู้จองคิวมารับบริการจริงจะไม่ต้องเพิ่มข้อมูลหน้างาน เพียงแต่บริการลงทะเบียนเข้ารับบริการจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น หากข้อมูลเดิมผิดพลาด เช่น เลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ หรือเบอร์โทรไม่ถูกต้อง จึงจะมีการแก้ไข/เพิ่มเติม ซึ่งในแต่ละวันจะเกิดขึ้นไม่มากนัก โดยจะให้สิทธิในการแก้ไขข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ IT ของกรมการแพทย์ และสถาบันโรคผิวหนังในการดำเนินการแก้ไข/เพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าวประมาณ 10 ท่านเท่านั้น
2. การเปิดบริการแบบ walk-in หรือ on site registration ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่เปิดให้ผู้สูงอายุ 75 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับบริการโดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า และต่อเนื่องมาจนถึงเดือนกรกฎาคมทั้งเดือนที่เปิดให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม และคนท้อง 12 สัปดาห์ขึ้นไป สามารถเข้ารับบริการแบบ walk-in ด้วยเช่นกัน โดยในช่วงนี้ ทางศูนย์ฯ จะไม่มีข้อมูลเดิมของผู้รับบริการเลย ต้องลงทะเบียนหน้างานใหม่ทั้งหมด ทำให้จำเป็นต้องเปิดสิทธิให้จิตอาสาที่มาทำหน้าที่ในส่วนการลงทะเบียนที่มีอยู่มากกว่า 200 จุดสามารถเพิ่ม/แก้ไขข้อมูลของผู้รับบริการได้ทั้งหมด โดยมีจิตอาสาหมุนเวียนและได้รับสิทธิในการดำเนินการดังกล่าวเป็นจำนวนมากจนเกิดช่องทางให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ฯ ได้มีการเฝ้าระวังตลอดจนเก็บข้อมูลเชิงสถิติทั้งสำหรับการทำงานที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานในแต่ละวัน ตลอดจนตรวจสอบภาระงานที่ต้องทำในอนาคตอยู่เสมอ จึงทำให้ตรวจพบความผิดปกติในการนัดหมายล่วงหน้าที่คาดว่าอาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้น โดยได้ตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ที่พบพิรุธหลักๆ 2 ประการคือ ประการแรก พบว่ามีจำนวนการนัดล่วงหน้าสูงกว่าปกติที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้นำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล โดยเริ่มพบตัวเลขผิดปกติในหลักสิบในช่วงวันที่ 20-27 กรกฎาคม และเพิ่มจำนวนนัดมากกว่าปกติเป็นหลักพันในวันที่ 28-31 กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเปิดรับการบริการแบบ walk-in
ส่วนประการที่ 2 เป็นความผิดปกติของช่วงเวลาในการ upload ข้อมูลการนัดล่วงหน้าเข้าสู่ระบบ โดยพบว่า ในช่วงสัปดาห์ดังกล่าวซึ่งทางศูนย์ฯ ได้งดรับการนัดล่วงหน้าจากองค์กรภายนอกเกือบทั้งหมด (ยกเว้นบางหน่วยงาน เช่น การนัดของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งได้ส่งนัดหมายการฉีดวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุต่างชาติวันละประมาณ 400 คนเท่านั้น) และเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในเวลา 18.00 น. ของแต่ละวันแล้ว แต่พบว่ายังมีการ Upload ส่งข้อมูลนัดหมายล่วงหน้าอีกในเวลาหลัง 22.00 น. ของทุกวันอยู่อีก ประกอบกับทางศูนย์ฯ ได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีการซื้อขายเพื่อรับคิวการฉีดวัคซีนจากประชาชนเป็นจำนวนมากพอสมควร จึงได้ทำการตรวจสอบและพบว่า มีการเพิ่มจำนวนนัดล่วงหน้าโดยทุจริตจาก Users 19 login ซึ่งอยู่ในกลุ่มจิตอาสาที่ได้รับการเพิ่มสิทธิในการนำเข้า/แก้ไขข้อมูลผู้รับบริการในช่วงเปิดบริการแบบ walk-in
ทางศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ จึงได้วางแผนจับกุมเพื่อสืบให้ได้ถึงผู้กระทำผิดรายใหญ่/ทั้งหมดนี้ โดยดำเนินการในวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่มีคิวนัดล่วงหน้าเพิ่มมากกว่าปกติกว่า 2,000 คน ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินกลยุทธ์ขุดบ่อล่อปลาให้ผู้ที่ซื้อคิวโดยทุจริตเหล่านี้เดินทางมารับบริการที่ศูนย์ฯ เมื่อตรวจเช็คแล้วว่าเริ่มมีการลงทะเบียนไปประมาณ 600 คน จากจำนวน 2,000 กว่าคนนั้น ทางศูนย์ฯ จึงแจ้งยกเลิกคิวการฉีดของทั้งสองพันกว่าคนนั้นทั้งหมด เพื่อบีบให้คนเหล่านี้แสดงตัวขอความช่วยเหลือ/ร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ โดยได้จัดสถานที่ไว้เป็นการเฉพาะ พร้อมทั้งให้ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้เข้าไปชี้แจง/ขอความร่วมมือเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลของตัวการผู้ที่อยู่เบื้องหลังการทุจริตในครั้งนี้ โดยสามารถรวบรวมผู้ทำนัดโดยทุจริตนี้ได้มากกว่า 300 คนซึ่งได้ให้การเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีต่อไปอย่างยิ่ง
โดยข้อมูลจากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า การซื้อคิวนัดดังกล่าว มีทั้งซื้อเอง ญาติหรือนายจ้างซื้อให้ และมีการจ่ายเงินทั้งแบบเงินสดและการโอนเงินในอัตรา 400-1,200 บาทต่อคิว ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์ฯ ได้รับข้อมูลรายชื่อและเลขที่บัญชีธนาคารที่ใช้รับโอนของกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวแล้ว จึงได้ให้นิติกร กรมการแพทย์ เป็นผู้แทนในการดำเนินการแจ้งความต่อตำรวจ สน.นพวงศ์ ในฐานะผู้เสียหายต่อไปแล้ว
ในขณะนี้ ทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตลอดจนจิตอาสาทั้ง 19 คนนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ขอความร่วมมือกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อสอบสวนหาหลักฐานเชิงลึกและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
เพื่อเป็นการแก้ไข/ป้องกันการเกิดทุจริตดังกล่าวในอนาคต ทางศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ
- ได้ยกเลิกนัดล่วงหน้าที่ผิดปกติซึ่งตรวจพบระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม ทั้งหมด
- ยกเลิก login-users เดิมทั้งหมดและให้สิทธิในการเพิ่มเติม/แก้ไขข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ IT ภายในของกรมการแพทย์และสถาบันโรคผิวหนังเท่านั้น
- ปิดระบบทำการทั้งหมดในช่วงกลางคืนเพื่อป้องกันการ VPN เข้ามาทำการนอกเวลางาน
- ตรวจสอบข้อมูลความผิดปกติของการนัดล่วงหน้าและการนำเข้าข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยในขณะนี้ได้ยกเลิกการนัดผิดปกติเพิ่มเติมถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2564 แล้ว
ทางกรมการแพทย์และศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ขอขอบคุณจิตอาสาตลอดจนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 4 แห่ง (Operator) ที่ให้การช่วยเหลือมาโดยตลอด และพร้อมร่วมมือกันต่อไป โดยขอย้ำกับประชาชนว่าการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ไม่มีการเรียกรับเงินทุกกรณี และหากจะมีเบาะแสการทุจริตใดๆ ก็ตาม โปรดแจ้งให้ทางศูนย์ฯ ทราบเพื่อที่จะได้ดำเนินการจับกุมและแก้ไขต่อไปดังเช่นกรณีนี้ จะเป็นพระคุณยิ่ง