“ศิริกัญญา” ชงแก้ระบบปรับค่าแรงขั้นต่ำ ให้ปรับเพิ่มทุกปี ไม่ต้องรอเลือกตั้ง เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก “สันติ” ชูยกระดับคนทำงาน อัพสกิล
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 มี.ค. 2566 ที่โรงแรม พูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) เครือมติชนจัดแคมเปญ “มติชน: เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย” เปิด 5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ 2 กลยุทธ์ ซึ่งวันนี้เป็นเวทีแรก ประชันนโยบาย “ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง” ที่มีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมืองร่วมขึ้นเวทีประชันนโยบาย
โดยในช่วงที่ 2 ดีเบต ชูจุดขาย ด้านเศรษฐกิจ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในหัวข้อ ค่าแรงขั้นต่ำที่จะทำให้มีชีวิตที่ดี ว่า พรคก้าวไกล มีแนวทางจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน แต่ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นทุกปี โดยพิจารณาจากเงินเฟ้อ หรืออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ว่าอันไหนจะขึ้นมากกว่ากัน เพราะแรงงานในระบบเบื่อเหลือเกินที่จะต้องรอให้ค่าแรงขั้นต่ำถูกกำหนดจากแต่ละพรรคการเมือง หรือรอให้มีการเลือกตั้งว่า ค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นเท่าไหร่
เราจึงต้องวางระบบให้ค่าแรงขั้นต่ำสามารถเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงวันที่จะต้องมีการประชุมไตรภาคี ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ มีข้อเสนอวางบนโต๊ะทันที ว่าปีนี้ค่าแรงขั้นต่ำควรจะเป็นเท่าไหร่ เพื่อยุติการนำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมาใช้เป็นนโยบายหาเสียง เพิ่มอำนาจต่อรองให้แรงงานทุกคน นอกจากนี้ ต้องกำหนดให้แรงงานเรียนรู้เพิ่มทักษะ หรือปรับเปลี่ยนอาชีพได้ พรรคก้าวไกลจึงมีโปรแกรมฝึกอบรม ทั้งแบบออฟไลน์ และแบบออนไลน์ เพิ่มทักษะให้คนที่อยากจะเปลี่ยนอาชีพ และเป็นการเพิ่มค่าตอบแทนได้อย่างยั่งยืน
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกล มีนโยบายที่จะลดผลกระทบให้กับเอสเอ็มอีจากค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยการงดจ่ายประกันสังคม 6 เดือน และการนำค่าแรงมาลดหย่อนภาษีได้สองเท่า เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปพร้อมกันได้ และให้แรงงานมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างได้ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง โดยไม่ต้องมีใครเสียสละเพื่อให้ประเทศเติบโตได้
ด้านนายสันติ กีระนันทน์ กรรมการนโยบายและยุทธศาตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวในหัวข้อ แนวทางกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ หรือผลตอบแทนสำหรับคนทำงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร ว่า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำหรือค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของรัฐบาล ไม่ว่าจะรัฐบาลใดก็ตาม โดยกลไกคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ทั้งตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และภาครัฐ ที่ไม่มีส่วนได้เสีย ได้ไปกำกับเพื่อให้เกิดความยุติธรรม พิจารณาข้อมูลทั้งอุปสงค์และอุปทาน และภาวะเศรษฐกิจขณะนั้น
ผู้ใช้แรงงานต้องอยู่ได้แบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนตัวอยากพูดเรื่องค่าแรงเป้าหมายมากกว่า เพราะว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ได้อยากให้ผู้ใช้แรงงานได้ค่าแรงขั้นต่ำ แต่อยากให้ผู้ใช้แรงงานและคนทำงานได้ค่าแรงที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ ตอบสนองต่อเศรษฐกิจ และให้ผลผลิตต่อนายจ้างได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
นายสันติ กล่าวต่อว่า โจทย์เรื่องนี้จึงไม่ใช่การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ แต่จะอัพสกิลและรีสกิลคนในระบบเศรษฐกิจทั้งระบบอย่างไร ดังนั้น ภาครัฐอย่าทำเองทุกอย่าง เพราะการทำเองไม่มีทางสำเร็จ ภาครัฐต้องรับฟัง ทำจริงกับภาคเอกชน และภาคประชาชน เท่าที่ได้คุยกับสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าหลายรอบ เขาพูดกับตนอยู่ตลอดว่า ไม่ได้อยากจ่ายค่าแรงงานขั้นต่ำ ยินดีจ่ายค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ตราบเท่าที่แรงงานมีศักยภาพที่สูงขึ้น มีทักษะตอบสนองต่ออุตสาหกรรมมากขั้น
รัฐควรให้แรงจูงใจอย่างอื่นประกอบให้ภาคเอกชน เพื่อจะทำการรีสกิลและอัพสกิลแรงงานในระบบ และจิกซอว์สำคัญ คือ ภาคการศึกษาของประเทศไม่ได้ตอบสนองต่ออุตสาหกรรม ดังนั้น ต้องศึกษาว่าจะปรับการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อตอบสนองต่อการยกคุณภาพแรงงานอย่างไร พรรคชาติไทยพัฒนาเตรียมนโยบายไว้พร้อมแล้ว เพื่ออัพสกิลและรีสกิลงาน ยกระดับการศึกษา ทำให้กำหนดค่าแรงเป้าหมายที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ
“ไม่ได้เป็นนโนบายที่เพ้อฝัน ไม่ได้คิดเอาเอง การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ใครจะกำหนดเท่าไรก็ได้ แต่ประเด็นความเป็นจริงอยู่ที่ใดมากกว่า พรรคชาติไทยพัฒนาจึงไม่ได้เสนอตัวเลข แต่เสนอกลไกที่ทำงานได้จริงและมีประสิทธิ สร้างประสิทธิผล ที่ให้เกิดขึ้นในระบบ การกำหนดค่าแรงไม่ได้คิดเองเออเอง แต่เกิดจากการรับฟังประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เหมือนกับที่เราพูดตลอดว่า พรรคชาติไทยพัฒนา รับฟัง ทำจริง” นายสันติ กล่าว