ภายในอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น สถาปัตยกรรมแบบเมืองจีน อบอวลด้วยกลิ่นควันธูปและเต็มไปด้วยความศรัทธาจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสักการะเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตามความเชื่อเรื่องการขอพรให้ประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ
ตำนานของเจ้าแม่ฯนั้น ว่ากันว่ามีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาจะเป็นราชธานี และเป็นเรื่องราวความรักที่เศร้าสร้อยไปสักหน่อย เรื่องราวของพระนางสร้อยดอกหมาก ผู้เป็นพระราชธิดาแห่งเจ้ากรุงจีน ซึ่งพระราชทานแด่พระเจ้าสายน้ำผึ้ง พระกษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา เมื่อเดินทางล่องเรือกลับมาถึงอยุธยา พระเจ้าสายน้ำผึ้งรับสั่งให้พระนางรอบนเรือพระที่นั่ง แล้วจึงเสด็จเข้าสู่พระราชวังหลวงเพื่อให้จัดขบวนมาต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ครั้นเมื่อขบวนมารับพระนาง กลับไม่เห็นพระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จมารับด้วยพระองค์เอง พระนางน้อยพระทัยจึงรออยู่ที่เรือไม่ยอมขึ้นไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงสัพยอกว่า เมื่อมาถึงแล้วไม่ขึ้นก็จงอยู่ที่นั่นเสีย เป็นเช่นนี้อยู่สองหน จนพระนางฯเกิดความน้อยใจ และตรอมใจถึงแก่ทิวงคต
พระเจ้าสายน้ำผึ้งเศร้าสลดพระทัยยิ่งนัก จึงโปรดฯ ให้สร้างศาลขึ้นเพื่อรำลึกถึงอดีตว่าที่อัครมเหสีผู้จากไป อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของศาลเจ้าแห่งนี้ เป็นเครื่องยืนยันความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างไทย-จีนมาช้านานตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยา ด้วยละแวกนี้มีชุมชนชาวจีนตั้งรกรากอยู่หนาแน่นเรื่อยมาจนปัจจุบัน
สำหรับด้านความเชื่อ เริ่มแรกแรกเป็นเรื่องการขอพรด้านความรัก เนื่องจากเจ้าแม่สร้อยดอกหมากนั้น สื่อถึงความรักที่มั่นคง รักเดียวใจเดียว สถานที่แห่งนี้จึงเป็นที่นิยมสำหรับหนุ่มสาวที่ปรารถนาขอพรในด้านความรักที่มั่นคงนั่นเอง ก่อนที่ในยุคต่อมา จะตามาด้วยความเชื่อ และความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ผู้คนเดินทางมาขอพรในด้านอื่นๆด้วย ทั้งนี้ชั้นล่างของศาลเจ้าเป็นที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม ส่วนรูปปั้นแทนเจ้าแม่สร้อยดอกหมากประดิษฐานบนชั้นสอง
ศาลเจ้าฯ อยู่ภายในวัดพนัญเชิง ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา