คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง
อาการ เลือดไหล ภายใน “ประชาธิปัตย์” ต่อเนื่อง รุนแรงขึ้น
กรณีของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อาจมิใช่ภาวะ “เลือดไหล” ออกเป็นหยดหยาดสุดท้าย
ต้องยอมรับว่านับแต่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา ภาวะ “เลือด” ไหลออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง
เริ่มตั้งแต่กรณีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อาจมิได้เป็นการลาออกจากสมาชิกภาพ หากแต่เป็นการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและ ตามมาด้วยการลาออกจากสมาชิกภาพแห่ง ส.ส.
พลันที่มติพรรคขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
จากกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีผลทั้งบวกและลบ
ผลด้านบวกอาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วมรัฐบาลทำให้ หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และแกนนำพรรคได้เป็น “รัฐมนตรี” กระทรวงเป้าหมาย
สามารถยื่น “เงื่อนไข” ให้ยอมรับต่อ “นโยบาย”
กระนั้น ผลที่ตามมาก็คือ โดยพลานุภาพของรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ดูดดึงบุคลากรที่ดีเลิศจำนวนหนึ่งออกจากพรรคประชาธิปัตย์
กลายเป็นสถานการณ์ “เลือดไหล” อย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมหยุด
เริ่มจากการตัดสินใจของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ถึง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ตอนแรกไปอยู่พรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่ต่อมาก็แยกออกมา ตั้งพรรคไทยภักดีอยู่ในกองหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ยัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
จากนั้น นายกรณ์ จาติกวณิช ก็แยกตัวไปจัดตั้งพรรคกล้า จากนั้น ก็เกิดการคัดสรรไม่ลงตัวทำให้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ประกาศ “ไอ แชล รีเทิร์น” ออกจากพรรค
ขณะที่การดำรงอยู่ของเครือข่าย “อภิสิทธิ์” ก็ ไม่แน่ว่าจะมั่นคง
สถานการณ์การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 จึงก่อภาวะสั่นไหวอย่างต่อเนื่อง
อาจกระชับอำนาจและทำให้สถานะของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีความมั่นคง แต่กลุ่มอื่น สายอื่นก็ถูกตัดหนทางไปกลุ่มแล้ว กลุ่มเล่า
กลายเป็นเอกภาพใหม่ภายใต้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์